ปริมาณผู้ต้องขังหญิงล้นคุก นอกจากจะสะท้อนคุณภาพชีวิตภายในเรือนจำแล้ว ทำให้เห็นถึงกระบวนการในพิจารณาคดี และการเยียวยารักษาผู้ต้องหา โดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่มีผู้ต้องขังหญิงต้องโทษคดีนี้อันดับต้นๆ และน่าจะถึงเวลาที่ไทย ต้องหามาตรการดูแลผลกระทบ ที่ตามมาอย่างเป็นระบบ

“ชลธิช ชื่นอุระ” ผู้อํานวยการสำนักส่งเสริมข้อกําหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทําผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ทำให้มีนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำลดลง แต่ไทยยังมีผู้ต้องขังหญิง มากที่สุดในอาเซียน โดยมีนักโทษหญิงกว่า 3 หมื่นคนทั่วประเทศ จากนักโทษทั้งหมดกว่า 3 แสนคน โดย 85 เปอร์เซ็นต์ มีการกระทำผิดคดียาเสพติด ที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง รองลงมาต้องโทษคดีเกี่ยวกับทรัพย์ พฤติกรรมของนักโทษหญิงบางส่วน เป็นไปเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เช่น แม่ไปลักของในห้างสรรพสินค้า ช่วงก่อนเปิดเทอม เพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูก

หลังการพิพากษา โดยเฉลี่ยนักโทษหญิงถูกจำคุก 3-5 ปี ถึงจะไม่ยาวนาน แต่ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เนื่องจากนักโทษหญิงหลายคนต้องเลิกรากับสามี และต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง หรือบางบ้านฝ่ายหญิงเป็นเสาหลักเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชราและลูก สิ่งนี้สะท้อนถึงปัญหาที่ตามมา

...

ส่วนการกระทำผิดซ้ำหลังจากถูกปล่อยตัว พบว่า นักโทษหญิงมีการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของนักโทษชาย ที่ 1 ใน 3 กลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปีหลังปล่อยตัว สิ่งนี้สะท้อนว่า พฤติกรรมนักโทษหญิง ไม่ได้มีอุปนิสัยเป็นอาชญากรตั้งแต่กำเนิด ทำให้ต้องมาพิจารณาถึงกฎหมายยาเสพติด ที่มีปัญหาการพิจารณาแบบหว่านแห โดยไม่ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้กระทำผิดในเชิงลึก

หรือการสร้างทางเลือกในการลงโทษ ที่ไม่ใช่การคุมขัง เพราะผู้หญิงหลายคนมีภาระทางครอบครัว แต่ควรให้ไปบริการสังคมในพื้นที่สาธารณะ ในคนที่ต้องโทษไม่ร้ายแรง หรือสร้างกระบวนการบำบัดยาเสพติด ให้กับผู้ต้องหาหญิง ที่มีพฤติกรรมติดยาเสพติด โดยไม่ต้องไปติดคุก

จากการลงไปเก็บข้อมูลนักโทษหญิงในเรือนจำพบว่า หลายรายไม่ได้เป็นคนกระทำผิด แต่ต้องยอมรับผิดแทนคนในครอบครัว เช่น คุณยายอยู่บ้านกับลูกชาย เมื่อตำรวจมาตรวจค้นบ้าน แล้วพบยาเสพติด คุณยายขอรับโทษแทนลูกชาย ที่นำยาเสพติดมาซ่อนไว้

ขณะที่อีกกรณีที่พบบ่อยคือ ซ้อนมอเตอร์ไซค์แฟน โดยไม่รู้ว่าฝ่ายชายพาไปส่งยาเสพติด พอถูกจับ กฎหมายก็ตีความว่า ฝ่ายหญิงผิดไปด้วย ดังนั้นการจะลดปริมาณนักโทษหญิงในเรือนจำได้ ผู้พิจารณากฎหมาย ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมในเชิงลึกให้มากขึ้น

สำหรับการจัดการเรือนจำหญิงล้วน ที่ขณะนี้มี 8 แห่งทั่วประเทศ ควรออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้หญิง เช่น ห้องเยี่ยมญาติ ต้องสร้างบรรยากาศให้เหมาะสม เพราะนักโทษหญิงหลายคน มีลูกๆ มาเยี่ยมบ่อย การที่เด็กได้ซึมซับกับบรรยากาศที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ และควรมีมาตรการเยียวยาจิตใจผู้ต้องขัง เพราะส่วนใหญ่มักจะได้รับความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจมาก่อนจะเข้าเรือนจำ

ในอีกมุมก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ต้องหาถึงกำไล EM ที่มีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับสรีระของผู้หญิงไทย ดังนั้นกรมราชทัณฑ์ ควรมองหาเทคโนโลยี ที่มีขนาดเล็กและเหมาะสม แม้ผู้ต้องขังจะได้กลับบ้าน และใช้ชีวิตปกติ แต่เมื่อต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ขนาดกำไลที่ใหญ่จะทำให้ผู้คนรอบข้างสังเกตเห็นได้ง่าย เหมือนเป็นการประจานทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้น และไม่ต่างอะไรกับการติดคุก ที่หลายคนมองไม่เห็น.