• เข้าสู่เดือนมิถุนายน หรือ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั่วโลก รวมทั้งไทย ได้แสดงออกถึงสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ผ่านกิจกรรมต่างๆ หลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องเปลี่ยนการเคลื่อนไหวในรูปแบบออนไลน์ เพราะการระบาดของโควิด

  • ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไทย มีพ.ร.บความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 ทำให้การละเมิดสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติลดน้อยลงบ้าง แต่ยังเกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเรื่องอคติทางเพศ ในหลายกรณี จนสร้างผลกระทบทางจิตใจ โดยเฉพาะการกีดกันในการรับสมัครเข้าทำงาน ไม่ได้พิจารณาจากความสามารถและคุณสมบัติ เพียงเพราะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด

  • แม้นโยบายหลายบริษัท ไม่ได้เปิดกว้างมากนักให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ขณะนี้ได้มีบริษัทในไทยบางส่วนเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันบนโลกใบนี้ ด้วยการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานกลุ่มหลากหลายทางเพศ สามารถลาไปผ่าตัดแปลงเพศได้ เป็นข่าวดีในเดือน Pride Month

...

ล่าสุดบริษัทศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ได้ปรับเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานที่มีความหลากหลาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต นอกจากให้พนักงานมีสิทธิลาคลอดบุตร 180 วัน โดยจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ส่วนพนักงานชาย สามารถลางานเวลา 30 วัน เพื่อดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอด หรือกรณีพนักงานสูญเสียคู่สมรส บุตร บิดา มารดา และพี่น้อง สามารถพักใจได้ไม่เกิน 10 วัน และเป็นที่ฮือฮาได้ให้พนักงาน มีสิทธิ์ลาผ่าตัดแปลงเพศได้ไม่เกิน 30 วัน

“รวิศ หาญอุตสาหะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ระบุว่า บุคลากรของศรีจันทร์ มีทั้งหมด 170 คน มีช่วงวัยที่หลากหลาย ตั้งแต่เบบี้บูม จนถึงเจนแซด โดยวัยเกิน 50 ปี มีประมาณ 8% และมีพนักงานในกลุ่ม LGBTQ ประมาณ 10% เมื่อนำข้อมูลพนักงานทั้งหมดมาวิเคราะห์ พบว่าทุกคนอาจต้องการสวัสดิการที่เหมือนกันในบางส่วน แต่บางส่วนควรต้องเพิ่มให้เหมาะสม กับความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคน ท่ามกลางความหลากหลายของบุคลากรของศรีจันทร์ และภาพรวมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

“เป็นการสร้างความสุขให้พนักงาน ที่เป็นเฟืองจักรช่วยเพิ่มกำลังใจให้มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ ให้สามารถลาผ่าตัดแปลงเพศ ลาคลอดไม่หักเงินได้ 180 วัน ลาช่วยภรรยาและบุตรหลังคลอด และลาพักใจหลังการสูญเสีย ให้เหมาะกับความต้องการของพนักงานทุกกลุ่ม ในการเพิ่ม 4 สวัสดิการใหม่ เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีความสุข เมื่อทราบว่าพวกเขากำลังจะได้รับโอกาสดีๆ”

นอกจากนี้ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจตามนโยบายเปิดรับความหลากหลาย โดยจัดกิจกรรมพิเศษตลอดเดือนมิถุนายน ต้อนรับเทศกาล Pride Month หรือช่วงเวลาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกันแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศพร้อมเพรียงกันทั่วโลก

เช่นเดียวกับบริษัทแสนสิริ หนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ ได้ลงนามร่วมกับดีแทค และยูนิลีเวอร์ ในมาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อลดการเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกทางเพศในสถานที่ทำงาน ได้ออกนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน อนุมัติให้พนักงาน LGBTQ สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน และเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ให้พนักงานที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ สามารถลาหยุดงานได้ 30 วัน

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมิ.ย.ปี 2564 ดีแทค ได้อนุญาตให้พนักงาน LGBTQ ลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศและถือเป็นการลาป่วย ได้ไม่เกิน 30 วันต่อปี และยังลาสมรสได้ไม่เกิน 6 วัน มีการให้เงินช่วยเหลือการสมรส 5,000 บาท เพิ่มสิทธิการลาเพื่อรับอุปการะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ไม่เกิน 7 วัน อีกด้วย

...

ไลน์แมน วงใน (LINE Man Wongnai) อีกหนึ่งบริษัทของไทย ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ประกาศสนับสนุนพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านสวัสดิการ และสนับสนุนคนทำงานในบริษัทอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ภายใต้ Core Value อย่าง Respect Everyone การเคารพทุกคนด้วยความเท่าเทียม และการยอมรับความหลากหลายในทุกความต่าง โดยไม่เลือกเพศหรืออายุ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาทำงานในองค์กรอย่างชอบธรรมและเท่าเทียม ด้วยการตัดสินจากผลงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเพศสภาพใดๆ

ปัจจุบันไลน์แมน วงใน มีพนักงาน LGBTQ ประมาณ 10% ของพนักงานทั้งหมด หลายคนอยู่ในตำแหน่งบริหาร เป็นการเปิดกว้างสำหรับทุกคน และมอบสวัสดิการเพิ่มเติมสำหรับพนักงาน LGBTQ ในการให้เงินช่วยเหลือการแต่งงานเพศเดียวกัน 20,000 บาท เทียบเท่าสวัสดิการของคู่แต่งงานชายหญิง เมื่อนำรูปถ่ายงานแต่งงาน มายื่นเป็นหลักฐานได้ พร้อมสิทธิ์วันลา กรณีรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้สูงสุด 10 วัน และลาผ่าตัดแปลงเพศ ได้สูงสุด 30 วัน รวมถึงจัดกิจกรรมให้กับพนักงานในช่วง Pride Month และระดมทุนจากเพื่อนพนักงานในการช่วยเหลือขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศผ่านมูลนิธิต่างๆ

...

เป็นส่วนหนึ่งบริษัทในประเทศไทย ในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ไม่เลือกปฏิบัติและแบ่งแยกทางเพศในสถานที่ทำงาน ด้วยการเพิ่มสวัสดิการในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ เฉกเช่นชายหญิงทั่วไป หวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้หลายองค์กรมีมุมมองใหม่ให้กับสังคมนับจากนี้ ในการสร้างจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นภายในที่ทำงานอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคตอันใกล้.

ผู้เขียน : ปูรณิมา