“หนังกลางแปลง” เรียกได้ว่าเป็นสื่อบันเทิงยุคเก่าที่คนรุ่นใหม่แทบไม่เคยเห็นหรือรู้จัก เพราะปัจจุบันมีสื่อรูปแบบดิจิตอลเข้ามาแทนที่ จากการที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนล่าสุดได้จัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ช่วยปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้นว่า “หนังกลางแปลง” มีที่มาอย่างไร

ที่มาของ “หนังกลางแปลง”

หนังกลางแปลง ถูกนำเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2440 หรือราว 125 ปีก่อน ซึ่งอยู่ในยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จากการค้นหาข้อมูลพบว่าหนังกลางแปลงถูกคิดค้นโดยประเทศทางฝั่งตะวันตก แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นประเทศใด จากนั้นก็มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

รูปแบบของหนังกลางแปลงต่างจากโรงหนังในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะหนังกลางแปลง (Outdoor Cinema) เป็นการฉายหนังกลางพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีหลังคาคลุม จึงจำเป็นต้องฉายในเวลากลางคืนเท่านั้น การฉายหนังกลางแปลงเป็นการฉายแบบเปิดให้สาธารณชนเข้าชมฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีผู้เหมา ผู้ว่าจ้าง ที่มักจะเรียกกันว่า เจ้าภาพ เป็นผู้นำหนังกลางแปลงไปจัดฉายในงานของตน เช่น งานศพ งานฉลองวันเกิด งานบวช งานศาลเจ้า งานวัดประจำปี และงานแก้บน เป็นต้น

นอกจากนี้หนังกลางแปลงยังมีความหมายรวมไปถึงหนังเร่ของหน่วยงานรัฐบาลที่จัดฉายภาพยนตร์ขึ้นเพื่อการโฆษณา การเผยแพร่ข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐตามท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความบันเทิงแก่แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ถือเป็นการแสดงความมีหน้ามีตา ความมีเกียรติยศของเจ้าภาพอีกด้วย

...

ดังนั้น หนังกลางแปลง จึงไม่ได้มีแค่เพียงมอบความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกัน ด้วยบรรยากาศรอบข้างที่ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสื่อบันเทิงที่คนในชุมชนมักจะรอคอยให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

หนังกลางแปลงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

กาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป เมื่อมีโรงหนังเข้ามาให้บริการชมภาพยนตร์แบบเป็นสัดส่วนพร้อมด้วยระบบเสียงและภาพที่ดีเยี่ยมจึงทำให้ผู้คนหันไปเสพสื่อบันเทิงในโรงหนังมากขึ้น และในยุคปัจจุบันที่มีสื่อดิจิตอลอย่าง VDO Streaming หลายๆ เจ้า รวมถึง YouTube ให้ผู้คนได้รับชมความบันเทิงได้ถึงมือตัวเองไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเวลาใดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การรับชม หนังกลางแปลง ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา แม้จะยังไม่สูญหายไปหมด แต่ก็มีโอกาสหาชมได้น้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะในชุมชนมากนัก จึงทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่เคยได้สัมผัสถึง “เสน่ห์” ของหนังกลางแปลงเหมือนในอดีต

การกลับมาของ หนังกลางแปลง กับเทศกาล กรุงเทพฯ กลางแปลง

หนังกลางแปลง กลับมาเป็นที่สนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากการที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่าง สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ ชมรมกรุงเทพฯ น่าอยู่กว่าเดิม (Better Bangkok) จัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ขึ้นทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ให้ตื่นตัวขึ้น อีกทั้งยังเป็นการจัดกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากเทศกาลดนตรีในสวน และเพื่อรับกับเทศกาล Film Festival ที่จัดในเดือนเดียวกันด้วย

“ความสุขจากการได้ชมหนังกลางแปลงต่างจากการเสพสื่อบนหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ตรงที่เราได้เห็นความตระการตาของจอหนังขนาดใหญ่ในพื้นที่กลางแจ้ง ได้สัมผัสบรรยากาศรอบข้างที่คึกคัก ได้เห็น Reaction ของคนรอบข้างที่มาดูหนังด้วยกันทำให้รู้สึกสนุกสนาน และยังมีความอิสระ จะซื้ออะไรมากินตอนดูหนัง หรือลุกไปไหนก็ได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ต่างจากตอนดูหนังในโรงภาพยนตร์” อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าว

ขณะเดียวกัน รูปแบบการจัดเทศกาลกรุงเทพฯ กลางแปลง ต่างไปจากการฉายหนังกลางแปลงทั่วไปตรงที่มีการคัดเลือกภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้คนได้เกิดการเชื่อมโยงเข้ากับบรรยากาศในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เช่น ภาพยนตร์รักแห่งสยาม ที่เลือกฉายในย่านสยามสแควร์ ก็ทำให้ผู้คนได้เห็นวิวัฒนาการที่ต่างออกไปในย่านนั้นๆ รวมถึงภาพยนตร์ผีที่เลือกฉายในสวน ก็ให้บรรยากาศที่เชื่อมโยงกันได้ง่าย

...

นอกจากนี้ ทางผู้จัดงานยังมีการเตรียมการเพื่อรับมือกับการดูหนังกลางแปลงในหน้าฝนด้วยการจัดเต็นท์ เตรียมร่ม เสื้อกันฝน ผ้าปูพื้น รวมถึงยากันยุง ให้กับผู้ที่มาดูหนังกลางแปลงในเทศกาลนี้อีกด้วย

ก่อนที่หนังจะเริ่มฉาย ภายในพื้นที่จัดงานจะมีกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงแก่คนมาชมตั้งแต่ 17.30 น. เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็น การเล่นดนตรีในสวน การให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของภาพยนตร์ไทย รวมถึงการเสวนาพูดคุยกับผู้กำกับหนังและนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องที่เข้าฉายในแต่ละพื้นที่ ไปจนถึงการอนุญาตให้มีการขายอาหาร ขายสินค้า ภายในพื้นที่จัดงาน เพื่อเป็นการมอบความบันเทิง ความรู้ และกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ทั้งนี้การจัดเทศกาลกรุงเทพฯ กลางแปลง เป็นการนำร่องกิจกรรมฉายหนังกลางแปลงที่จะต่อยอดไปยังกิจกรรมอื่นๆ ในอนาคต เช่น เทศกาล Film Festival เทศกาลหนังอาเซียน ที่จะมีการนำภาพยนตร์ที่ไม่เคยฉายในไทยมาก่อนมาฉายให้คนไทยได้ดูเป็นครั้งแรกในรูปแบบหนังกลางแปลง เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังที่หลากหลาย ด้วยการนำภาพยนตร์ที่หาชมได้ยากมาให้คนทั่วไปได้รับชมง่ายขึ้น.