ค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ที่หากยังคงอยู่ จะยิ่งทำให้คดีล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศมีมากขึ้น และลุกลามไปทุกวงการ รวมทั้งในแวดวงการเมืองล่าสุด ที่มีบุคคลที่เป็นระดับรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาว และอยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ไม่เพียงเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นปัญหาสังคมที่ร้ายแรง ยังมีพฤติกรรมของคนจำนวนหนึ่งที่สะท้อนค่านิยม "ชายเป็นใหญ่" อย่างการมีบ้านเล็ก บ้านน้อย สิ่งนี้สะท้อนถึงจริยธรรมที่จะต้องมีการวางกรอบเพื่อปฏิรูปพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในองค์กรหน่วยงานต่างๆ รวมถึงนักการเมือง 

เพิ่มกฎสมาชิกพรรคต้องไม่เคยมีคดีความทางเพศ 

การคุกคามทางเพศ ที่เชื่อมโยงกับการเมืองในมุมมองของ “ดร.รัชดา ธนาดิเรก” รองโฆษกรัฐบาล ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวทีเสวนา “คุกคามทางเพศ & คุกคามทางการเมือง” จัดโดยมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นทุกคนในพรรค เสียใจและเจ็บช้ำกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามองภาพรวมการล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นปัญหาสังคมที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพราะในระบบการเมืองทั่วโลก จะมีลักษณะ “ชายเป็นใหญ่” จนมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการกล่าวหา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการล่วงละเมิดทางเพศ หรืออังกฤษมีรายงานว่า สมาชิกในสภา มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ 56 คน

ทั่วโลกมีการประเมินว่า อำนาจการเมืองกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมือผู้ชาย นักการเมืองบางคน เมื่อมีชื่อเสียงก็มักหลงคิดว่า ผู้หญิงที่เข้ามาอยากมีความสัมพันธ์ แต่จริงแล้ว อาจเข้ามาเพราะชื่นชมในความสามารถ ไม่ได้คิดเกินเลย แต่ฝ่ายชายมักคิดว่า มีใจให้ จนเกิดการล่วงละเมิดทางเพศขึ้น ซึ่งบางคนมีการก่อเหตุซ้ำ เนื่องจากมีชื่อเสียงและอำนาจ ทำให้เหยื่อไม่กล้าแจ้งความ หรือกลัวจะอับอาย

...

ในบทบาทของพรรคการเมือง จึงต้องพยายามเลือกเฟ้นสมาชิกพรรคที่มีความสามารถ และประพฤติตนเองเป็นแบบอย่าง จากเหตุการณ์นี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีการปรับแก้ข้อบังคับพรรคว่า คนที่เป็นสมาชิกได้จะต้องไม่เคยตกเป็นคดีความทางเพศ และสร้างความเข้าใจให้กับนักการเมืองโดยร่วมกับภาคเอกชน อบรมเจ้าหน้าที่และสมาชิกพรรคให้ตระหนักในการไม่ล่วงละเมิดสิทธิ จึงเป็นแนวทางที่ทุกพรรคการเมืองสามารถนำไปใช้ เพื่อให้เกิดระบบคัดกรองบุคลากรทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

ชายเป็นใหญ่ สะท้อนอำนาจกับการปิดปากทางสังคม

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าถึง การล่วงละเมิดทางเพศ หากผู้กระทำผิดมีอำนาจ เป็นเรื่องยากที่เหยื่อจะกล้าแจ้งความ เพราะสังคมไทยยังมีค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ทำให้เห็นผู้บริหารในองค์กรที่เป็นผู้ชาย บางคนมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศลูกน้อง จึงเป็นสิ่งที่ยากในการแก้ไข แต่การจะหยุดพฤติกรรมนี้ได้ ต้องมีระบบการลงโทษที่รุนแรง และเป็นธรรม

เท่าที่สังเกตเห็น เหยื่อส่วนใหญ่เป็น คนชรา ผู้พิการ และคนในระดับรากหญ้า ที่มักถูกละเลยจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่กล้าไปแจ้งความ จนถูกกระทำซ้ำเรื่อยๆ เช่น กรณีที่เป็นข่าวว่า หญิงสาวมารอรถ ที่ป้ายรถเมล์ไปทำงานตอนตี 4 ถูกชายที่ขับรถกระบะมาจอด พยายามใช้มีดจี้ให้ขึ้นรถ โชคดีฝ่ายหญิงหนีรอดมาได้ แต่พอไปแจ้งความเจ้าหน้าที่กลับบอกว่า พื้นที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด แต่พอเหยื่อนำเรื่องไปแจ้งกับสื่อ ทางตำรวจกลับกระตือรือร้น จนหากล้องในพื้นที่ใกล้เคียง จนจับคนร้ายได้


การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างสังคม ควรเริ่มจากภายในครอบครัว โดยพ่อแม่พยายามสอนลูก ให้เกียรติกับเพศตรงข้าม และรู้จักเว้นระยะห่างในสถานการณ์ที่เหมาะสม ถ้ามีสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยง ต้องรู้จักเอาตัวรอด แต่หากตกเป็นเหยื่อแล้วต้องพยายามหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจ เพื่อเก็บหลักฐานและแจ้งความเอาผิด

เหยื่อสุดช้ำ เพราะกฎหมายไม่เอื้อช่วยเหลือ

“ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” ประธานองค์กรทำดี เล่าถึงสถานการณ์ หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เหยื่อเป็นคนในระดับล่างชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในท้องถิ่น บางคนใช้อำนาจในการปิดบังการกระทำความผิดของตัวเอง จนเหยื่อไม่กล้าแจ้งความ เช่น กรณีสามีของเจ้าหน้าที่รัฐแห่งหนึ่งถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดเด็กหญิง ตั้งแต่เด็ก แต่ถูกภรรยาข่มขู่ว่า หากครอบครัวเด็กนำเรื่องไปแจ้งความจะถูกทำร้าย หรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ

การแก้ปัญหาควรจะต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะหลายกรณียังมีช่องว่าง ตัวอย่างเช่นเด็กรายหนึ่ง เข้าไปแจ้งความแล้วถูกตำรวจถามว่า มีหลักฐานหรือไม่ เด็กคนนั้นจึงวางแผนให้เพื่อนแอบเข้าไปถ่ายคลิปในห้องระหว่างที่ตนเองถูกกระทำ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของเหยื่อ ที่กฎหมายไม่พยายามใช้อำนาจมาปกป้อง แต่เอื้อให้คนกระทำผิด

ทนายแนะวิธีเอาตัวรอดจากการถูกข่มขืน ล่วงละเมิด

“ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์” ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ กล่าวว่า ทางกฎหมายการเอาผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศของไทย ส่วนใหญ่เป็นระบบกล่าวหา ความผิดจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำให้ผู้อื่นเสียหาย หลายคดีผู้ที่กล่าวหากลับถูกฟ้องกลับ เพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่เพิ่งมาแจ้งความ เช่น ผู้ที่มาฟ้องมีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป มีพยานเพียงปากเดียว ดังนั้นการรวบรวมหลักฐานให้มากที่สุด เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรจะมีความรัดกุม ก่อนมาแจ้งความ ยกเว้นกรณีเยาวชนที่อายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนใหญ่ศาลจะรับพิจารณา แม้มีหลักฐานน้อย เพื่อปกป้องเด็กจากการเป็นเหยื่อ

...

สิ่งสำคัญ เมื่อเสี่ยงจะถูกข่มขืน หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

  • พยายามช่วยเหลือตัวเองให้รอดจากสถานที่ตรงนั้นก่อน โดยตะโกน หรือโวยวายเพื่อขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในพื้นที่
  • ใช้มือถือถ่ายรูป หรือเก็บข้อมูลคนร้าย จากสถานที่นั้นให้มากที่สุด
  • ควรขัดขืน ใช้เล็บขีดข่วนบนร่างกายของคนร้าย เพื่อให้ได้หลักฐานส่วนที่เป็นผิวหนังของคนร้าย ติดมากับเล็บของเหยื่อ เพื่อจะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอของคนร้าย
  • หากมีการล่วงละเมิดจากผู้บังคับบัญชาในระบบราชการ ควรเก็บหลักฐาน นำเรื่องไปร้องเรียนกับ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยตรง เพราะที่ผ่านมาต่อให้แจ้งกับผู้บังคับบัญชา เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ตามระเบียบที่ตั้งขึ้น แต่การพิจารณาความผิดส่วนใหญ่ ผู้กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษ หรือหากทำโทษก็เบา ทั้งที่จริงความผิดนี้ สามารถให้ออกจากราชการได้
  • การดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศ ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ระบุโทษขั้นต่ำไว้ ทำให้ผู้กระทำผิดที่มีเงินและชื่อเสียง สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อให้เงินในการลดโทษได้ พอเป็นเช่นนี้ ผู้กระทำผิดอาจกลับไปทำผิดซ้ำได้

...