หลายครั้งหลายหน ที่เราเห็นนักมวยบาดเจ็บสาหัส เฉกเช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นกับ “ปานเพชร ผดุงชัยมวยไทย” ที่ถูกคู่ต่อสู้ แอนโธนี ทีเอฟมวยไทย นักมวยชาวฝรั่งเศสศอกกลับ จนสลบล้มลงหัวกระแทกพื้นเวที อยู่ในอาการโคม่า สมองไม่ตอบสนอง กระทั่งล่าสุด ทางครอบครัวตัดสินใจยุติการยื้อชีวิตของ "ปานเพชร" แล้ว 

ความรุนแรงของ “มวย” นั้น ส่งผลกระทบกับ “นักมวย” ทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว โดยในระยะสั้น คือเกิดบาดแผลฉีกขาด ฟกช้ำ เลือดออกภายใน ร่างกาย หรือสมอง เกิดอันตรายกระดูก ใบหน้า ลำตัว หรือ ที่บริเวณดวงตา จอประสาทตา ถ้าเป็นบริเวณหัวหรือสมอง ก็อาจะเกิดเส้นประสาทฉีกขาด เลือดคั่งในสมอง หรือ กะโหลกแตก

ส่วนผลกระทบระยะยาว ก็อาจจะทำให้เกิด เซลล์สมองเสื่อม ความจำเสื่อม ลูกตาแกว่ง (nystagmus) และสมองฟ่อ (brain atrophy) จากการถูกชก ซ้ำๆ รายที่เป็นโรคทางสมองเรื้อรัง พบโรค พาร์กินสัน สมองเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็น กรณีอันตรายจากกีฬามวยว่า กีฬามวยก็คือการต่อสู้ ซึ่งย่อมมีความรุนแรงและการปะทะ ปัจจุบันนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ป้องกัน ก็เรียกว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน

...

“มวยไทยอาชีพ มีเครื่องป้องกันน้อย แตกต่างจากมวยสมัครเล่น แต่สิ่งสำคัญ การบาดเจ็บของนักกีฬาต่อสู้ โดยมากจะเกิดขึ้นในบริเวณสมอง ถึงแม้จะมีเครื่องป้องกันก็ตาม เพราะกีฬาต่อสู้คือสิ่งที่ต้องแลกมากับอาการบาดเจ็บ ถูกชก ถูกเตะ ทำศอกซ้ำๆ ซึ่งบั้นปลายของนักมวย จำนวนมาก จะมีอาการ “สมองเสื่อม” ซึ่งอาการป่วยของแต่ละคนจะแตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง”

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูล พบว่า “มวยไทย” จะมีอาการทางสมองน้อยกว่า มวยสากล เพราะมวยไทย ได้รับแรงกระแทกที่บริเวณใบหน้า หรือ ศีรษะน้อยกว่า แต่ก็ยังพบว่าบางคนยังมีอาการสมองเสื่อมอยู่

ปัจจัยการป่วยของอาการ “สมองเสื่อม” ก็ขึ้นอยู่ที่สไตล์การชกด้วย คนที่บู๊มาก สายไฟต์เตอร์ ก็จะโดนชก โดนกระแทกเยอะ แตกต่างจากสไตล์ บ็อกเซอร์ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก เพราะนักมวยอาชีพแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

เครื่องป้องกันช่วยได้น้อย วิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่ได้ช่วยป้องกันการบาดเจ็บ  

ถามว่า วิทยาศาสตร์การกีฬา สามารถช่วยเหลืออะไรนักมวยได้บ้าง ดร.พิชิต กล่าวว่า “ไม่มีอะไรช่วยได้เลย เพราะมวย คือ การต่อสู้ และต้องรับแรงกระแทก กีฬาประเภทนี้ เหมือนการ “สาดน้ำใส่กัน” ยังไงก็หนีความเจ็บไปไม่พ้น... การโดนชก กระแทกระหว่างสมองกับกะโหลก ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา”

เมื่อถามว่า มวยประเภทไหน มีความเสี่ยงเรื่องสมองมากที่สุด ดร.พิชิต ยอมรับว่า ยังไม่ทราบว่ามีงานวิจัยใดที่มารองรับในเรื่องนี้ แต่จากสังเกต เชื่อว่า มวยสากล คือ หนักที่สุด ส่วน MMA และ มวยไทย เชื่อว่าอันตรายใกล้เคียงกัน

แต่มวย MMA อาจจะอันตรายกว่ามวยไทย สาเหตุเพราะนวมที่ใช้เล็กกว่า และเมื่อคู่ต่อสู้ล้มนอนไปแล้ว ยังสามารถปล้ำ และทำร้ายกัน โดยไม่สามารถป้องกันตัวได้ ถึงแม้กรรมการจะเข้ามาช่วยดูก็ตาม แต่กว่าจะห้ามก็ต้องมีโดนทำร้ายอีก 2-3 ครั้ง แตกต่างจากมวยไทย หากโดนน็อกไปแล้ว กรรมการยังห้าม และหยุด การแข่งขัน

“กีฬา MMA ถือเป็นกีฬาที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ตอนนี้ เรายังไม่เห็นผลกระทบในระยะยาว เพราะนักกีฬาที่เก่งๆ ในกีฬาประเภทนี้ยังไม่ได้แขวนนวม หรือ ออกจากวงการกัน คงต้องรอเขาอายุมากขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่ามวยไทย”

...

ดร.พิชิต ยังเปิดเผยต่อว่า ถึงแม้นักมวย จะได้รับบาดเจ็บทางร่างกายเยอะ ซึ่งมีผลระยะยาวแล้ว ในด้านจิตใจของอดีตนักกีฬา ก็ถือว่ามีผลกระทบเช่นเดียวกัน

“จากการศึกษาวิจัย นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่ได้รับผลกระทบจากแรงกระแทกใส่สมอง เช่นเดียวกับนักกีฬาต่อสู้ พบว่า บางคนได้รับผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งเป็นผลพวงจากอาการป่วยทางกาย เช่น สมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ จากนั้น ก็เกิดอาการ “ซึมเศร้า” หรือบางรายก็เลือกที่จะฆ่าตัวตาย แต่อาการเหล่านี้ เราไม่ค่อยพบกับนักมวยไทย

มวยเด็ก ควรยกเลิก หรือ เปลี่ยนกติกา

อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวในช่วงท้าย สิ่งที่อยากให้ยกเลิก คือ การแข่งขันมวยเด็ก เพราะการชกมวยตอนเด็ก จะทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่าตอนชกมวยในวัยผู้ใหญ่ เพราะระยะเวลาที่สมองจะกระทบกระเทือนมีมากกว่า อีกทั้งเด็กยังไม่มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะแข่งขัน

“กีฬาทั่วไป ยังมีคำแนะนำว่า ต้องอายุ 12 ปี ถึงจะเหมาะแก่การแข่งขัน แต่ประเทศไทย เราพบว่ามีการแข่งขันตั้งแต่อายุ ไม่ถึง 10 ขวบก็มี มวยเด็กควรจะถูกยกเลิก แต่ก็มีการบอกว่าเป็นประเพณี ซึ่งในความจริง ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ต่อยมวย แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีคำพูดว่า แก่ไป สำหรับการฝึกมวย ซึ่งตามสรีระแล้ว ควรจะให้โตเต็มที่เสียก่อน ในขณะที่เครื่องป้องกัน ก็ไม่สามารถป้องกันแรง “สมอง” ที่ได้รับการกระทบกระเทือนได้ ขนาดอเมริกันฟุตบอล มีทั้งเกราะ และ หมวกกันน็อก ยังกระเทือนไปถึงเลย เพราะเนื้อสมองไปกระแทกกับกะโหลกอยู่ดี ยิ่งเป็นเด็กด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมาะ"

...

ดร.พิชิต กล่าวว่า มวยเด็ก เป็นไปได้ ควรมีการปรับปรุงกติกา เป็นไปได้ไม่ควรให้กระแทกใบหน้าเลยจะดีกว่า เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนสมอง เหมือนกับที่ เทควันโด ที่มีการปรับปรุงกติกามาก จนสามารถไปแข่งในโอลิมปิกได้ เรียกว่าเขาเปลี่ยนไปจนแทบไม่ใช่เทควันโด แล้ว แตกต่างจากดั้งเดิมมาก เพราะหากเป็นเทควันโด แบบดั้งเดิม จะโหดร้ายกว่านี้เยอะ

ที่ผ่านมา มีหลายค่ายมวย ยังไม่ให้ความสำคัญกับ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” หรือ “เวชศาสตร์การกีฬา” ซึ่งบางครั้งการซ้อมหนักมากเกินไปก็ไม่ดีกับตัวนักมวย อาทิ การฟื้นฟูร่างกายไม่เพียงพอ การออกกำลังกายผิดทาง เช่น การวิ่งยาวๆ ซึ่งการวิ่งยาวๆ มากเกินไปก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ วิ่งประมาณ 800 เมตร/1 ยก มีประโยชน์กว่า

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...