เคยสังเกตไหมว่า พื้นที่สาธารณะ ที่เด็กรุ่นใหม่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เล่นสเกตบอร์ด แต่งคอสเพลย์ แสดงงานศิลปะ ส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่ของเอกชน อย่างห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือร้านค้าต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีค่าใช้จ่าย ขณะที่ พื้นที่สาธารณะของรัฐบาล ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกกลับมีน้อยมาก และนี่เป็นอีกเรื่องที่เป็นนโยบายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2565 นี้

พื้นที่สาธารณะ...ที่ไม่สาธารณะ

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ที่ในความหมายคือพื้นที่เปิดกว้างให้ผู้คนทั่วไปทุกเพศทุกวัยเข้าไปใช้พื้นที่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้งานอยู่พอสมควร จนทำให้หลายคนเกิดความเบื่อหน่ายในการขอใช้สถานที่ซึ่งนิยามว่าตนเองเป็นพื้นที่สาธารณะแต่ไม่สาธารณะสมชื่อ

“เวลาที่ต้องขอใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ถ่ายงานภาพนิ่ง กลับต้องทำเรื่องเอกสารมากมายจุกจิกจนเกินไป ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน ทั้งที่เราก็เป็นผู้เสียภาษีซึ่งมีสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน แต่การที่ต้องดำเนินเรื่องขออนุญาตหลายขั้นตอนก็ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีรู้สึกเบื่อหน่ายกับระบบราชการที่ล่าช้า” ฮิปโป-สมภพ กิตติสารธรรม สไตล์ลิสและอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ เอ่ยถึงความยุ่งยากในการใช้พื้นที่สาธารณะ

...

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดพื้นที่สาธารณะ จึงไม่สาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรที่อาศัยในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ คำว่าพื้นที่สาธารณะ ยังหมายถึงพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะอย่างเดียวหรือไม่ และมีความสำคัญต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง เรามาหาคำตอบกัน

นิยามของคำว่าพื้นที่สาธารณะ

คำจำกัดความของพื้นที่สาธารณะมีหลายรูปแบบ ซึ่งหลายคนมักเข้าใจว่า “พื้นที่สาธารณะ” เท่ากับ “สวนสาธารณะ” แต่ความจริงแล้ว พื้นที่สาธารณะ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงว่าต้องเป็นพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ที่ให้ผู้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด ไม่จำเป็นว่าต้องมีขนาดใหญ่ มีพื้นที่หลายไร่ แค่เพียงพื้นที่ท้ายซอยขนาด 50 ตารางเมตรขึ้นไป ก็สามารถบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้แล้ว

สวนเบญจกิตติ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ
สวนเบญจกิตติ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ

เจนณรงค์ ซาก้า อดีตสถาปนิก บริษัท Plan Associates และอาจารย์ภาควิชา DBTM คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่วันนี้อาสามาเป็นผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เขตดุสิต ได้อธิบายถึงคำจำกัดความของพื้นที่สาธารณะว่า ต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้งานได้ มีความปลอดภัย และต้องเดินทางสะดวก

“พื้นที่สาธารณะในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่ต้องเดินทางไกล ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งาน อย่างในเขตดุสิตมีพื้นที่รกร้างตามชุมชนเยอะมากที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ แค่ปรับพื้นที่ท้ายซอยในชุมชนที่เดิมถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายหรือสวนหย่อม ก็เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนในชุมชนได้แล้ว”

พื้นที่สาธารณะกับคนในชุมชน

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พบในเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะก็คือ “ขาดการดูแล” หลังจากที่ส่งมอบให้กับคนในชุมชน ทำให้ถูกทิ้งจนกลายเป็นที่รกร้างในที่สุด เพราะที่ผ่านมาอาจไม่ได้ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในชุมชนมากนัก จึงไม่รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ดีคือต้องรองรับความต้องการของทุกคนในชุมชน และสามารถใช้งานได้ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงคนพิการ ด้วยการออกแบบที่เป็น Universal Design

หัวใจของการออกแบบพื้นที่สาธารณะจึงมาจากการพูดคุยระหว่างนักออกแบบและคนในชุมชน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเห็นภาพและเข้าใจตรงกันว่าอยากได้พื้นที่สาธารณะแบบไหน ซึ่งนักออกแบบจะต้องเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของคนในชุมชนก่อน จึงจะสามารถออกแบบให้ถูกใจผู้ใช้งานในพื้นที่ได้

ลานกีฬาพัฒน์ 2 พื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนศรีรัช ที่พัฒนาให้ตอบรับกับความต้องการของคนในชุมชน
ลานกีฬาพัฒน์ 2 พื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนศรีรัช ที่พัฒนาให้ตอบรับกับความต้องการของคนในชุมชน

...

“จากที่ได้คุยกับคนในพื้นที่เขตดุสิต พบว่าคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดส่วนใหญ่อยากได้พื้นที่สาธารณะที่ใช้เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวได้ เพราะช่วยให้เขาประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่อาหารมีราคาแพง ซึ่งคนในพื้นที่เขตดุสิตมีความตื่นตัว และให้ความสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะค่อนข้างมาก โดยตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ เมื่อเสร็จสิ้นจากการเลือกตั้ง ส.ก.แล้วจะมีการดำเนินการก่อสร้างต่อไป”

ภาพจากเฟซบุ๊กลานกีฬาพัฒน์ 2
ภาพจากเฟซบุ๊กลานกีฬาพัฒน์ 2

นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่สาธารณะที่คนส่วนใหญ่ต้องการไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ใช้งานอื่นๆ เช่น ลานกีฬา ลานแสดงศิลปวัฒนธรรม ลานกิจกรรมต่างๆ การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ จะทำให้คนอยากช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง

...

พื้นที่ที่จัดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ได้แก่

1. สวนสาธารณะ
2. สวนหย่อมในชุมชน
3. พื้นที่ริมทางใต้สะพานแม่น้ำเจ้าพระยา
4. พื้นที่ใต้ทางด่วนในกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะพื้นที่ใต้ทางด่วนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกันแล้วกว่า 600 ไร่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่กลับกลายเป็นแหล่งมั่วสุมที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งความจริงแล้วสามารถนำพื้นที่ส่วนนี้มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนในชุมชนใกล้เคียงสามารถมาใช้ออกกำลังกายได้โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินใช้บริการในฟิตเนสราคาแพง ดังนั้นคนทุกระดับรายได้จึงสามารถเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีได้ง่ายขึ้น เช่น ลานกีฬาพัฒน์ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนศรีรัช บริเวณแยกอุรุพงษ์ ที่พัฒนาให้คนในชุมชนละแวกนั้นสามารถใช้งานร่วมกันได้

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีที่สร้างขึ้นบนกลางถนนสุรวงศ์และถนนสาทร ด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีที่สร้างขึ้นบนกลางถนนสุรวงศ์และถนนสาทร ด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท

...

“พื้นที่สาธารณะในความคิดของผมคือการปรับปรุงและพัฒนาของเดิมที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ท้ายซอยในชุมชน สถานที่ราชการ และที่สำคัญคือต้องเป็นพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึง และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เจนณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย