ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอีกนโยบายที่ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ ต่างนำเสนอ เพื่อดึงดูดคะแนนเสียง ภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือด อะไรเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คนกรุงอยากเห็นจากผู้ว่าฯ คนใหม่ ผ่านสายตานักวิชาการที่จะมาวิเคราะห์เรื่องการจัดการน้ำ

"ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์" ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ประสานได้กับทุกหน่วยงาน เพราะปัญหาน้ำท่วมมีปัจจัยมาจากสิ่งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีน้ำเหนือหนุน จะต้องประสานได้กับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และมหาดไทย ที่จะช่วยจัดการน้ำที่มาจากแม่น้ำปิง, วัง, ยม, น่าน ก่อนจะเข้ามาท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน


อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคือ ฝนที่ตกลงมามากในบางพื้นที่ ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขัง เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมได้ แต่ต้องมีการเตรียมพร้อม เร่งระบายน้ำตามกลไกที่มี ส่วนอีกปัจจัยมาจากน้ำทะเลหนุน ที่กรุงเทพฯ สามารถควบคุมได้ผ่านกำแพงกั้นน้ำ หรือระบบสูบน้ำที่ช่วยระบาย

...

ปัญหาน้ำเน่าเสียตามคูคลอง เป็นอีกประเด็นที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากกรุงเทพฯ มีบางพื้นที่เป็นย่านเก่า ที่บ้านในยุคก่อนไม่ออกแบบให้มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่พื้นที่สาธารณะ จึงทำให้น้ำในพื้นที่มีปัญหา

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์
ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์


เช่นเดียวกับในบางพื้นที่ ซึ่งบ้านรุกล้ำพื้นที่คลอง ทำให้ไม่มีระบบการบำบัดน้ำเสียที่เป็นระบบ แต่กลับปล่อยน้ำเสียและขยะตามบ้านเรือนลงในคลอง ซึ่งการจัดการค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องประสานกับหลายหน่วยงานในการเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การประสานงานที่มีปัญหาเกิดจากระบบราชการที่ยังไม่ตอบสนองการทำงาน


การจัดการปัญหาน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ยังไม่เห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ คนไหนมีนโยบายที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ต่างจากสิงคโปร์ที่กำหนดนโยบายว่า ให้คนในเมืองที่มีบ้านเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ช่วยให้เวลามีฝนตก น้ำจะได้ซึมลงใต้ดินได้ง่ายกว่าการเป็นพื้นปูนทั้งหมด หากบ้านไหนมีพื้นที่สีเขียว ทางหน่วยงานรัฐจะลดหย่อนภาษี

หรือหากอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะมีมาตรการทางภาษีช่วยเหลือ การทำงานแบบนี้นอกจากประชาชนจะมีส่วนร่วมแล้ว ภาครัฐก็ไม่ต้องไปเสียเงินมหาศาลเพื่อลงทุนก่อสร้างให้เปลืองงบประมาณ.