ในห้วงฝนตกหนักเทกระหน่ำลงมามากกว่าปีที่แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ในที่ลุ่มจมบาดาล จนเกรงกันว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่? หากการบริหารจัดการไม่ดีมากพอ จะกลายเป็นความหายนะ อาจสร้างความเสียหายมากกว่าเหตุน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จีดีพีติดลบในไตรมาส 4 เนื่องจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคกลาง ทำให้โรงงานพันกว่าแห่งหยุดการผลิตเป็นเวลาหลายเดือน
งานวิจัยของกรีนพีซ ประเมินเบื้องต้นอีก 8 ปี กรุงเทพฯและปริมณฑล จะเผชิญสภาวะจมทะเล กระทบพื้นที่ 1,521 ตารางกิโลเมตร ขณะที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางเมตร ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18.6 ล้านล้านบาท เป็นคำเตือนบอกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเอาจริงเอาจังในการป้องกัน หากล่าช้าจะไม่ทันการ
อีกทั้งในทุกๆ ปี กรุงเทพฯเผชิญกับสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง เกิดพื้นดินทรุดตัวลงปีละ 1-2 เซนติเมตร และจากความหนาแน่นของประชากร มีการก่อสร้างตึกสูงเป็นจำนวนมากในพื้นที่ดินอ่อน เพราะทางด้านกายภาพ กรุงเทพฯสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง อีกไม่เกิน 10 ปี
...
ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทำให้ "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความวิตกกังวล เกรงว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การสูญเสียรายได้และทรัพย์สิน เหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่ และอีก 8 ปี หากกรุงเทพฯ จมทะเล จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรง หากไม่ป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง ความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น 5.12 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 18.6 ล้านล้านบาท จะทำให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 10.45 ล้านคนได้รับผลกระทบ สูงสุดในบรรดาเมืองใหญ่ริมชายฝั่งในเอเชียที่มีความเสี่ยงจมทะเล ความเสียหายประมาณ 96% ของจีดีพีของกรุงเทพฯ
“ช่วงเวลา 11 ปีผ่านมาหลังน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลและพรรคการเมือง ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ต้องชะลอไปหลังการรัฐประหาร ทั้งโครงการเจ้าพระยา 2 และคลองระบายน้ำหลากความยาว 22-23 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากลุ่มจังหวัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก็เพิ่งมีการเร่งรัดมีความคืบหน้าในการก่อสร้างเพียง 20% ไม่สามารถช่วยอะไรได้ หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ จากระดับน้ำท่วมรุนแรงที่เห็นในหลายอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหลายจังหวัดในภาคกลาง รวมทั้งน้ำท่วมขังพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการ”
หากปี 2565 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนปี 2554 จะสร้างความเปราะบางต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมากกว่าเดิม เพราะครัวเรือนมีหนี้ครัวเรือนสูง ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูง มีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นในการจ่ายเงินเยียวยาและชดเชยรายได้ ส่วนภาคธุรกิจและภาคการผลิตเพิ่งฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งจะยากมากกว่าปี 2554 แต่จากบทเรียนปี 2554 ทำให้นิคมอุตสาหกรรม มีระบบป้องกันน้ำท่วม และรัฐมีวิธีจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงหวังว่าจะไม่เกิดผลกระทบเหมือนปี 2554
อีกปัญหาใหญ่จากคำเตือนของกรีนพีซประจำเอเชียตะวันออก เคยระบุว่าพื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง อีกไม่เกิน 10 ปี จะทำให้พื้นที่ศูนย์กลางทางธุรกิจอย่างสีลม สาทร เพลินจิต และรัชดาฯ ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมถึงศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ทำการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และที่ทำการรัฐสภา จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศูนย์กลางการบริหารประเทศได้
การป้องกันกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่ให้จมทะเล ต้องดำเนินการทันที เริ่มจากข้อแรก การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือถนนเลียบชายฝั่งยกสูง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ข้อสอง การเร่งปลูกป่าชายเลนตลอดแนวพื้นที่บางขุนเทียน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ เพื่อให้เป็นพื้นที่กันชน ซับน้ำ รองรับความรุนแรงของคลื่นทะเล ข้อสาม จัดระเบียบการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทั้งหมด และการใช้ที่ดินริมแม่น้ำลำคลอง เพื่อขยายแม่น้ำและขุดลอกคูคลองได้เต็มที่ ข้อสี่ ต้องหยุดขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล กระจายการลงทุนและความเจริญไปยังภูมิภาค ลดความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ข้อห้า ต้องลดการปล่อยคาร์บอนและลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และข้อหก ควรนำนโยบายการย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย มาศึกษาอย่างจริงจัง
...
“การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ หรือถนนเลียบชายฝั่งยกสูง ใช้งบประมาณสูง แต่ก็คุ้มค่าในการลงทุนหากไม่ย้ายเมืองหลวง เพราะปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำทะเลหนุนสูงสร้างความเสียหายปีละ 40,000 ล้านบาทอยู่แล้ว และมีปัญหาทุกปี หากปล่อยให้กรุงเทพฯ จมลง จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง นโยบายเพื่อย้ายเมืองหลวงไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง โดยพรรคการเมืองและรัฐบาล”.