นับตั้งแต่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ได้ลงพื้นที่ไปทุกแห่งด้วยตัวเองทำงานแบบ "ชัชชาติสไตล์" มีการไลฟ์สดให้สาธารณชนได้เห็น จนเกิดปรากฏการณ์ "ชัชชาติฟีเวอร์" โดนใจประชาชน และถูกนำไปเปรียบเทียบกับการทำงานของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ช่างแตกต่างกับทีมชัชชาติ ใช้เพียงช่างภาพ 1 คน และมือถือ 1 เครื่องเท่านั้น ในการไลฟ์สดลงพื้นที่ทำกิจกรรม ส่วนทีมบิ๊กตู่ ดำเนินการผ่านกรมประชาสัมพันธ์ เป็นกระบอกเสียงด้วยงบประมาณปีละ 2 พันกว่าล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายมหาศาลผ่านหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ

เกือบ 8 ปี ดูเหมือนเสียงตอบรับจากประชาชนจะแผ่วลง ไม่ร้องว้าวกับผลงาน แม้ล่าสุดจะออกมาย้ำถึง "กลยุทธ์ 3 แกน" ก็ตาม อาจเพราะนำเสนอ ประชาสัมพันธ์ไม่เก่ง อย่างคนในรัฐบาล ออกมาปกป้องก็ได้ ในทางกลับกันคงต้องติดตามดูผลงานของชัชชาติ ต่อไปในห้วงเวลา 4 ปี ในการดำรงตำแหน่ง จะสมกับการพีอาร์ผ่านสื่อโซเชียลว่าทำได้จริง หรือกระแสจะแผ่วลงหรือไม่?

หัวใจสำคัญในการประชาสัมพันธ์ หรืองานพีอาร์ โดยเฉพาะงานทางการเมือง ให้ประสบความสำเร็จโดนใจ ประชาชน ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง มีความจำเป็นด้วยหรือต้องทุ่มเงินจำนวนมาก ราวกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่เสียงตอบรับกลับเงียบหาย นิ่งสงบ แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้น

...

"รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส" คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองว่า ตั้งแต่ชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีการสื่อสารตลอดเวลา และถูกจริตคนกรุงเทพฯ เพราะวิธีการสื่อสารเป็นธรรมชาติ ดูเหมือนไม่ได้ตั้งใจประชาสัมพันธ์ ผ่านการไลฟ์ถ่ายทอดสด ซึ่งอีกด้านหนึ่งทำให้ดูโปร่งใสว่ากำลังทำอะไร และคนสามารถติดตามได้

“ตรงนี้เป็นผลทำให้ทีมประชาสัมพันธ์ของนายกฯ รู้สึกว่าทีมชัชชาติ ดูโดดเด่นมากกว่า และทำไมทีมนายกฯ ทำแล้วไม่มีใครสนใจเลย หรือได้พื้นที่ข่าวต่อเนื่อง ทั้งๆ มีการไลฟ์สดเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าทีมนายกฯ มีจุดด้อยกว่า จนเห็นการยกเครื่องใหม่หมดของทีมงาน สะท้อนว่าการสื่อสารไม่ประสบความสำเร็จ และเมื่อทีมชัชชาติเข้ามา ก็เห็นชัดระหว่างของดีกับของด้อย”

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก


อีกทั้ง 8 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีคนมาทำเทียบ ทำให้ทีมของนายกรัฐมนตรีไม่เห็นจุดด้อย กระทั่งเห็นความพยายามเปลี่ยนแปลงและให้ทีมงานโฆษกรัฐบาล ออกมาพูดแทน ในเชิงตอบโต้ให้ทันสถานการณ์อย่างรวดเร็ว และมีบรรดารัฐมนตรีออกมายกย่องว่าพล.อ.ประยุทธ์ ทำงานมามาก แต่อาจสื่อสารไม่เก่ง เป็นความพยายามที่จะบอกอย่างนี้ และพยายามยกเครื่องการสื่อสาร ให้ทีมโฆษกฯ ออกมาพูดแทน

หากย้อนไปดูพบว่า หลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีพูดแล้วทำให้วงแตก จนล่าสุดต้องมีการอัดคลิปเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพราะหากมีการพูดสดอาจมีข้อบกพร่อง จึงใช้วิธีการบันทึกเทป และใช้เทคโนโลยี Prompt Reader ในการอ่านสคริปต์ และตาโฟกัสอยู่ที่จุดเดียวตรงกล้อง เหมือนมองผู้ชมตลอดเวลา ทำให้จังหวะการอ่านไม่เร็วเกินไป และมีลีลาท่าทางบุคลิกดีขึ้นในการนำเสนอเนื้อหา จากความพยายามจะสื่อสาร

แต่ถามอีกว่าเพื่อมีการปรับทุกอย่างแล้ว ทำไมยังไม่ปังอีก เพราะลุคของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ทำหน้าที่มา 8 ปี มีอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นประจำจนคนจำภาพเดิมไปแล้ว และเมื่อมาปรับลุคใหม่ ทำให้คนมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ได้แก้ปัญหาหรือเปลี่ยนอะไรได้ ถือว่าสายไปแล้วในตอนนี้ แม้มีการชูกลยุทธ์ 3 แกนก็ไม่ทัน และพบว่าไม่เคยนำเสนอกลยุทธ์นี้มาก่อนตั้งแต่เป็นรัฐบาล แสดงว่าคนเขียนสคริปต์ไม่รู้อะไร ไม่มีการเชื่อมโยงกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ จนคนมองว่าเฟก

...

“อะไรคือวิชั่นของรัฐบาล ดังนั้นความพยายามจะปรับการสื่อสารจึงไม่เวิร์ก เพราะ 1.มันสายเกินไป 2.ไม่จริง มันเฟก ลีลาที่ออกมาไม่ใช่ตัวนายกฯ 3. เนื้อหาไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลผลักดันมา แม้จะปรับลุค ปรับคอนเทนต์แล้ว แต่คนก็มองว่าปลอม มันไม่จริง”

เมื่อหันกลับมาที่ทีมชัชชาติ ต้องบอกว่าประชาสัมพันธ์เก่ง มีเพียงคนถ่ายกล้องติดตาม ดูเป็นธรรมชาติในการลงพื้นที่ทำงานจริง ตรงข้ามกับพล.อ.ประยุทธ์ มีการสื่อสารที่ปลอมทั้งหมด ทั้งลีลาและเนื้อหา จนกลายเป็นว่านายกรัฐมนตรีสร้างภาพ และทำให้คนรู้สึกว่าปัญหาที่กำลังเจอในเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาพลังงาน และเงินเฟ้อ ทำไมรัฐบาลไม่พูดถึง

แต่ไปพูดเรื่องกลยุทธ์ 3 แกน จนคนถามว่าเกี่ยวอะไรกับชีวิตพวกเขา หรือหากนำกลยุทธ์ 3 แกนมาแถลงตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คิดว่าคนคงอาจดู แต่ไม่ใช่ขณะนี้ที่เจอเรื่องของแพง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจตกต่ำ และคนตกงาน

นอกจากนี้รัฐบาลยังเข้าใจผิดคิดว่าคะแนนนิยมตกต่ำ เป็นเพราะการสื่อสาร ทั้งๆ ที่เกิดจากการกระทำมากกว่า ไม่ได้ลงมือแก้ปัญหาให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นควรทำงานที่เกิดจากการกระทำมากกว่าการสื่อสาร ให้ดูหล่อ ดูดีให้เหมือนชัชชาติ แต่จริงๆ แล้วชัชชาติ ดูดีจากการกระทำ ซึ่งทีมงานรัฐบาลควรเอาเป็นแบบอย่าง และเมื่อทำอะไรแล้วต้องบอกกับประชาชนเป็นชิ้นเป็นอัน

...

เพราะตราบใดไม่มีผลงาน หรือนายกฯ หน้าตาดี พูดดีอย่างไรในขณะนี้ ก็สายเกินไปแล้วในการที่ทีมงานเพิ่งคิดพยายามปรับเปลี่ยนเสื้อผ้า หน้าผม ให้นายกฯ ดูดี ไม่โมโหเหมือนก่อน คงไม่ทัน เพราะคนรอไม่ไหวแล้วจากปัญหาต่างรุมเร้า.