กลายเป็นกระแสดราม่า หลัง 2 ผู้กำกับดังออกมาให้ข่าวถึงการทำงานของเด็กในกองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ และมิวสิกวิดีโอ อาจต้องทำงานเกินวันละ 12 ชั่วโมง หรือต้องทำงานถึง 16 ชั่วโมงในการถ่ายทำละคร ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีการรณรงค์ให้ลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ “เด็กในกองถ่าย ต้องได้รับการคุ้มครอง” ผ่านเว็บไซต์ Change.org จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่าพันคน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการปกป้องเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

เรียกร้องกำหนดเวลาทำงาน เด็กในกองถ่ายให้ชัดเจน

ข้อเรียกร้องคุ้มครองการทำงานของเด็กในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย มีปัญหามายาวนานในมุมของ “ไชยวัฒน์ วรรณโคตร” เลขานุการและอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงาน สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้กำกับหลายคนในวงการยอมรับถึงปัญหาเรื่องเวลาทำงานของนักแสดงเด็ก ไม่มีเวลาถ่ายทำที่แน่นอน จนต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาว

ในเรื่องเวลาของการทำงานเกินข้อกำหนด จะรวมถึงแรงงานในกองถ่ายที่ทำงานด้านอื่นด้วย เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานแบบเหมา ทำให้ไม่มีการระบุเวลาทำงานที่ชัดเจนในสัญญาจ้าง หรือบางครั้งไม่มีสัญญาจ้าง เพราะผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุน ทำให้ต้องใช้เวลาถ่ายทำแต่ละวันยาวนานกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด

“ที่ผ่านมามีเด็กทำงานในกองถ่ายได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะที่นักแสดงเด็กบางราย เมื่อให้เข้าฉากร้องไห้จะถูกบังคับ หรือกลั่นแกล้งให้ร้องไห้จริงๆ ทำให้เด็กคนนั้นได้รับผลกระทบทางจิตใจ บางรายต้องออกจากวงการ และไม่อยากทำอาชีพนี้อีก”

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็กในกองถ่าย แม้จะมีกฎหมายแรงงานห้ามจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ในระบบการจ้างงานแบบเหมายังมีช่องว่างที่นำมาบังคับใช้ไม่ได้ ส่วนประเด็นการบังคับ หรือกระทำให้นักแสดงเด็กร้องไห้ ถึงจะมีกฎหมายควบคุมการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก แต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง สิ่งนี้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ออกกฎหมาย เพื่อบังคับใช้และควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม

...

“ตัวอย่างกองถ่ายในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายระบุเวลาชัดเจนถึงการทำงานของเด็กในกองถ่าย และมีบทลงโทษอย่างหนัก ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าฝ่าฝืน แต่ในวงการบันเทิงไทยกลับมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีคนในวงการเล่าว่า เคยมีนักแสดงเด็กอายุแค่ 6 เดือน มาถ่ายโฆษณาและต้องใช้เวลาถ่ายทำนาน จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก”

ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ยื่นหนังสือเรียกร้องผ่านสภาฯ เพื่อให้กรรมาธิการด้านแรงงานพิจารณา แต่ไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้อย่างเป็นรูปธรรม หากไม่มีการตอบรับของฝั่งการเมืองในการออกกฎหมาย เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีการคุ้มครองแรงงานเด็กที่ชัดเจน

“ครูหยุย” สนับสนุนไม่ให้ทำงานเกิน 12 ชั่วโมง

กรณีแรงงานเด็กในกองถ่ายต้องทำงานเกิน 12 ชั่วโมง “วัลลภ ตังคณานุรักษ์” หรือ “ครูหยุย” ผู้ทำงานด้านเด็ก ให้ความเห็นว่า การแสดงภาพยนตร์และละครของเด็ก ถือเป็นความสามารถพิเศษที่อยู่ในข้อยกเว้นของการควบคุมตามกฎหมายแรงงาน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องกำหนดเวลาการทำงานชัดเจน ไม่ให้เกินเวลา 22.00 น. หรือทำงานไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน เพราะถ้ามีการทำงานเกินจากเวลานี้จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา

ส่วนการบังคับขู่เข็ญให้เด็กแสดงบทบาทที่ต้องการ ไม่ควรจะเลยเถิดจนส่งผลกระทบทางจิตใจเด็ก และห้ามสัมผัสร่างกายเด็กในลักษณะทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าหากเกิดผลกระทบขึ้น ผู้ปกครองสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดกับคนที่กระทำได้ตามกฎหมาย

ขณะที่ล่าสุดเพจสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มีการโพสต์ข้อความสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสมาคมสาขาอาชีพอื่นๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่การพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว หากแรงงานในทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิภาพที่ดีย่อมจะส่งผลให้การทำงานในภาพรวมดีขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ของไทยได้ในระยะยาว.