ประเทศจีนมีฉายาหนึ่งที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นโรงงานของโลก สามารถทำให้สินค้าเครื่องใช้ต่างๆ มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากเดิมสินค้าของประเทศจีนมีคุณภาพต่ำ แต่ในทุกวันนี้สินค้ากลับมีคุณภาพดี และราคาเหมาะสม
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้ผลิตหลายรายจากชาติตะวันตกเริ่มแห่ไปตั้งโรงงานในประเทศจีน เนื่องจากมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain นั่นเอง เนื่องจากในประเทศจีนนั้นมีผู้ผลิตวัสดุ หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตหลากหลาย ผู้ผลิตสามารถหาวัตถุดิบ หรือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าได้หลากหลายอีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็คือ ถ้าหากใครเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศจีน ก็จะมีความได้เปรียบเรื่องของค่าแรงที่ถูก วัสดุราคาไม่แพง ทำให้บริษัทพาเหรดไปตั้งในประเทศจีนสามารถมีกำไรส่วนต่างมาก แม้ว่าในอดีตการตั้งโรงงานผลิตในประเทศจีนจะถือว่ายุ่งยากก็ตาม
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาคการผลิต จากเหตุการณ์ล็อกดาวน์ในปี 2020 เรื่อยจนมาถึงปี 2022 เราจะเห็นว่าโรงงานของโลกกลับมีปัญหานี้เสียแล้ว
บทความนี้เราจะมาดูกันว่า เมื่อจีนล็อกดาวน์รอบใหม่ (และครั้งใหญ่) จะกระทบกับปัญหาซัพพลายเชนมากแค่ไหน
เมื่อจีนยืนยันคงนโยบายโควิดต้องเป็นศูนย์
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาซัพพลายเชนในรอบนี้มีปัญหาหนักเพิ่มมากกว่าเดิมก็คือ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero Covid ของจีน ซึ่งไม่ประนีประนอมกับการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ หรือเมืองเล็ก
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า นโยบาย Zero Covid ในระยะยาวจะสร้างต้นทุนให้กับเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ส่งผลต่อ GDP ของจีนในท้ายที่สุด แม้แต่ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวว่า “ไม่ยั่งยืน” ด้วยซ้ำ
...
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีน ยืนยันว่า มาตรการนี้ทำให้จีนเลี่ยงวิกฤติด้านสาธารณสุขแบบที่ประเทศอื่นๆ เผชิญมาได้ ขณะที่ มหาวิทยาลัย Fudan ในเซี่ยงไฮ้ ได้ออกมาเตือนว่า การละทิ้งนโยบายดังกล่าว แล้วปล่อยให้โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายไปทั่วประเทศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.6 ล้านคนได้
นอกจากนี้ ผู้นำระดับสูงของจีนก็ยังออกมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าว และห้ามตั้งคำถามถึงนโยบายนี้ แปลได้ว่า หลังจากนี้จีนจะยังยึดถือนโยบายนี้ต่อไปอยู่ดี
เซี่ยงไฮ้และการค้าของโลก
การล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ได้สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า เซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากรราว 25 ล้านคนนี้ มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 3.8% ของ GDP ประเทศจีน
ขณะเดียวกัน ถ้าหากนับเรื่องการค้านอกประเทศ เซี่ยงไฮ้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยปริมาณการค้านอกประเทศจีนนั้นมีส่วนแบ่งมากถึง 1 ใน 5 คิดเป็น 12% ของปริมาณการค้าโลกเลยทีเดียว
ไม่เพียงแค่นั้น ถ้าหากนับโรงงานใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกอย่าง เทสลา (Tesla) ไปจนถึงผู้ผลิตเครื่องสำอางจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง ชิเซโด (Shiseido) เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้เซี่ยงไฮ้เองก็ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ เราจะเห็นว่าการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ระดับนี้ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง
ล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ส่งผลกระทบขนาดไหน
ผลกระทบของการล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้นั้น อาจกล่าวได้ว่าทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกเข้าขั้น “หายนะ” ได้เลย เนื่องจากความเข้มงวดของมาตรการ Zero Covid จะเกิดขึ้นกับทุกคนในเซี่ยงไฮ้ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานขับรถบรรทุก หรือแม้แต่พนักงานตามท่าเรือเองก็ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น และมีอุปสรรคการทำงานมากกว่าเดิม
บทความในบลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์กับผู้ประกอบการรายหนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีความเข้มงวดกับรถขนส่งสินค้ามาก เนื่องจากกังวลว่าการขนส่งที่ว่านี้จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อจากอีกเมืองหนึ่งสู่อีกเมือง
ไม่ใช่แค่ในรถขนสินค้าเท่านั้น แต่เรือขนส่งสินค้าจากทั่วโลกที่เตรียมนำสินค้าส่งเข้าประเทศจีน หรือนำสินค้าจากจีนส่งออกไปทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบนี้ไปด้วย
ผลสำรวจจาก Shanghai Japanese Commerce & Industry Club ซึ่งได้สำรวจ 54 บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีโรงงานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ พบว่า 63% ของผลสำรวจชี้ว่า บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าอะไรได้เลย
ขณะที่ 28% ผลิตสินค้าได้ต่ำว่า 30% ของกำลังการผลิต มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ผลิตได้มากกว่า 70% ของกำลังการผลิต
แม้ว่าเราจะได้ยินข่าวที่ว่า ผู้ผลิตหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน โดยย้ายไปยังเวียดนาม หรือแม้แต่ไทย แต่วัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่นั้นกลับยังอยู่ในประเทศจีนอยู่ดี
ปัญหาที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ของจีนได้ซ้ำเติมความเสียหายให้มากกว่าเดิม
ผลกระทบสู่ผู้บริโภค
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ ส่งผลกระทบตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาอาดิดาส, ผู้ผลิตลำโพงแบงค์ แอนด์ โอลาฟเซ่น ไม่ต่างจากโซนี่ ซึ่งไม่สามารถผลิต PlayStation 5 ได้มากเพียงพอต่อความต้องการของเกมเมอร์
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง โตโยต้า และ เทสลา กำลังเผชิญกับต้นทุนที่ "ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
นี่เป็นแค่รายชื่อของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคตรียมทำใจไว้ว่าสินค้าหลายชนิดหลังจากนี้อาจมีราคาแพงมากขึ้น หรือไม่ก็อาจเจออุปสรรคอื่น เช่น การขนส่งสินค้าที่ล่าช้า สินค้าอาจมีคุณสมบัติที่ลดลงกว่าเดิม (เช่น ปัญหาชิปในรถยนต์)
...
เศรษฐกิจจีนอาจแย่กว่าที่คาด
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในเวลานี้ได้สร้างความกังวลให้กับการค้า รวมถึงเศรษฐกิจโลกไม่น้อย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองนี้จะเริ่มเห็นผลกระทบ โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 5.5%
ทางด้านแบงก์ออฟอเมริกา มองว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2022 จะเติบโตเหลือแค่ 4.2% เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่าอัตราเงินเฟ้อในจีนก็เพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขค้าปลีกในเดือนเมษายนที่ติดลบ 11% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา แย่กว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ติดลบ 6%
นี่อาจเป็นสัญญาณที่อาจทำให้จีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกรอบ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการที่กลับมาสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่รัฐบาลได้เข้ามาปราบปรามในช่วงปีที่ผ่านมา
เมื่อสัญญาณเศรษฐกิจจีนที่ดูมืดมน ผลกระทบก็เกิดขึ้นกับภาคการส่งออกของไทยด้วย เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งคนไทยคงต้องภาวนาให้เหตุการณ์ในประเทศจีนดีขึ้นบ้าง เพื่อที่จะผ่อนคลายจากสถานการณ์อันย่ำแย่แบบนี้.
...