ประเทศไทย เข้าสู่ยุคเด็กเกิดใหม่น้อยลง ลดเหลือ 544,570 คนในปี 2564 อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมากอยู่ที่ 1.51 คน สวนทางกับประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าปี 2568 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุ 60 ปี มากกว่า 14.5 ล้านคน หรือ 20.7% ของประชากรทั้งหมด

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยอาจจะเหลือประชากรไม่ถึง 40 ล้านคน ทำให้ภาครัฐกังวลจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในการพัฒนาประเทศ กระทบต่อการจัดเก็บภาษีในอนาคต จนงบประมาณไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้สูงอายุจำนวนมาก อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่มีลูกหลานดูแล ต้องตกเป็นภาระของรัฐ

ประชากรไทยเคยเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านคน ในปี 2503 มาเป็น 34 ล้านคน ในปี 2513 มากถึง 8 ล้านคนในช่วง 10 ปี หรือหญิง 1 คนมีบุตรเฉลี่ยมากกว่า 5 คน ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้น มีนโยบายวางแผนครอบครัว กระตุ้นการคุมกำเนิด ทั้งทำหมัน ใส่ถุงยาง เพื่อชะลอการเกิด ผ่านคำขวัญจนติดหูผู้คน “มีลูกมาก จะยากจน” ในปี 2515

ความสำเร็จหลังจากนั้น ผ่านไป 50 ปี เด็กเกิดใหม่เริ่มน้อยลงต่อเนื่อง จากค่านิยมในสังคมไทยคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการมีลูก เพราะไม่อยากมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย และคนไทยเป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการศึกษาและมีอาชีพมั่นคง มองการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญ กระทั่งปี 2564 จำนวนเด็กแรกเกิด ต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป

เด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงมาก อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.51 คน
เด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงมาก อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.51 คน

...

นำไปสู่ความพยายามของภาครัฐ ในการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น ผ่านนโยบาย "นัดเดตคนโสด" และมีแนวคิดจะเชิญอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีความสุขในการเลี้ยงลูก มาเป็นตัวอย่างการวางแผนครอบครัวกระตุ้นให้คนมีลูก กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย เพราะคนจำนวนมากมองว่าสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการมีลูกและครอบครัว ด้วยเหตุผลมากมาย โดยเฉพาะการไม่อยากแบกภาระหนักอึ้ง

หรือแม้มีมาตรการส่งเสริมให้คนไทย มีบุตรมากขึ้น แต่ไม่เป็นผล ทั้งสวัสดิการข้าราชการ สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ หรือกองทุนประกันสังคม ในการใช้สิทธิลาช่วงก่อนหรือหลังคลอดได้ รวมกันไม่เกิน 90 วัน สิทธิเบิกจ่ายค่าคลอดบุตรต่อหนึ่งครั้ง ในอัตราเหมาจ่าย 13,000 บาท และยังมีมาตรการการลดหย่อนภาษีในการเลี้ยงดูบุตร ไม่จำกัดจำนวนบุตร คนละ 30,000 บาท

นโยบายภาครัฐ ต้องจูงใจให้มากกว่านี้ เพื่อให้คนมีลูก
นโยบายภาครัฐ ต้องจูงใจให้มากกว่านี้ เพื่อให้คนมีลูก

คนโสดพุ่ง ไม่อยากมีลูก โควิดระบาด เด็กยิ่งเกิดน้อยลง

คนไทยเป็นโสดมากขึ้น อีกสาเหตุทำให้มีลูกน้อยลง เพราะไม่ได้มองความสมบูรณ์ของชีวิตจะต้องแต่งงาน “รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงไทยไม่ค่อยแต่งงาน ส่วนใหญ่เป็นคนเจนวาย เกิดระหว่างปี 2525 ถึง 2540 ซึ่งเป็นวัยทำงาน และควรเป็นวัยแต่งงาน โดยเฉพาะคนที่ยิ่งเรียนสูง ยิ่งแต่งงานน้อยลง เพราะหลายคนสามารถจัดการกับตัวเองได้ มองว่าไม่มีลูกดีกว่า และสามารถวางแผนทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีได้ ไม่น่ามีปัญหาในอนาคต เมื่ออยู่ในช่วงสูงวัย

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด เมื่อต้นปี 2563 ส่งผลให้การเกิดลดลงชัดเจนยิ่งขึ้น หลายประเทศทั่วโลกประสบกับอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เช่น ประเทศจีน พบว่าในปี 2563 อัตราการเกิดลดลงถึง 15% ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีอัตราการเกิดต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ต้องประสบกับปัญหาการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ของไต้หวัน มีลูกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1 คน

...

ประเทศไทยคาดการณ์จะเหลือประชากรไม่ถึง 35 ล้านคน ภายในอีก 80 ปีข้างหน้า ซึ่งภายหลังการเกิดวิกฤติโควิด มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขอาจลดลงยิ่งกว่านั้น น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับปัญหาทางประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเริ่มดำเนินการมาตรการเพื่อส่งเสริมการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการศึกษาแนวทางด้านประชากรอื่นๆ เช่น การพิจารณาการนำเข้าพลเมืองอย่างจริงจัง

“การเกิดน้อย เป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกให้กับผู้กำหนดนโยบายไม่น้อย เพราะการกระตุ้นให้คนในยุคปัจจุบัน มีลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง”

นโยบายส่งเสริมการเกิด ควบคู่การกระตุ้น ให้มีลูกมากๆ

นโยบายส่งเสริมการเกิด ไม่ควรมุ่งเน้นไปยังคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการมีบุตรคนต่อๆ ไปด้วย ให้มีความแตกต่างจากนโยบายส่งเสริมการเกิด สำหรับผู้ที่ยังไม่มีบุตร เพราะการตัดสินใจมีลูกคนแรก กับการตัดสินใจมีลูกคนที่สอง สาม หรือสี่ มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงกระตุ้นให้คนมีลูกเท่านั้น แต่หวังให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย

...

เริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ ประสบกับปัญหาการเกิดน้อยมาอย่างยาวนาน เฉลี่ยผู้หญิงสิงคโปร์ 1 คนจะมีบุตรเพียง 1.1 คน โดยมีนโยบายส่งเสริมการเกิดจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือการให้เบบี้โบนัส สำหรับเด็กแรกเกิด เป็นลักษณะขั้นบันได พ่อแม่จะได้รับ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 2 แสนบาท สำหรับบุตรคนแรกและคนที่สอง และ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 2.5 แสนบาท สำหรับบุตรคนที่สาม จึงค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ได้เพียงต้องการให้คนมีลูก แต่ต้องการให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย

การลาคลอดแบบได้รับค่าจ้าง เป็นอีกนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมีลูกคนต่อๆ มา อย่างประเทศสาธารณรัฐเช็ก มีนโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่น สามารถเลือกการรับสิทธิประโยชน์การลาคลอดในอัตราเงินรายเดือนในระยะเวลาต่างๆ ได้ เช่น เลือกรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ ในช่วงระยะเวลาสองปีหลังคลอดบุตร หรือรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 33 ของรายได้ ในระยะเวลา 3 ปีหลังคลอดบุตร หรือร้อยละ 33 ตั้งแต่คลอดบุตร จนถึงเดือนที่ 21 และร้อยละ 17 ของรายได้จากเดือนที่ 21 ถึงปีที่ 4 หลังการคลอดบุตร

“นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มจำนวนการเกิดโดยตรง แต่ผลปรากฏว่า นโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ ทำให้แม่หลายคน สามารถเลือกรับเงินรายเดือนในสัดส่วนสูงในระยะเวลาที่สั้นลง นำไปสู่การตัดสินใจการมีลูกคนที่สองเร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศสโลวะเกีย”

...

นอกจากนโยบายการลาคลอดสำหรับแม่ ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกคนที่สองแล้ว นโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของพ่อ ในไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน พบว่ามีผลต่อการมีลูกคนที่สอง จากข้อสมมติฐานที่ว่า ยิ่งในครอบครัวมีความเท่าเทียมทางเพศสูงเท่าไร จะยิ่งมีระดับเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีระดับการศึกษาสูง ขณะที่งานวิจัยในไต้หวันพบว่า ความต้องการมีบุตรคนที่สองขึ้นไปสำหรับผู้หญิงเพิ่มขึ้น หากสามีมีส่วนร่วมในการเลี้ยงบุตร เห็นชัดในกลุ่มผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มการมีบุตรลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลปี 2562 พบว่า ราว 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ มีลูกเพียงคนเดียว และผู้ที่มีบุตรคนเดียว ราวครึ่งหนึ่งไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม เป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่ไม่ควรมองข้าม ในการส่งเสริมการเกิดผ่านนโยบายต่างๆ ทั้งการเพิ่มเงินรางวัลสำหรับจำนวนบุตรที่มากขึ้น การลาคลอดที่ยืดหยุ่น และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ อาจเป็นแนวทางช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวไทย พร้อมตัดสินใจมีลูกคนที่สอง...สาม..หรือสี่ ได้ง่ายยิ่งขึ้น.