ตอนนี้วงการบันเทิงกำลังเดือดร้อน จากคดี “แชร์ลูกโซ่” มหากาพย์แห่งการโกง Forex 3D ที่มี นายอภิรักษ์ โกฎธิ เป็น CEO ซึ่งเวลานี้ “พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช” และ คนในครอบครัวต้องเป็นจำเลย ถูกจองจำอยู่ เนื่องจากยังไม่ได้ประกัน และต้องต่อสู้คดีกันต่อ 

ขณะที่ ดีเจแมน พัฒนพล และภรรยานักร้องสุดเซ็กซี่ ใบเตย สุธีวัน ถูกเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ร่วมกันกู้ยืมเงินเป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

ส่วนดาราหนุ่ม กระทิง ขุนณรงค์ และ บอล กัมมัญญ์ ก็ออกมายอมรับว่า เล่น Forex จริง แต่ไม่ได้ชวน

คำถามตัวโตๆ คือ เส้นแบ่งระหว่าง ผู้ต้องหา กับ เหยื่อ...อยู่ตรงไหน?

ในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า เส้นแบ่งของคนทำผิด กับคนที่ตกเป็นเหยื่อ คือ...เจตนา! ตามกฎหมาย อาญา มาตรา 59

**หมายเหตุ มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น**

...

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม อธิบายว่า เราใช้องค์ประกอบของสิ่งเหล่านี้ ต้องมาพิจารณาว่า “ใคร” มีการกระทำอันเป็นการ “ฉ้อโกงประชาชน” หรือไม่ โดยมาวัดกันที่เจตนา ซึ่งก็มีหลายแบบ อาทิ

  • หากรู้ว่า Forex 3d เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับชักชวนให้คนมาร่วมลงทุน ทั้งที่ตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีอยู่จริง แบบนี้ถือว่าเป็น “ความผิด” สำเร็จแล้ว เพราะมีการปกปิดข้อเท็จจริง หลอกลวงให้คนอื่นมาเทรด แบบนี้ความผิดชัดเจน ว่าต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดี
  • บางกรณี ตอนแรกอาจจะไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย แต่เมื่อมารู้ทีหลัง แต่กลับยังชักชวนคนอื่นอีก เพื่อนำผลประโยชน์มาเยียวยาให้กับตนเอง แบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย

“เส้นแบ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนจะสรุปคดีออกมาในแต่ละคน ก็จำเป็นต้องใช้พยาน หลักฐาน และข้อมูลการ “เกี่ยวข้อง” ในการกระทำความผิด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของข้อกล่าวหาในหลายระดับ คนที่โดนกลุ่มแรก คือ คนที่สร้างระบบ Forex 3d ขึ้นมา กลุ่มหัวๆ ที่ดำเนินการ กลุ่มที่สอง ก็มาดูความหนักเบาของคดี กันคนที่ไม่เกี่ยวข้องออก กลุ่มที่ 3 ต้องแยกแยะออกอีก ว่า “เกี่ยวข้อง” อย่างไร... เช่น ได้รับประโยชน์ หรือ ได้เงินจากผู้กระทำความผิด ก็จะเข้าข่ายเรื่องการ “ฟอกเงิน” เป็นต้น”

เมื่อถามว่า ข้อแก้ตัวว่าเป็นการ “เล่า” ให้ฟัง ถือว่าเข้าข่ายชักชวนไหม นายธนกฤต ถามกลับมาว่า “มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องไหม” เราต้องดูว่า “ใคร...ชักชวนแล้วเกิดความเสียหาย” ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องลงรายละเอียด

คืบหน้าคดี ดีเจแมน และใบเตย และรวม 16 คน อาจถูกฟ้องรวมกัน

สำหรับความคืบหน้าของคดี Forex ภาพรวมมีการส่งฟ้องไปแล้วประมาณ 25-26 คน เป็นผู้ต้องหาชุดแรก ส่วนอีก 16 กำลังเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาดำเนินคดี

กรณีใบเตย กับ ดีเจแมน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนยื่นหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งจะมายื่นภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ส่วนขั้นตอนของ DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ก็จะมีการประชุมหารือ เพื่อดูว่าจะมีการเรียกใคร...มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก ประมาณ 6 ราย สัปดาห์ต่อไปก็อีก 6 ราย หากรวบรวมพยานหลักฐานครบ ก็อาจจะส่งฟ้องในคราวเดียวกัน ทั้ง 16 ราย

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ถ้าใครพยานหลักฐานเพียงพอ เข้าข่ายก็จะมีคำสั่งส่งฟ้อง ถ้าไม่เพียงพอก็ไม่ส่งฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพนักงานอัยการจะมีความเห็นอย่างไร เพื่อเดินหน้าต่อ”

ตอนนี้มีการแยกสำนวนออกมา ชุดแรกก็ดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนชุดอื่นๆ ก็จะตามมา เวลานี้ ใครที่มีปัญหาก็สามารถมาร้องเรียนเพิ่มเติมได้ เพราะคดีนี้ถือเป็น “อาญาแผ่นดิน” มีอายุความ 15 ปี

เมื่อถามว่าจะมีการเรียกดาราเพิ่มเติมแค่ไหน... เลขาฯ รมว.ยุติธรรม แย้มว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คดีแชร์กับฟอกเงิน เวลาดำเนินคดี เราต้องแยกกลุ่มระหว่างผู้เสียหาย และกลุ่มผู้ดำเนินการที่เป็นแม่ข่าย ออกจากกันเสียก่อน

“หากไม่แยก คนจะเข้าใจผิดว่า คนที่เทรด Forex จะกลายเป็นผู้ต้องหาหมด ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น แต่อย่างที่ชี้แจง เรื่องการขุดว่าจะเจอตอ นั้น หมายความว่า บางคนก็เป็น “ผู้เสียหาย” หากไปกล่าวหาพาดพิงกันอาจจะมีปัญหาตามมา ส่วนใครที่เป็นผู้ต้องหาจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา สามารถทำได้ หากมีข้อมูลก็จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นส่งเจ้าหน้าที่”

...

ชี้แจงที่มาทรัพย์ จากผู้ต้องหาไม่ได้ ถือว่า เข้าข่าย!

เมื่อถามว่า เวลานี้มีการไล่อายัดทรัพย์สินไปมากน้อยขนาดไหน นายธนกฤต บอกว่า เท่าที่ทราบข้อมูล ทางดีเอสไอ อายัดไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท แต่ความเสียหายจากการประเมิน จากคนที่เข้าแจ้งความก็ประมาณ 2,000 กว่าล้าน ในส่วนนี้ทาง ปปง. ก็จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ

การชี้แจงทรัพย์สิน ได้หรือ ไม่ได้มีผลกับคดีแค่ไหน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม ย้ำหนักแน่นว่า หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากผู้ต้องหาในคดี โอนด้วยวัตถุประสงค์อะไร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญต้องชี้แจงให้ได้ ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ถือว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด

“เปรียบเสมือน “ผลไม้พิษ” มาจาก “ต้นไม้พิษ” ผลของมันย่อมเป็นพิษด้วย”

สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนสำหรับผู้ที่คิดจะลงทุน แนวนี้ คือ 1.ต้องตรวจสอบให้ครบทุกด้านก่อนลงทุน ว่าธุรกิจนี้มีจริงหรือไม่ 2.ถ้ามั่นใจ และอยากลงทุน ก็ควรลงทุนคนเดียว ไม่ควรชักชวนคนอื่นมาร่วม เพราะการชักชวนแล้ว อาจจะก่อความเสียหายได้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ถือเป็นบทเรียน เพราะสุดท้ายอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีได้

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ