ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่า ใครหลายคนน่าจะได้ยินคำศัพท์ทางเศรษฐกิจคำหนึ่งเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือคำว่า “Stagflation” 

ผมเชื่อว่า หลายคนอาจสงสัยว่าคำนี้มันคืออะไร ทำไมคำนี้ถึงเป็นประเด็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งไทยและต่างประเทศ

ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่า Stagflation คืออะไร ผลกระทบที่ตามมา รัฐบาลหรือธนาคารกลางแต่ละประเทศจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร และประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิด Stagflation หรือไม่

ทำความเข้าใจกับ Stagflation

คำว่า Stagflation เป็นคำที่ผสมระหว่างคำว่า Stagnation และ Inflation เข้าด้วยกัน ความหมายของคำนี้นั่นก็คือสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้า แต่มีอัตราการว่างงานที่สูง รวมถึงสภาวะที่เงินเฟ้อสูง

คำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1965 เมื่อ Iain Macleod นักการเมืองพรรคอนุรักษนิยมชาวอังกฤษ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาล่าง โดยเขาได้กล่าวว่า "ตอนนี้เรามีความเลวร้ายที่สุดของทั้งสองโลก ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่เป็นทั้งสองอย่างรวมเข้าด้วยกัน แต่เรามีสถานการณ์ Stagflation”

ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า Stagflation ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานเองนั้นจะอยู่ในทิศทางตรงข้ามกัน เช่น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานจะต่ำ แต่ในช่วงก่อนปี 1970 นั้นสิ่งดังกล่าวกลับกลายเป็นจริงขึ้นมา

สาเหตุของ Stagflation

นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า Stagflation นั้นเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังนี้

  1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางมีความผิดพลาด
  2. นโยบายการคลังของรัฐบาลก็มีความผิดพลาด
  3. ปัญหาของอุปทานช็อก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนสินค้าหรือปัจจัยการผลิต ในกรณีนี้ที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือการขาดแคลนชิปในภาคการผลิต ส่งผลทำให้การผลิตเกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

...

สำหรับความเสี่ยงของ Stagflation ช่วงนี้ ปัจจัยหลักนั่นก็คือปัญหาของอุปทานช็อก เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง ซ้ำร้ายยังมีปัจจัยเร่งความเสี่ยงดังกล่าวอีกนั่นก็คือการบุกยูเครนของรัสเซีย ที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างมาก

ผลของ Stagflation ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ

ผลที่ตามมาของ Stagflation ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนั่นก็คือ การเติบโตของ GDP ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การว่างงานสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดแรงกดดันอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

ผลกระทบสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือผู้คนมีรายได้น้อยลง โอกาสในการตกงานมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มมากขึ้น ไล่ตั้งแต่อาหารไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่ราคาพลังงาน ซึ่งผลที่ตามมาคือการใช้จ่ายชะลอตัวลง

ขณะที่ ผลกระทบกับภาคเอกชนก็คือรายได้ของบริษัทก็ลดลง ซ้ำร้ายต้นทุนของวัตถุดิบที่บริษัทต้องนำมาผลิตก็กลับสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงของภาคเอกชนที่จะปลดพนักงานมากขึ้น เนื่องจากต้องควบคุมค่าใช้จ่าย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจแย่ลง ประชาชนหรือภาคเอกชนเองขาดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าไทยเคยอยู่ในภาวะ Stagflation ในปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำติดต่อกันหลายปี ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว

เหตุการณ์ Stagflation ในปี 1980 ยังเป็นสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยอีกด้วย

ทางออกของ Stagflation อยู่ตรงไหน

ทางออกในการปราบ Stagflation นั่นก็คือการแก้ปัญหาของอุปทานช็อก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ทำให้สินค้าออกมาเพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องของการจ้างงานให้มากขึ้นได้อีก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็สามารถใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนให้การผลิตในประเทศ หรือจูงใจให้บริษัทจากต่างชาติมาผลิตสินค้าในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้การแก้ปัญหา Stagflation ก็ต้องใช้ความร่วมมือของรัฐบาลและธนาคารกลางร่วมกันในการแก้ปัญหา เพราะถ้าหากอาศัยนโยบายจากธนาคารกลางในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่มากเกินไปก็เพิ่มความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าหากลดดอกเบี้ยนโยบายก็มีความเสี่ยงที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงได้

ไม่เพียงเท่านี้การแก้ปัญหา Stagflation ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่แก้ปัญหาอะไรเลยก็อาจทำให้สภาวะดังกล่าวเลวร้ายได้ อย่างในกรณียุค 1970 ที่เกิดปัญหาน้ำมันแพงส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลกลับไม่แก้ปัญหาน้ำมันแพง จนท้ายที่สุดปัญหานี้ได้กลับส่งผลต่อเศรษฐกิจเอง

ไทยและความเสี่ยงในสภาวะ Stagflation

ถ้าหากเราดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากเว็บไซต์ Tradingeconomics อยู่ที่ 5.73 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังได้ทำลายสถิติอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดของไทยในรอบ 13 ปี ซึ่งประชาชนหลายภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบไปบ้างแล้ว เช่น ราคาข้าวของแพงมากขึ้นจากปัจจัยของราคาน้ำมัน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ว่า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าถ้าหากไทยจะไม่เกิด Stagflation เศรษฐกิจไทยเองก็ต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราไปดูมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทย ไม่เข้าข่ายภาวะ Stagflation โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2022 นี้ต่อเนื่องไปยังปี 2023 จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงจะทยอยคลี่คลายลงในช่วงต้นปี 2023

...

นอกจากนี้ กนง. ยังมองว่าผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิด Stagflation อาจยังไม่เข้าข่าย ณ เวลานี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลากหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิด Stagflation ก็เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาล หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจต้องมีมาตรการออกมาล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวจะย้อนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจไทยในภายหลัง และนั่นจะส่งผลต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้

...