กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิง เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 เรียกร้องให้ไฟเขียวเปิดสถานบันเทิงยามค่ำคืน ในพื้นที่นำร่อง 28 จังหวัด หลังไทยเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นของปีนี้

กว่า 2 ปี ที่ผู้ประกอบการสถานบันเทิง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต้องปิดตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทำให้พนักงานต้องตกงาน 100 เปอร์เซ็นต์ จากการบอกเล่าของ “ธนากร คุปตจิตต์” ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และหลายคนต้องไปขับวินมอเตอร์ไซค์ หรือไปทำอาชีพอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด การรวมกลุ่มเข้าไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ต้องการให้รัฐบาลมีการทบทวนคำสั่ง และผ่อนปรนในบางพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ และสอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศ

ในข้อเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลทบทวน 28 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่นำร่อง ในการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงยามค่ำคืน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิ-19 โดยแบ่งพื้นที่เป็น 16 จังหวัด เปิดให้บริการได้ทั่วทุกพื้นที่ ส่วน 12 จังหวัด เปิดในบางพื้นที่ แต่สถานประกอบการ จะต้องได้รับการประเมินความปลอดภัย ตามเกณฑ์ "SHA Plus"

...

ระยะเวลาจะเริ่มเปิดทดลอง ในพื้นที่นำร่องตั้งแต่ 1-30 มิถุนายน 2565 จากนั้นทำการประเมินในพื้นที่ว่า มีการแพร่ระบาดของโควิด มากน้อยแค่ไหน หากควบคุมได้ จะทำการเปิดสถานบันเทิงเต็มรูปแบบทุกพื้นที่ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 แต่สิ่งสำคัญของการทดลองครั้งนี้ พื้นที่นำร่อง จะต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น และจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปใช้ได้

แนวทางนี้ถือเป็นการสร้างศักยภาพให้กับประเทศไทย เพราะหากเรายังปิดอยู่ จะส่งผลต่อรายได้ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ที่จะมาถึงในช่วง สิงหาคม-กันยายน ที่หลายประเทศวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ไทยยังไม่มีมาตรการ ที่ชัดเจน ซึ่งภาคธุรกิจ ก็ต้องการความชัดเจน เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นเม็ดเงินหลัก หากรัฐบาลขาดรายได้ส่วนนี้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

ที่ผ่านมามูลค่าความเสียหายของธุรกิจสถานบันเทิง หลายแสนล้านบาท การที่รัฐบาลเปิดประเทศ ถือเป็นเรื่องดี ที่ผู้ประกอบการจะได้ค่อยๆ ฟื้นฟูธุรกิจหลังปิดไปนาน เพราะการกลับมาเปิดใหม่ ต้องมีการเรียกพนักงานให้กลับมาทำงาน แต่หลายคนก็ไม่กลับมา เนื่องจากไปประกอบอาชีพอื่น ดังนั้นการมีมาตรการที่ค่อยๆ ผ่อนปรน จึงเป็นเรื่องดี และส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น

ธนากร คุปตจิตต์
ธนากร คุปตจิตต์

อีกประเด็นที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การเรียกร้องครั้งนี้ มีการเสนอให้ผ่อนผันพื้นที่นำร่อง 28 จังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่คล่องตัว ซึ่งพื้นที่นำร่องส่วนใหญ่ เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่หากไม่มีการผ่อนปรนข้อบังคับ จะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจ และแรงงานในระบบกระทบมากขึ้น.