ผู้ชมทั่วโลกต้องตกตะลึงงงงวย กับเหตุการณ์สุดช็อก “วิลล์ สมิธ” เดินขึ้นไปตบหน้า “คริส ร็อก” บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 28 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพราะไม่พอใจมุกตลกล้อเลียน “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” ภรรยาของเขาที่เป็นโรคผมร่วง ต้องตัดผมสั้นทรงสกินเฮด ว่าควรจะเล่นหนัง จี.ไอ.เจน (G.I. Jane) เนื้อหาเกี่ยวกับทหารหญิงที่โกนหัว ในภาคต่อไป

จนเจดา พินเก็ตต์ สมิธ กรอกตาไปมาแสดงออกว่าไม่พอใจอย่างมาก และวิลล์ สมิธ รู้สึกกระอักกระอ่วนไม่ขำด้วยกับมุกตลกหยอกล้อที่เรียกว่าการบูลลี่ ต่อหน้าสาธารณะ ทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ แม้หลายคนรู้สึกเห็นใจและตำหนิคริส ร็อก แต่ก็ไม่สนับสนุนในการใช้ความรุนแรง ต่างวิพากษ์วิจารณ์รับไม่ได้ต่อการกระทำของวิลล์ สมิธ

ล่าสุดวิลล์ สมิธ ได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรม ขอโทษคริส ร็อก รวมถึงผู้จัดงานออสการ์ ผู้เข้าร่วมงานทุกคน และผู้ชมทั่วโลก ส่วนคริส ร็อก ก็ออกมาขอโทษวิลล์ สมิธ เช่นกัน เป็นตัวอย่างที่ดีเมื่อทำผิด ต้องขอโทษ แม้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

...

บทเรียนการบูลลี่ที่ไม่ขำ ประมาณว่า ”เมียข้าใครอย่าแตะ” ฉาวไปทั่วโลกบนเวทีออสการ์ ไม่ควรมองข้าม แม้บางคนมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่แซวกันเล่นๆ ตลกๆ ขำๆ ในเพื่อนฝูง แต่อาจกระทบจิตใจคนถูกบูลลี่ ให้ย่ำแย่หนักก็ได้

ยิ่งขณะนี้โลกโซเชียล เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้คนไปแล้ว การจะเขียนข้อความใด ต้องระมัดระวังให้มากๆ ในการสร้างบาดแผล ความเจ็บปวดให้กับผู้คนโดยไม่รู้ตัว จนสร้างความเสียหายมากขึ้น ตามที่ “นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ” จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาย้ำเตือนคนในสังคม และถือว่าเหตุการณ์บนเวทีออสการ์ เป็นบทเรียนที่ดีมาก ในการถอดบทเรียนนำมาแก้ไขใช้กับคนรอบข้าง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจในการใช้ชีวิต อย่าให้ปล่อยผ่านไป และอย่าแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง อาจเกิดความเสียหายตามมามากยิ่งขึ้น

เพราะปัจจุบันการบูลลี่ มีหลากหลายค่อนข้างมากที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน เป็นการบูลลี่ต่อหน้าทั้งทำลายจิตใจ กระทำความรุนแรงทางกาย ทำลายของ และด้วยคำพูด รวมถึงการเพิกเฉยขับออกจากกลุ่ม โดยเฉพาะปัจจุบันมีการไซเบอร์บูลลี่ บนโลกออนไลน์

“สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีออสการ์ มีความรุนแรงหลายอย่าง เพราะวิลล์ สมิธ ถูกเอาเรื่องสุขภาพของภรรยานำไปเป็นเรื่องโจ๊ก ซึ่งคนถกเถียงกันว่าเป็นการบูลลี่ หรือเรื่องตลก บางคนมองว่าเป็นเรื่องตลก ไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่ได้ตัดเกณฑ์จากคนพูด แต่คนตัดสิน คือคนถูกพูดถึง หรือคนฟัง หากมองว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องตลก ก็ไม่เป็นไร แต่บางคนอาจรู้สึกไม่ดีที่ได้ยิน เช่นคำว่าตุ้ยนุ้ย บางคนฟังมองว่าน่ารักดี แต่อีกคนฟังแล้วรู้สึกแย่ ต้องดูว่าคนที่ถูกพูดถึงรู้สึกอย่างไร”

...

จากกระแสทั่วโลกมีหลายคนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของวิลล์ สมิธ และคิดว่าภรรยาของเขา ไม่สมควรโดนล้อเลียนเช่นกัน เพราะอาจรู้สึกเจ็บช้ำทางใจ แต่การใช้ความรุนแรงตอบโต้ ไม่ควรกระทำ ควรตั้งสติคุมอารมณ์ ทำให้ผลเสียมีน้อยกว่า และจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ อาจเสี่ยงถูกยึดคืนรางวัลออสการ์ ทั้งๆ ที่สามารถรอชี้แจงกับนักข่าวได้

หรือมีหลายวิธีในการจัดการ ไม่ใช่ทำเพื่อความสะใจ โดยที่ผ่านมาวิลล์ สมิธ ค่อนข้างรับมือได้หลายเรื่อง อาจมีบางเรื่องมากระตุ้นอารมณ์ จากโรคผมร่วงของภรรยาที่น่าเห็นใจ และด้วยความเป็นมนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึกแย่ๆได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง

เหตุการณ์นี้ได้ตอกย้ำว่าการบูลลี่ในเรื่องสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งความรุนแรงทางคำพูด โดยคนทั่วโลกออกมาต่อต้าน เช่นเดียวกับการกระทำทางกาย อยากให้คนไทยได้รู้ว่า ไม่เหมาะกับการล้อเล่น เช่น เรื่องของสังขาร มีการล้อว่าคนนั้นคนนี้ตาเหล่ ฟันเหยิน นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะขำทั้งหมด

...

ยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบันนี้มองเป็นเรื่องของทุพพลภาพ และโรคของสังขารอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคทางกาย หรือการล้อเล่นกันว่าเป็นไบโพลาร์ ซึ่งไม่ควรทำทั้งเรื่องสุขภาพจิตและสุขภาพกาย กระทั่งเรื่องส่วนสูง เพศสภาพ อายุ การศึกษา และสถานะทางการเงิน ไม่ควรนำมาล้อเล่น รวมถึงเรื่องความเชื่อ ศาสนา การเมือง หรือเรื่องนอกจากนั้น

การจะล้อเล่นหรือปล่อยมุกตลกกับใคร ต้องสนใจดูว่าคนฟังมีท่าทีอย่างไร บางคนอาจจะยิ้มแย้มในช่วงแรก และในวันหนึ่งอาจจะมาบอกว่าไม่โอเคกับสิ่งที่ได้ยิน ทางคนพูดจะต้องขอโทษทันที อย่าแถหาข้อแก้ตัว อย่าเพิกเฉยเหมือนทอดทิ้งอารมณ์ความรู้สึกคนฟัง

ในกรณีคนที่ถูกบูลลี่ จากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะต้องตั้งสติควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี และรอให้อาการนิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือทำร้ายตัวเอง และเมื่อคุมอารมณ์ได้ ให้เดินไปบอกคนพูดอย่างสุภาพว่า ช่วยอย่าพูดคำเช่นนั้นอีก เพื่อให้ความสัมพันธ์คลี่คลายในทางที่ดีด้วยการค่อยๆ พูดกัน

ยกเว้นกรณีอีกฝ่ายไม่หยุด แสดงว่าเป็นการบูลลี่จริงๆ จะต้องงดการโต้ตอบ เพราะอีกฝ่ายต้องการกดดันให้ตอบโต้ตามความต้องการอยู่แล้ว อาจแจ้งให้คนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ หรือในสถานศึกษา ควรแจ้งครูและผู้ปกครอง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะตอบโต้ที่อาจบานปลายเสียหายมากขึ้น

...

“จริงๆ แล้ว มีเรื่องที่คุยได้สนุก คุยเล่นกันได้ และการอยากจะแซวเล่น เพื่อทำให้การสานสัมพันธ์ดีขึ้น อาจเปลี่ยนในรูปแบบอื่นแทน ในการพูดคุยในเรื่องบวก หรือไม่แน่ใจว่าการแซว จะทำให้เพื่อนไม่พอใจหรือไม่ อาจถามตรงๆ กันไปเลย ถ้าเป็นห่วงความรู้สึกของอีกคน หากไม่โอเค ก็ขอโทษ มีการเคารพซึ่งกันและกันในการหลีกเลี่ยงที่จะพูดในสิ่งที่ทำลายความรู้สึก”.