เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในห้วงเวลานี้ เมื่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อภาษาอังกฤษ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทย จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon”
เป็นการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล โดยคณะกรรมการได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้ส่วนราชการไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
วันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2544 และให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ลงวันที่ 1 ก.ย. 2564 ซึ่งมีการแก้ไขมาเป็น “Krung Thep Maha Nakhon” โดยชื่อเดิม “Bangkok” ต่อท้ายอยู่ในวงเล็บ
ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยังกำหนดชื่อเมืองหลวงประเทศอื่นๆ เช่น “กัวลาลัมเปอร์” เมืองหลวงของมาเลเซีย เพิ่มชื่อเป็น “กัวลาลุมปูร์” จากการทับศัพท์ภาษมาลายู หรือ “เบอร์ลิน” เมืองหลวงของเยอรมนี เพิ่มชื่อเป็น “แบร์ลีน” ส่วน "ฮานอย" เมืองหลวงของเวียดนาม ได้เพิ่มชื่อ “ห่าโหน่ย” และเมียนมา ได้แก้ไขชื่อเมืองหลวงจาก "ย่างกุ้ง" มาเป็น "เนปยีดอ" ตามการย้ายที่ตั้งเมืองหลวง
...
แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ได้เกิดคำถามเกิดดราม่าในโลกออนไลน์ จนแฮชแท็ก #Bangkok และ #KrungThepMahaNakhon ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ แม้สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ออกมาชี้แจงไปแล้วว่ากรุงเทพมหานคร สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อเช่นเดิม ทั้ง Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon
คำเรียกคุ้นเคย Bangkok เมืองหลวงของไทย สื่อสารชัด
ในมุมมองของครูสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ “อ.วีระพงศ์ มีสถาน” สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า การเปลี่ยนมาเป็น Krung Thep Maha Nakhon นั้นยาวไปสำหรับชาวต่างชาติ จากเคยใช้คำเดิม Bangkok ตามความคุ้นเคย หากมีเวลาก็จะแปลและอธิบายให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจว่า คือ Bangkok นั่นเอง
“เดาใจราชบัณฑิตยสภา ในการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของไทย เพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรี เพราะในแง่การสื่อสารคำว่า Bangkok ก็รวบรัดดีอยู่แล้ว และฝรั่งที่เคยพัวพันกับประเทศสยาม ก็ออกเสียงคำว่าสยาม ไม่ถูก จึงเรียก Bangkok หรือ บางกอก และคำว่า บาง บอกถึงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ใกล้ๆ ในรัศมีเหล่านี้ เช่น บางแวก บางโพ เป็นอัตลักษณ์ก็ว่าได้ เป็นความเก่าแก่ในคำศัพท์”
ไม่ว่าจะเปลี่ยนการเรียกชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยมาเป็นชื่อใด ยังคิดว่า Bangkok เป็นความคุ้นเคยในการใช้เรียกชื่อกรุงเทพฯ และน่าจะประมาณ 80% ก็คงยังถนัดที่จะเรียกว่า Bangkok หรือกรณีการบัญญัติคำว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นชื่อภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” ก็คงอยากให้เป็นหลักฐานด้วยการนิยามให้เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ชอบการสื่อสารโดยตรง เพราะการบัญญัติศัพท์ให้คนในชาติได้ใช้ อาจไม่ตรงใจ และไม่สนิทใจในการใช้ เหมือนการเรียกทีวี หรือคอมพิวเตอร์ ก็จะเรียกกันตรงๆ
"อะไรก็ตามที่เปลี่ยน จากคำโบร่ำโบราณ อย่างคำว่า ไทย เดิมใช้ว่า ไท เมื่อเขียนเป็นภาษาบาลี ไม่สามารถเขียนได้ เพราะภาษาบาลีไม่มีสระไอ จึงถอดมาเป็นคำว่า ไทย มี ย.ยักษ์ เวลาไปหารากศัพท์ ระบบอักขรวิธีการเขียนภาษา ก็หารากศัพท์ไม่ได้ ไม่ว่าจะทางใต้ของจีนและทางเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีตระกูลของไทยอาศัยอยู่ เรียกว่า คนไต แต่ของไทย เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต เวลาบัญญัติคำวิชาการ มักบัญญัติทั้งคำสันธานและบุพบท ทำให้ต้องเรียนศัพท์เหล่านี้ เป็นหมวดๆ"
...
น้อยมาก คนจะใช้ Krung Thep Maha Nakhon
กรณีสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของไทย มาเป็น Krung Thep Maha Nakhon โดยส่วนตัวไม่ติดใจอะไร แต่อาจจะยิ้มด้วยมุมปาก และคนที่ไม่เห็นด้วยอย่าความดันขึ้น ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นเพราะในไม่ช้าจะซาลง ไม่มีใครใช้คำบัญญัติใหม่ในการสื่อสาร และคงใช้ Bangkok อย่างเดิม เพราะมีความคุ้นเคย โดยเฉพาะชาวต่างชาติ
อีกทั้งการจะใช้คำใดสื่อสาร ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ติดคุก แต่กลับกันหากใช้คำหยาบ น่าจะถูกกำหลาบมากกว่า มองว่าเป็นอิสระเสรีในการใช้ภาษา เป็นสิทธิของบุคคล หรือถ้าชาวต่างชาติออกเสียงไม่ชัด จาก Bangkok มาเป็น "BangCock" เพราะภาษาต่างประเทศไม่มีวรรณยุกต์ จนกลายเป็นความหมายอื่นก็ยังใช้ได้ เพราะเข้าใจในการสื่อสาร ยกเว้นถ้าออกเสียงคำว่า ประเพณี มาเป็นประเวณี จนความหมายเปลี่ยนไป ก็ต้องระวังอย่าให้ผิดเพี้ยนไป
...
"สิ่งที่เกิดขึ้นมองเป็นเรื่องสนุก และคงเป็นหัวข้อให้นักศึกษาได้ถาม และถกเถียงในชั้นเรียน คงมีคนไทยไม่ถึง 100 คนใช้คำนี้ หรือจะเรียกกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ แบบเต็มๆ คงไม่มี และไม่กล้าคิดว่าว่างงานกันหรือ ถึงบัญญัติคำนี้ออกมา ได้แต่ยิ้มมุมปากเบาๆ คงอยากให้รู้ความหมายคำไทย สื่อให้เห็นความรุ่งเรืองของมหานคร ทั้งที่ฝรั่งก็มีคู่มือเที่ยวเมืองไทย เขียนโดยฝรั่งที่เรียนรู้มามากพอสมควร ได้อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว".