ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าทุกปี พื้นที่ภาคเหนือและอีสาน อ่างเก็บน้ำหลายแห่งเต็มความจุจนต้องเร่งระบาย โดยเฉพาะเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำในเขื่อนขณะนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มสูงขึ้นในเดือนกันยายน ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ยังต้องจับตาการรับมวลน้ำจากภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมพื้นที่กรุงเทพฯ
“ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์” ผู้อำนวยการ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA วิเคราะห์สถานการณ์น้ำกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมปีนี้มีมากกว่าค่าปกติ จากการดูภาพถ่ายดาวเทียมเดือนสิงหาคม พบน้ำท่วมขังเป็นวงกว้างหลายพื้นที่ ซึ่งถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มีน้ำท่วมมากกว่า และต้องเฝ้าระวังพายุฝนที่เพิ่มปริมาณน้ำในเดือนกันยายน
ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ยังสามารถรองรับน้ำเพิ่มได้ เฉลี่ยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำ เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเกิดน้ำท่วมสูงได้
ส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางเริ่มมีปริมาณน้ำเต็มความจุ เช่น อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน เหนือ และภาคกลางตอนบน ถ้ามีฝนตกเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 23 – 27 สิงหาคมนี้ จะทำให้น้ำในอ่างน้ำหลายแห่งเอ่อท่วมพื้นที่ของชาวบ้าน “พื้นที่ภาคเหนือสัปดาห์นี้ยังเสี่ยงเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน เช่นจังหวัดเชียงราย น่าน ส่วนภาคอีสานตอนบนยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และพื้นที่ริมแม่น้ำโขง หากมีการปล่อยน้ำมาเพิ่มจากจีนและลาว จะทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน”
...
พื้นที่นาข้าวภาคกลางน้ำท่วมกระทบหนัก
“ดร.สยาม” กล่าวถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำท่วมขังว่า ด้วยปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมทำให้ขณะนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรหลายแห่ง เช่นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ได้แก่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา และถ้ามีน้ำท่วมขังในพื้นที่เกิน 5 วัน จะทำให้ผลผลิตเสียหายอีกจำนวนมาก
จากการประเมินผลกระทบน้ำท่วมปีนี้พบว่า พื้นที่นาข้าวซึ่งเป็นทุ่งรับน้ำ มีพื้นที่โดยรวมทั้งหมดประมาณ 4.8 ล้านไร่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวไปเพียงบางส่วน จึงมีพื้นที่นาข้าวอีกจำนวนมากยังไม่ได้เก็บเกี่ยว และถ้าสถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ขั้นวิกฤติในเดือนกันยายน จะส่งผลกระทบหนักต่อพื้นที่เกษตรกรรม
เบื้องต้นจากการประเมินผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณแสนกว่าไร่ แต่ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเพียง 5 หมื่นไร่ และถ้าเทียบกับเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว พื้นที่ภาคกลางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักขึ้นกว่าปีก่อน
เดือนกันยายนนี้ ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด เพราะจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสัก ที่มีการเร่งระบายน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้เริ่มเร่งระบายน้ำ 1,500 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมบางพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แต่ถ้าปริมาณน้ำถูกปล่อยมา 2,800 – 3,000 ลูกบาศก์เมตร จะส่งผลกระทบกับพื้นที่จังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา
กรุงเทพฯ ต้องลุ้นบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา
“ดร.สยาม” กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดน้ำท่วมลักษณะน้ำรอระบาย ส่วนมวลน้ำภาคเหนือที่จะไหลลงมาสมทบกับเจ้าพระยา ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ต้องจับตาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาช่วงเดือนกันยายน หากมีฝนตกหนักในพื้นที่ จะต้องชะลอน้ำที่ปล่อยจากเขื่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และต้องมีการระบายน้ำไปยังฝั่งตะวันตกและในทุ่งรับน้ำ เพื่อลดผลกระทบ
“สถานการณ์น้ำในทุ่งรับน้ำพื้นที่ อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี ยังไม่มีการปล่อยน้ำเข้ามาในแก้มลิงเพิ่ม ซึ่งถ้ามีมวลน้ำเหนือเข้ามาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังสามารถผันน้ำเข้าไปเก็บในพื้นที่ได้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันต้องจับตาน้ำในเขื่อนพระราม 6 ที่มวลน้ำจะไหลเข้ามาสมทบในเขื่อนเจ้าพระยา”
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะถ้ามีฝนตกในพื้นที่สูง ประกอบกับมวลน้ำเหนือไหลมาสมทบในแม่น้ำเจ้าพระยา และเกิดน้ำทะเลหนุนสูง จะทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการระบายน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ
...
หากย้อนดูสถิติพายุฝนที่เข้ามาในไทยแต่ละปีเฉลี่ย 3–5 ลูก ซึ่งเดือนกันยายนนี้ มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีพายุฝนเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นจึงต้องเฝ้าจับตาพายุที่จะเข้ามาในพื้นที่ เพราะถ้าพายุเข้ามาติดต่อกันจนทำให้มีฝนตกเป็นเวลานาน จะต้องบริหารจัดการระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพ