รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศก่อนหน้านี้ให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไป หนี้สินก็ยิ่งท่วมบ้าน จ่ายคืนไม่ไหว แถมมีความเสี่ยงปล่อยเป็นหนี้เสียมากขึ้นอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นยุคข้าวยากหมากแพงทั้งแผ่นดินจริงๆ ตั้งแต่ราคาผัก เนื้อสัตว์ ไปจนถึง ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ดูได้จากเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขพุ่งกระฉูดในรอบ 14 ปี ของแพงขึ้นกว่า 7% ขณะที่รายได้ไม่พอรายจ่าย สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่รอดได้คือ การกู้เงินเพื่อใช้จ่าย จนมี “หนี้สิน” เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สัญญาณของหนี้สินเริ่มล้นพ้นตัวนี้ มีหลักฐานประจักษ์จากหน่วยงานรัฐที่รายงานให้รัฐบาลเห็นชัดอยู่แล้ว ตั้งแต่แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดที่สะท้อนให้เห็นว่าภาวะหนี้สินคนไทยกำลังวิกฤติดังนี้

แบงก์ชาติ : หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด
ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่ปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 พบว่า ยอดหนี้สินในส่วนที่เป็นเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวนรวม 14,645,228 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี เพิ่มจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ที่ 14,565,152 ล้านบาท หรือ 90% ต่อจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 80,076 ล้านบาท

หากดูในรายละเอียดว่าหนี้สินอยู่ที่สถาบันการเงินประเภทไหนมากที่สุด ก็พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสถาบันรับฝากเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ และอื่นๆ รวมจำนวน 12,564,749 ล้านบาท แน่นอนว่าอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากกว่าครึ่ง คือมากถึง 6,276,102 ล้านบาท

ส่วนหนี้กับสถาบันการเงินอื่นๆ มีรวมจำนวน 2,080,480 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่มบัตรเครดิต ลิสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีมากถึง 1,568,627 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ในกลุ่มบริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ โรงรับจำนำ เป็นต้น

แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ไตรมาสแรกปี 2565 จะลดลงจากไตรมาสสี่ ปี 2564 แต่ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยคือ 0.8% ซึ่งไม่ใช่เพราะคนไทยมีหนี้ลดลง แต่เพราะจีดีพีก็ชะลอตัวลงด้วย จึงยังไม่ใช่สัญญาณเชิงบวก สำหรับชีวิตปากท้องของคนไทย ท่ามกลางวิกฤติของแพง และมีหนี้สินเพิ่มเรื่อยๆ ขณะเดียวกันแบงก์หรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

...

สภาพัฒน์ : จับตา 3 สัญญาณเสี่ยงดันหนี้เสียพุ่ง
นอกจากนี้ยังมีข้อน่าเป็นกังวล ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่งปี 2565 ที่ระบุว่า ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เนื่องจากรายได้ของแรงงานยังไม่ฟื้นตัว และมีความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนจากการเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมานาน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน แม้ประเภทของหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง แต่กลุ่มเพิ่มขึ้นที่น่าจับตา คือกลุ่มที่กู้โดยไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ที่ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่กู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายประจำวัน คือ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (หมายถึงสินเชื่อส่วนบุคคลเฉพาะที่ไม่มีทรัพย์ หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน) โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 1.6% เมื่อเทียบกับการหดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

ส่วนสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสสามปี 2564 มาเป็น 1.2% ในไตรมาสสี่ ปี 2564 และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อและลิสซิ่งมีการขยายตัวเร่งขึ้นมาก โดยในไตรมาสสี่ ปี 2564 ขยายตัวถึง 21.6% จากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 18%

สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด คือคุณภาพสินเชื่อทุกประเภทแม้จะปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 มียอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภค บริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายการ หรือหนี้เสีย มูลค่า 1.43 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่จุดที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ ด้วยสาเหุตดังต่อไปนี้
1.ครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้น เพราะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน 2.รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว และ 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือของแพงนั่นเอง

กราฟิกโดย : : Varanya.p
กราฟิกโดย : : Varanya.p

สำนักงานสถิติแห่งชาติ : เฉลี่ยหนี้ครัวเรือนทะลุ 2 แสนบาท
หันมาดูตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2564 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ระบุในเรื่องหนี้สินครัวเรือนไว้ว่า ในปี 2564 พบว่าครัวเรือนเกินครึ่ง หรือ 51.5% เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 205,679 บาทต่อครัวเรือน

ที่สำคัญเป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน 155,166 บาท ประกอบด้วยหนี้เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค 78,204 บาท หนี้เพื่อซื้อ หรือเช่าซื้อบ้าน หรือที่ดิน 73,808 บาท ส่วนหนี้เพื่อสร้างอนาคต อย่างหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียง 3,154 บาทเท่านั้น

ขณะที่หนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ มีจำนวน 50,513 บาท นั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตร 32,379 บาท รองลงมาเป็นหนี้เพื่อใช้ทำธุรกิจ 17,144 บาท และหนี้อื่นๆ เช่น หนี้จากการค้ำประกันหนี้ ค่าปรับ หรือจ่ายค่าเสียหาย อีก 990 บาท

...

ตัวเลขหนี้ของหน่วยงานภาครัฐทั้งแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ และสำนักงานสถิตินี้ ยังเป็นเพียงแค่หนี้ในระบบเท่านั้น ความจริงยังมีหนี้นอกระบบอีกเป็นจำนวนมากที่สะท้อนถึงความยากลำบากของชาวบ้าน จนจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบมาจับจ่ายใช้สอย และไม่สามารถชำระหนี้ได้ แถมยังเจอดอกเบี้ยสูง และถูกตามทวงหนี้โหดในหลายกรณี

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเขียนบทความเรื่อง “2565 ปีแห่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่งานนี้ไม่หมู!” เผยแพร่ในเว็บไซต์แบงก์ชาติ ตอนหนึ่งระบุไว้ว่า “หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เท่ากับ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2019 อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท แต่เกือบทุกคนที่ทำงานเรื่องหนี้นอกระบบที่ผมคุยด้วย บอกว่า หนี้นอกระบบน่าจะอยู่ในหลักแสนล้านบาท”

จะเห็นว่าทั้งหนี้ในระบบ ระดับ 14.5 ล้านล้านบาท และหนี้นอกระบบอีกกว่าแสนล้านบาทจึงเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง งานหายาก เงินทองไม่พอใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสิน วนในวงรอบแบบนี้ จะมีเพียงความหวังจากคำประกาศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ว่าจะทำให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน แต่ยังมองไม่เห็นมาตรการใดตามมา ที่จะทำให้คนไทยจำนวนมากหลุดพ้นจากกองหนี้ที่พอกพูนนี้ได้.