การเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 อย่างเป็นทางการของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มาพร้อมประเด็นหนักอก หลังอดีตรองผู้ว่า กรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่างบประมาณปี 2565 ของ กทม. เหลือเพียง 94 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการสานนโยบายของผู้ว่าฯ คนใหม่ ได้อย่างรวดเร็ว แต่จะต้องรองบประมาณปี 2566 ในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทำงานสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ข้อจำกัดงบประมาณ รายได้ กทม.น้อยลง

“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หลัง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ภายใต้งบประมาณเดิมปี 2565 มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนจากเดิมได้ แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงท้ายปีงบประมาณ ก่อนจะมีการอนุมัติงบประมาณใหม่ช่วงเดือนตุลาคม และการของบประมาณปี 2566 ของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ สามารถปรับแผนการของบให้เหมาะสมกับนโยบายได้ เพราะร่างงบประมาณขณะนี้ยังอยู่ที่ชั้นกรรมาธิการ

ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และกฎข้อบังคับการหารายได้ จึงเป็นไปได้ยาก ที่จะทำตามนโยบายทั้ง 214 ข้อ ซึ่งหาเสียงไว้ได้สำเร็จ ประกอบกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลมีการผ่อนผันช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดเก็บรายได้น้อยกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรุงเทพฯ

การหารายได้ของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมามีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ไม่เปิดช่องให้สร้างรายได้เพิ่มเติม หรือร่วมมือกับเอกชนได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะยุคชัชชาติ จะต้องระวังการฟ้องร้อง เพราะมีหลายคนจับตา และเตรียมฟ้องร้อง เพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

...

ขณะที่การหารายได้จากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้า ไม่ได้มีรายได้ที่สูงมาก และยังมีปัญหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องเร่งจัดการ เพื่อให้เกิดรายได้ที่เหมาะสม ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย

ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ของกรุงเทพฯ จะต้องจัดการตั้งแต่ภาพใหญ่คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีการปลดล็อก ให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถหารายได้ และร่วมมือกับเอกชน ในการสร้างความร่วมมือ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ

“ตอนนี้งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพฯ ทำให้เห็นถึงจุดด้อยในการบริหารของระบบราชการ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก จ่ายให้กับบุคลากร จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ให้องค์กรมีความคล่องตัวขึ้น และแก้กฎหมายที่เป็นข้อจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น” รศ.ดร.ยุทธพร ทิ้งท้าย


แผนจัดสรรงบปี 66 กทม.ได้ 2.2 หมื่นล้าน

ข้อมูลรายงานของสํานักงบประมาณของรัฐสภา ระบุแผนการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร จํานวน 22,284.3 ล้านบาท
  • เมืองพัทยา จํานวน 1,731.3 ล้านบาท
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จํานวน 1,726.0 ล้านบาท
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จํานวน 940.9 ล้านบาท
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จํานวน 689.9 ล้านบาท