สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้หน่วยงานการกุศลหลายแห่งมียอดบริจาคลดลง โดยเฉพาะตามวัด ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังมีเท่าเดิม ทำให้ต้องปรับตัวในการทำงาน และเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ตัวอย่างเช่น มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ จำเป็นต้องลดค่าอาหารกลางวัน จากวันละ 100 บาทต่อคน เหลือ 30 บาทต่อคน ส่งผลกระทบต่อเยาวชนในความดูแล แม้มีเด็กยากไร้รอความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
“พระมหาสมัย จินตฺโฆสโก” เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน ที่ดูแลเด็กยากไร้ในชุมชนแออัด กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้มา 38 ปี ช่วง 2 ปีมานี้มียอดบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาน้อยลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว จนส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือเยาวชน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ประชาชนมาบริจาคลดลง ประกอบกับมูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายนำตู้บริจาคไปวางตามสถานที่ต่างๆ
“ด้วยความที่มูลนิธิฯ ไม่มีทุนสนับสนุนจากภาครัฐ การช่วยเหลือเด็ก จึงต้องมาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาทั้งหมด ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด ก็เป็นอีกตัวกระตุ้น ทำให้คนที่สนใจทำบุญ เปลี่ยนมาทำบุญแบบออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีการหลอกลวงอยู่จำนวนมาก”
สิ่งที่ทางวัดพอจะทำได้ในตอนนี้คือ จะต้องดูแลเด็กในชุมชนแออัดลดลง จากเดิมที่ดูแลวันละ 125 คน ขณะนี้ลดเหลือ 25 คน ส่วนค่าอาหารที่ใช้ในการดูแลเยาวชน เดิมมีงบประมาณคนละ 100 บาทต่อวัน จำเป็นต้องลดมาเหลือคนละ 30 บาทต่อวัน ขณะที่อาหารบางส่วนได้จากการเดินบิณฑบาต โดยจะนำมาแบ่งปันให้กับเด็กยากไร้ในความดูแลเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ขณะนี้มีเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพิ่มขึ้น แต่ทางมูลนิธิฯ มีกำลังในการช่วยเหลืออย่างจำกัด และพยายามชะลอโครงการที่เคยทำมา เช่น สร้างบ้านให้กับเด็กยากไร้ในชนบท และโครงการอบรมพุทธศาสนาในวันหยุดให้กับเด็กในชุมชนแออัด เนื่องจากงบประมาณที่ตอนนี้มีอย่างจำกัด
...
ผลกระทบจากยอดผู้บริจาคลดลง ทำให้มูลนิธิฯ ต้องพยายามหาทุนทรัพย์มาจ่ายค่าเทอมให้กับเด็กยากไร้ในความดูแล 178 คน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยต้องใช้ทุนทรัพย์ทั้งหมดประมาณเทอมละ 4 แสน ถึง 5 แสนบาท โดยช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้พยายามเข้าไปขอร้องกับสถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อผ่อนผันการจ่ายค่าเทอม เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์
“การช่วยเหลือเด็กยากไร้ เป็นกิจกรรมที่มูลนิธิทำมาตลอด แม้ปีนี้จะประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดยกุศโลบายการทำงานของมูลนิธิ พร้อมที่จะเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามาสัมผัส และไม่มีการทำบุญโดยการสร้างวัตถุมงคลเหมือนที่อื่น แต่มุ่งเน้นทำบุญตามกำลังศรัทธา ให้เข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักใหญ่”
ทำบุญออนไลน์เทรนด์ใหม่ที่ต้องระวัง
“ฐิติกร เศวตนันทน์” รองผู้จัดการมูลนิธิร่วมกตัญญู ให้การว่า ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดและสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้ที่มาบริจาคลดลง แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มสูงขึ้น แต่ทางหน่วยงานต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ยังดำเนินการต่อไปได้
สำหรับแนวทางการทำบุญของคนไทย หลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้คนไม่ค่อยออกจากบ้าน หรือมาทำบุญในสถานที่แออัด ทำให้มีการทำบุญผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางนี้ในการหลอกลวง ดังนั้นผู้ที่จะทำบุญควรมีการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานนั้น ว่ามีสถานที่ตั้งและกระบวนการทำงานที่ชัดเจนหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลอกลวง
“การทำบุญโดยโอนเงินผ่านระบบออนไลน์เป็นกระแสใหม่ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ผู้บริจาคจะต้องพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า อาจเป็นการหลอกลวง ดังนั้นไม่ควรปักใจเชื่อทันทีเมื่อเห็นการโพสต์ตามสื่อต่างๆ บนโลกออนไลน์ แต่ควรมีการสืบค้นถึงต้นตอของหน่วยงาน หรือโทรฯ ไปสอบถามกับหน่วยงานต้นสังกัดด้วยตนเองเพื่อให้มีความชัดเจน และไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ใช้ช่องทางออนไลน์มาหลอกลวง”