กรณีข้าวสารขึ้นราคาในหลายพื้นที่ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2 - 6 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จนหลายคนคิดว่าชาวนาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนชาวนา ถึงการปรับราคาขายข้าวสารในครั้งนี้ว่า ชาวนาได้รับกำไรน้อย และยังเสี่ยงที่ข้าวจะล้นตลาด เมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปีมาถึงในเดือนสิงหาคมนี้

ข้าวสารขึ้นราคา แต่ทำไมชาวนายังลำบากเหมือนเดิม 

ข้าวสารขึ้นราคาครั้งล่าสุด สาเหตุไม่ได้เป็นเพราะต้นทุนจากการเพาะปลูกของชาวนาที่สูงขึ้น ซึ่ง “ปราโมทย์ เจริญศิลป์” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า ข้าวสารส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายอยู่ขณะนี้ เป็นข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวตั้งแต่ปีก่อน โดยโรงสีข้าวและพ่อค้าคนกลางซื้อมาเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องขาย จังหวะราคาน้ำมันขึ้นพอดี จึงใช้โอกาสนี้ปรับราคาขึ้น โดยที่ชาวนาไม่ได้รับอานิสงส์จากการที่ข้าวสารขึ้นราคา นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ข้าวจะล้นตลาด เพราะการส่งออกข้าวไทยลดลง และการเพาะปลูกข้าวนาปีกำลังจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะกระทบกับรายได้ของชาวนามากแค่ไหน 

...


“ตอนนี้มีข้าวสารที่ค้างในสต๊อกจำนวนมาก เพราะหลายประเทศลดการนำเข้าข้าวจากไทย เนื่องจากมีราคาสูงกว่าอินเดียและเวียดนาม ทำให้ผลผลิตข้าวปีที่แล้วค้างอยู่ในโกดังจำนวนมาก การขึ้นราคาข้าวครั้งนี้อาจทำให้หลังฤดูเก็บเกี่ยวของปีนี้มีข้าวล้นตลาด จนราคาขายข้าวเปลือกของชาวนา ราคาลดลงจากปีก่อน”

เผยต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา

สำหรับฤดูกาลปลูกข้าวปีนี้ ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 บาทต่อไร่ จากต้นทุนปุ๋ยและน้ำมันที่สูงขึ้น หากไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก ชาวนาจะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และเสี่ยงเป็นหนี้จากการเพาะปลูกในปีนี้


นอกจากนี้ ชาวนาในพื้นที่ภาคอีสาน แม้ปีนี้มีน้ำไม่ขาดแคลน แต่ด้วยข้อจำกัดที่หลายพื้นที่ปลูกข้าวได้ปีละครั้ง อาจทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นเกษตรกรต้องประเมินความเสี่ยงก่อนการเพาะปลูก เช่น บางพื้นที่ เน้นการปลูกไว้กินเองในครอบครัวหรือชุมชน โดยนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน


จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนปุ๋ยและน้ำมันที่สูงขึ้น ยิ่งทำให้ชาวนาไทยลำบาก เพราะในภาวะปกติกำไรเฉลี่ยต่อไร่อยู่ในระดับพันกว่าบาทเท่านั้น อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ถึงต้นทุนการทำนาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,430 บาทต่อไร่ ซึ่งการปลูกข้าว 1 ไร่ ให้ผลผลิต 900 กิโลกรัม และหลังจากที่ชาวนาขายข้าวให้กับโรงสีแล้วจะเหลือกำไรเฉลี่ย 1,356 บาทต่อไร่


ผลกำไรจากการทำนาแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับการควบคุมศัตรูพืชและโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อข้าว ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้รับซื้อ ขณะที่ค่าแรงในการจ้างแรงงานในพื้นที่ ระหว่างการเพาะปลูกเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกรในอนาคต


ชาวนาหวังข้าวลอตใหม่ได้กำไรเพิ่ม 

ด้านชาวนาที่ทำนาปรัง เริ่มมีความหวังกับข้าวลอตใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่ยังห่วงเงินทุนที่อาจหมุนไม่ทัน โดย “สุขสันต์ โยคุณ” ชาวนาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การทำนาปรังปีนี้ ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าปุ๋ย อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวนาปรังเดิมกิโลกรัมละ 5 บาท แต่ตอนนี้มีการปรับราคาขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 8.20 บาท ถือเป็นราคาที่ชาวนาในพื้นที่พอใจ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังกังวลผลกระทบจากต้นทุนปุ๋ย และน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของเกษตรกร ที่บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายก่อน ตัวอย่างเช่น การเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง 30 ไร่ ต้องใช้รถเกี่ยวข้าวไร่ละ 500 บาท เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ ต้องจ่ายเงินสดทันที ขณะที่การขนส่งข้าวไปยังโรงสี ต้องจ่ายค่ารถและค่าน้ำมันเริ่มต้นที่เที่ยวละ 350 บาท 

จากราคาขายข้าวสารที่เพิ่มขึ้น ยังไม่สะท้อนถึงต้นทุนของชาวนา ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลผลิตจากการปลูกข้าวนาปี ชาวนายังต้องลุ้นว่า ราคาข้าวจะคุ้มกับต้นทุนการเพาะปลูกที่จะช่วยยกคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยได้หรือไม่   

...