หนึ่งในกลุ่มนักเตะ “Wonderkids” ที่โลกฟุตบอลกำลังจับตาในฐานะ “นักเตะมากพรสวรรค์” ที่มีความโดดเด่นเรื่องเท้าซ้ายและเท้าขวาที่สามารถยิงประตูได้อย่างเฉียบคมและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ราวกับ “ฮอตช็อต” อลัน เชียเรอร์ อดีตกองหน้าตีนระเบิดสัญชาติอังกฤษ หวนกลับมาสวมสตั๊ดโลดแล่นบนทุ่งหญ้าเขียวขจีอีกครั้ง

อะไรคือสิ่งที่ยืนยันถึง “ความพิเศษสุด” ของ ชายหนุ่มผู้นี้?

“ไม่เพียงแต่ยิงประตูได้อย่างสวยงาม แต่เขายังเต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ เล่นฟุตบอลได้ทั้งเท้าซ้าย เท้าขวา และมีเทคนิคในการครองบอลที่ยอดเยี่ยมมาก หากเขาสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ เขาจะกลายเป็นนักเตะที่ทรงคุณค่าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในอนาคตอย่างแน่นอน”

คำสดุดีและการยืนยันถึงความเก่งฉกาจของเจ้าหนูวัยเพียง 19 ย่าง 20 นามว่า “เมสัน กรีนวูด” (Mason Greenwood) ของเจ้านายคนใหม่แห่งถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด “ราล์ฟ รังนิก”

...

หากแต่คำสดุดีที่ร่ายมาเสียสิ้นเปลืองไปหลายบรรทัดนี้ “อาจจะสูญสลายหายไปในอากาศในพริบตา” หากไอ้หนูเมสัน กรีนวูด ที่ในเวลานี้ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยในหลายคดีที่เชื่อมโยงถึง เหตุทำร้ายร่างกาย “หญิงสาววัย 20 ปี” ที่กำลังกระฉ่อนโลกโซเชียลมีเดียในเวลานี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง!

ทั้งๆ ที่ ความหวังครั้งใหม่ของทีมชาติอังกฤษคนนี้ เป็นหนึ่งในนักเตะจำนวนน้อยและน้อยมากๆ จากอะคาเดมีของสโมสรในพรีเมียร์ลีกอังกฤษและลีกรองที่มีโอกาสได้รับ “สัญญานักเตะอาชีพ” และมีโอกาสได้ลงเล่นในลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ

เพราะจากรายงานของสถาบันตรวจสอบการฝึกสอนเยาวชนสู่ความเป็นมืออาชีพ Professional Game Academy Audit Company หรือ PGAAC ซึ่งก่อตั้งโดย พรีเมียร์ลีก (Premier League) สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ (English Football League) หรือ EFL และ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Football Association) หรือ FA เพื่อเดินหน้าแผนการยกระดับคุณภาพการพัฒนาศูนย์ฝึกเยาวชนของแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีกและลีกรอง

พบว่ามากถึง 97% ของจำนวนนักเตะที่ผ่านอะคาเดมีของสโมสรในระดับชั้นนำของอังกฤษ ไม่เคยได้รับโอกาสลงเล่นในพรีเมียร์ลีกอังกฤษเลยแม้แต่นาทีเดียว! ทั้งๆ ที่บางคนเข้าสู่ระบบอะคาเดมีมาตั้งแต่อายุได้แค่ 8 ขวบ และใช้เวลาในการบ่มเพาะมากกว่าทศวรรษก่อนจะถูกประเมินว่า “ไม่ผ่าน” และถูกผ่องถ่ายไปยังสโมสรอื่นๆ ที่เล็กกว่าในระดับลีกรอง

เรียกว่า “เมสัน กรีนวูด” คืออีกหนึ่งความมหัศจรรย์ที่หาได้ยาก ซึ่งกำลังเดินเข้าสู่ความเจิดจรัสแล้วแท้ๆ

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ นักเตะดาวรุ่ง มักหลุดพ้นจากเส้นทางการพัฒนาตัวเองไปสู่ระดับโลก?

บรรยากาศในห้องแต่งตัวที่เปลี่ยนไป :

“ผมจำได้ตอนผมอายุ 18 19 และ 20 ปี ผู้เล่นซีเนียร์ในทีมมาพูดกับผมว่า คริสเตียโน แกรู้ใช่ไหมว่าแกยังต้องปรับปรุงการเล่นของแก นั่นเป็นเพราะพวกเขารู้และผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายมามากกว่า

แต่สำหรับคนทั่วๆ ไป พวกเขามักไม่ยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่ได้พูดถึงนักเตะของเรานะ แต่หมายถึงโดยทั่วๆไป ผมมีลูก ผมรู้ดีว่า แค่ดุเขาแม้เพียงเล็กน้อย เขาจะต่อต้าน ดังนั้นคุณจะต้องหาทางรักษาสมดุลในการพูดคุยให้ดี”

แม้ว่าเจ้าของคำพูดนี้ คือ “คริสเตียโน โรนัลโด” จะพยายามใช้ความระมัดระวัง เพื่อหลบเลี่ยงที่จะระบุถึงตัวตนคนที่ถูกพาดพิงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่านี่คือ “รอยทาง” สำหรับการบรรยายถึงสถานการณ์ในห้องแต่งตัวของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ณ เวลานี้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

คนระดับ CR7 ปูชนียบุคคลและผู้มากบารมีในรอบรั้วโอลด์ แทรฟฟอร์ด ยังไม่สามารถว่ากล่าวตักเตือนเหล่านักเตะวัยรุ่นในสโมสรปิศาจแดงเรื่องการทำหน้าที่ในสนามได้....แล้วแบบนี้ ใครหน้าไหนจะสามารถเตือนสตินักเตะวัยคะนอง ที่มีค่าตัวเป็นร้อยๆ พันๆ ล้าน และแถมยังมีเงินค่าเหนื่อยในระดับแพงระยับได้อีก โดยเฉพาะ...หากเป็นการเตือนเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัวเช่นในกรณีของ “เมสัน กรีนวูด” ได้อีก

...

เกือบลืมไป...แล้วนี่มันนานแค่ไหนแล้วนะที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ขาด “ไดร์เป่าผม” เอาไว้เตือนสติเหล่านักเตะนอกแถว!

โลกโซเชียลมีเดียและเกม :

ความฟุ่มเฟือยไปกับการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียและเกม “ไลฟ์สไตล์ใหม่” ของหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน ดึงดูดความสนใจละสมาธิของนักเตะวัยรุ่นส่วนหนึ่งไปจากความจดจ่อต่อลูกฟุตบอลอย่างเห็นได้ชัด

คลิปจำนวนมากมายมหาศาลที่ถูกอัพโดย “พอล ป็อกบา” และ “เจสซี ลินการ์ด” ผู้นำชนเผ่าโลกโซเชียลของปิศาจแดง อาจจะทำให้บางที “เรา” อาจเผลอลืมไปแล้วก็ว่า ผลงานในสนามของพวกเขากับยูไนเต็ด เป็นอย่างไร?

และบางทีสองคนนี้ อาจใส่ใจการอัพสเตตัสโอ้อวดต่างๆ นานา และบรรดาคอมเมนต์ที่มีต่อคลิปวิดีโอที่ไม่เกี่ยวข้องฟุตบอลของพวกเขามากกว่าก็เป็นได้

...

มหาสมุทรแห่งความสอพลอของสื่อมวลชน :

นี่คือ...เธียร์รี อองรี คนใหม่
นี่คือ...เดวิด เบคแคม คนใหม่
และอะไรต่อมิอะไร...คนใหม่ ที่ตามมาอย่างมากมาย เมื่อมีการค้นพบ “นักเตะดาวรุ่ง” โดยเฉพาะหากมีสัญชาติอังกฤษ!

แล้วตอนนี้ “ธีโอ วัลคอตต์” เธียร์รี อองรี คนต่อไปอยู่ที่ไหน?

หรือ... “เดวิด เบนท์ลีย์” นักเตะที่วางบอลไกลได้แม่นยำและยิงฟรีคิกได้ราวกับเป็น เดวิด เบคแคม คนที่สองกันล่ะ ตอนนี้มีใครจำชื่อเขาได้บ้างหรือเปล่า?

เอ้า...แล้ว มิดฟิลด์อัจฉริยะ “แจ็ค วิลเชียร์” ที่สื่ออังกฤษชูว่า นี่คือ นักเตะในระนาบเดียวกับ ชาบี เอร์นานเดส หรือ อันเดรส อิเนียสตา ล่ะ ตอนนี้เขามีสโมสรให้สังกัดหรือยัง?

การยกย่องเกินจริงที่ว่านั้น นอกจากจะทำให้นักเตะวัยรุ่นที่ยังขาดความยั้งคิดหลงระเริงเข้าสู่ด้านมืดจนหยุดยั้งการพัฒนาตัวเองที่ควรจะได้จากการฝึกซ้อมอย่างหนักและต่อเนื่องไปอย่างง่ายดายแล้ว ในอีกด้านหนึ่งมันยังกลายเป็นการเพิ่ม “แรงกดดัน” ลงบนบ่าของนักเตะเหล่านั้นไปด้วยในตัวว่าจะต้องลงไปเล่นในระดับสร้างปรากฏการณ์ให้ได้ในทุกๆ นัดที่ลงเตะ (ซึ่งมันจะเป็นไปได้อย่างไร?)

และในท้ายที่สุดเมื่อพวกเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ถูก “คาดหวัง” สื่อมวลชนที่เคยยกยอปอปั้นเหล่านี้ ก็มักจะเปลี่ยนคำยกย่อง ไปเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบสาดเสียเทเสีย จนนักเตะเหล่านั้นสูญเสียตัวตน และความมั่นใจที่เคยมีอยู่อย่างมากล้นไปเสียสิ้น

จากนั้นสื่อมวลชนก็จะออกไปเฟ้นหา “เด็กมหัศจรรย์คนใหม่” มาเป็นจุดขายต่อๆ ไปแทน!

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ