- การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หนึ่งในวิธีการแก้เมื่อค่าครองชีพขยับสูง เพื่อชะลอการใช้จ่าย หรือเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามรัสเซียกับยูเครน ยังคงยืดเยื้อ ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก มีโอกาสทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไม่หยุด อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% และได้ปรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จาก 4.9% และเงินเฟ้อปัจจุบันมีทิศทางขยายวงกว้างมากขึ้น และเริ่มส่งไปสู่หมวดสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ในระยะข้างหน้าหรือภายในไตรมาส 3 อาจได้เห็น กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อคุมเงินเฟ้อ
- ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดในการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมายอมรับหากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยอาจสะดุดไม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และถึงเวลาต้องค่อยๆ ถอนคันเร่ง หากไม่ทำอะไรเลย ผลกระทบเงินเฟ้อจะหนักกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย
- แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลทำให้ต้นทุนประชาชนเพิ่มขึ้น แต่หากไม่ทำอะไร จะยิ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ย มีผลกระทบน้อยกว่า ซึ่งต่างกันถึง 7 เท่า เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน โดยรวมจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนประมาณ 850 บาทต่อเดือน หรือ 3.6% ของรายได้
- สิ่งที่ตามมาหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะชะลอการใช้จ่าย ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามเช่นกัน แต่อาจปรับ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหลายปัจจัยส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่น ความต้องการเงินกู้ ปริมาณเงินฝาก อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนดำเนินการ
...
"รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุปัญหาเงินเฟ้อสูง และค่าครองชีพพุ่งขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของครัวเรือนรายได้น้อย ขณะที่หลายประเทศทยอยใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนพ.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี แตะระดับ 8.6% ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก และราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นแรงในฐานะสินทรัพย์สู้เงินเฟ้อ รวมถึงตลาดหุ้นไทยและเอเชียไม่สามารถหลีกผลกระทบจากความผันผวนนี้ได้
“ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14-15 มิ.ย. มากถึง 0.75% สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิมว่าจะปรับเพียง 0.50% และอาจดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินขึ้นอีก”
ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย นำมาพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย ภายหลังอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี แตะ 7.1% โดยเงินเฟ้อกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นกว่า 37.2% กลุ่มอาหารราคาเพิ่มขึ้น 6.18% และดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 13.3% คาดว่า หากเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาปุ๋ยปรับตัวสูงกว่า 3 เท่า อาจทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก
ขณะเดียวกันรัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้นในการแทรกแซงเพื่อชดเชยราคาพลังงาน หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 5 บาทต่อลิตรสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. โดยไม่ยืดมาตรการออกไป คาดการณ์ได้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีได้ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งสูงกว่าเมื่อครั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง
“แต่เงินเฟ้อสูงคราวนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเงินบาทอ่อนอย่างเดียว ครั้งนี้เกี่ยวพันกับสงครามรัสเซียกับยูเครน ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ และส่งผลต่อการชะงักงันในการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของภาคพลังงานและภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ”
...
หากประเทศต่างๆ ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้และเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก น่าจะได้เห็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ในยุคน้ำมันแพง ทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไป จากผลกระทบสงครามเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี แต่เศรษฐกิจโลกน่าจะยังพอรับมือได้เช่นเดียวกับปี 2553
การปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจดำเนินการ 1-2 ปีข้างหน้า หากควบคุมเงินเฟ้อได้ และเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะทำให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจกลับคืนมาเร็วกว่าคาดในอนาคต อีกทั้งภูมิภาคอาเซียนและไทย ยังคงมีสถานะที่ดีกว่าหลายภูมิภาคทั่วโลก เงินทุนยังคงไหลเข้าและได้รับอานิสงส์จากวิกฤติอาหารโลก ยกเว้นสมาชิกอาเซียนที่อาจมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ได้แก่ ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์.