กลายเป็นประเด็นร้อน หลังเจ้าของร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง "ดารุมะ ซูชิ" หลบหนีออกนอกประเทศ ลอยแพลูกค้าที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 6,000 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แต่กรณีนี้ไม่ใช่รายแรก เพราะที่ผ่านมามีการขายบัตรกิฟต์เวาเชอร์เพื่อทำกำไรคล้ายระบบแชร์ลูกโซ่ จนมีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสารพัดกลลวงมาแล้วจำนวนมาก

ย้อนเส้นทางกลโกงหลอกลวง เจ็บนี้ไม่เคยจำ

"ดารุมะ ซูชิ" เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการผู้บริโภค โดยเฉพาะลูกค้าที่ชอบทานอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์แซลมอน เมื่อ “เมธา ชลิงสุข” ผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” หลบหนีออกนอกประเทศ ทิ้งให้ลูกค้าที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ราคาต่ำกว่าท้องตลาด ที่มีการขายไปแล้วจำนวนมาก

ที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารจะเป็นผู้ควบคุมรายรับและรายจ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด โดยผู้จัดการร้านมีหน้าที่เพียงต้อนรับลูกค้า และสรุปค่าแรงพนักงานในแต่ละเดือน ที่ผ่านมาการจ่ายเงินเดือนไม่เคยมีปัญหา จนมาถึงวันเกิดเหตุ ไม่มีการนำวัตถุดิบมาส่งที่ร้าน และผู้บริหารมีการลบตัวเองออกจากกลุ่มไลน์ทุกกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ หลังจากนั้นผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความ จนพบว่าผู้บริหารคนดังกล่าวได้เดินทางหลบหนีไปยังประเทศต่างประเทศ สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

หากย้อนกลับไปมีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน เช่นกรณีร้านซีฟู้ดชื่อดังอย่าง “แหลมเกต” ที่ขายกิฟต์เวาเชอร์ในราคาหลักร้อย ทั้งที่ราคาปกติ 888 บาท เมื่อนำบัตรไปใช้ ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน หลายคนใช้ไม่ทันเวลา จนต่อมาทางร้านออกประกาศงดให้บริการทุกโปรโมชัน เนื่องจากมีลูกค้าสนใจใช้บริการจำนวนมาก ทำให้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าไม่เพียงพอ แต่ไม่นานทางร้านก็ประกาศปิดกิจการ ด้วยอ้างว่ามีลูกค้ามาใช้บริการน้อยทำให้ขาดทุน

...

ลูกค้าที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ไว้ จึงรวมตัวกันฟ้องร้องผู้บริหารร้านซีฟู้ดชื่อดัง จนมีคำตัดสินของศาลอาญาให้ลงโทษฐานหลอกหลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน รวมจำคุกทั้งสิ้นคนละ 1,446 ปี

ส่วนอีกกรณีคือ การหลอกให้ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ เพื่อพักในโรงแรม 4-5 ดาว จากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่เป็นตัวกลางจองห้องพักโรงแรม โดยทางบริษัทออกโปรโมชันจองห้องพักราคาถูก เช่น ที่พักโรงแรม 5 ดาว คืนละไม่เกิน 3,000 บาท มีโปรโมชัน 1 แถม 1 ซึ่งกิฟต์เวาเชอร์ มีอายุ 2 ปี ทำให้ผู้เสียหายซื้อเก็บไว้จำนวนมาก

เมื่อลูกค้าจะไปเข้าพัก กลับพักไม่ได้ บางรายถูกยกเลิกการจองห้องพัก อ้างว่าห้องพักเต็ม เมื่อสอบถามทางโรงแรม พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่จ่ายเงินให้กับโรงแรม จนต่อมาบริษัทประกาศยกเลิกการจองห้องพักทั้งหมด ก่อนประกาศปิดกิจการชั่วคราว ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 800 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท

กลโกงมิจฉาชีพ จูงใจด้วยราคาที่ถูก กว่าความเป็นจริง

“นฤมล เมฆบริสุทธิ์” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ธุรกิจที่มีปัญหาเกิดจากการจูงใจผู้ซื้อด้วยราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการหลอกลวง ที่ผ่านมาคนที่ถูกหลอกต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการฟ้องร้อง แต่สุดท้ายไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งหลายคดีต้องหมดอายุความไปก่อน

กรณีร้านบุฟเฟต์แซลมอน "ดารุมะ ซูชิ" ถือว่าเข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค และโฆษณาเกินจริง ส่งผลกระทบต่อคนที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ รวมถึงผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ โดยกลโกงมิจฉาชีพมักจะตั้งบริษัทขึ้นมาโดยกระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชันราคาถูกกว่าท้องตลาด ขณะเดียวกันก็ระดมทุนผ่านการขายกิฟต์เวาเชอร์ เพื่อนำเงินที่ได้มาให้บริการผู้บริโภคกลุ่มแรกก่อน และมีการถ่ายรูปเพื่อโปรโมตบนโลกออนไลน์ให้เกิดความน่าเชื่อถือ แต่หลังจากที่มีคนเข้ามาซื้อบริการล่วงหน้าจำนวนมาก ผู้บริหารก็มักจะหลบหนีออกนอกประเทศ

สำหรับผู้บริโภคจำเป็นต้องตรวจสอบผู้ให้บริการย้อนหลังทุกครั้งก่อนซื้อบริการ แม้จะมีการขายผ่านโปรโมชันที่ราคาถูก ก็ไม่ควรซื้อมากเกินความจำเป็น ส่วนผู้ที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์เพื่อนำไปขายต่อโดยหวังผลกำไร ไม่ควรซื้อกักตุนไว้จำนวนมากเกินความจำเป็น เพราะถ้ายิ่งผู้ประกอบการมีการขายจำนวนมากในราคาที่ถูก ก็มีแนวโน้มว่าจะถูกโกงจากผู้ประกอบการได้

“ที่ผ่านมามีการโกงในหลายธุรกิจ เช่น บริษัททัวร์ ที่ขายทัวร์ถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งหลายคนหลงเชื่อเพราะมีภาพคนที่ได้เดินทางไปจริงในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นบริษัทดังกล่าวก็ขายทัวร์ให้กับคนจำนวนมาก จนมีเหตุการณ์ที่ลูกทัวร์ถูกทิ้งไว้ที่สนามบิน โดยบริษัททัวร์ไม่ได้มาตามที่ตกลงไว้” นฤมล ทิ้งท้าย

กิฟต์เวาเชอร์ ต่ำกว่าความเป็นจริง เสี่ยงขาดทุน

“ผศ.ดร.สลิตตา สาริบุตร” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า กรณีร้านบุฟเฟต์แซลมอนมีการขายกิฟต์เวาเชอร์ต่ำกว่าราคาต้นทุน เพราะราคาบุฟเฟต์จะมีหลายระดับราคา ส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่ 499-1,000 บาท ตามแต่คุณภาพและการวางตำแหน่งทางการตลาดของทางร้าน แต่ร้านนี้ขายในราคาเพียง 199 บาท ทั้งที่ปลาแซลมอนราคาขายส่งต่ำสุดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 380-400 บาท แม้มีการจูงใจให้ซื้อ 5 ใบขึ้นไปถึงจะได้รับส่วนลด แต่การจำหน่ายบัตรส่วนลดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริหารร้านไม่สามารถจัดการกับต้นทุนที่เพิ่มสูงได้

...

ขณะนี้มีหลายธุรกิจที่ขายกิฟต์เวาเชอร์ผ่านระบบออนไลน์ และมีคนที่ซื้อเพื่อนำไปขายต่อจำนวนมาก ทำให้การตลาดรูปแบบนี้ได้รับความนิยม โดยเฉพาะธุรกิจประเภทบริการ เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ร้านอาหาร บริษัททัวร์ โรงแรม หรือแม้แต่สถาบันกวดวิชา

“กลยุทธ์การตลาดโดยการขายกิฟต์เวาเชอร์ล่วงหน้า ผู้ประกอบการต้องการจะได้เงินสดเพื่อระดมทุน หรือนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาทำให้ธุรกิจขาดทุน ไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่ซื้อกิฟต์เวาเชอร์ล่วงหน้าได้ตามที่ตกลงไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีการประมาณต้นทุน วิเคราะห์ผลการดำเนินงานในระยะยาว และกำหนดระยะเวลาในการใช้ที่ชัดเจน”

จากหลายกรณีที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบร้านค้าและผู้ให้บริการอย่างละเอียดก่อนซื้อบริการ โดยต้องมีการเปรียบเทียบราคากับร้านอื่น รวมถึงดูรีวิวการบริการให้แน่ใจก่อนทุกครั้ง ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐควรตรวจสอบผู้ประกอบการที่จำหน่ายกิฟต์เวาเชอร์ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ ซึ่งอนาคตคาดว่าจะมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องกระตุ้นยอดขาย.