ตั้งแต่ปี 2532 ไทยและซาอุดีอาระเบีย เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน จนผ่านไปกว่า 30 ปีด้วยคดีอันลือลั่น จากแรงงานไทยที่ขโมยชุดเครื่องเพชรและของมีค่ามหาศาลจากราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย

รอยร้าวระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในเวลานั้น เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีพระชันษาเพียงประมาณ 4 ชันษา

จนปัจจุบันเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชันษา 36 ชันษา เป็นช่วงเวลาที่มีการเปิดเผยจากรัฐบาลไทยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ วันที่ 25 - 26 มกราคม 2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย (ภาพ Getty Images)
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย (ภาพ Getty Images)

...

นับเป็นเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร ที่ยังทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

คดีเพชรซาอุฯ หนึ่งในรอยร้าว ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

เรื่องนี้สื่อต่างชาติล้วนให้ความสนใจ และเป็นที่จับตามอง เพราะหากย้อนเวลากลับไปปมปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียจริงๆ แล้ว ยังไม่ถูกคลี่คลายจากเหตุการณ์สะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นคือ คดีเพชรซาอุฯ ที่แม้คนขโมยเพชรได้ถูกลงโทษตามกฎหมายแล้ว แต่การตามหาเพชรชิ้นสำคัญอันล้ำค่าอย่าง “บลูไดมอนด์” ก็ยังเป็นปริศนา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทางการทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารที่กรุงเทพมหานคร และเหตุการณ์อุ้มหายนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัลซะอูดอีกด้วย

การที่ปมต่างๆ ยังไม่ถูกคลี่คลายอย่างเป็นรูปธรรม แต่ความสัมพันธ์สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เป็นเพราะอะไร มีคำตอบจาก ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการ ด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ตะวันออกกลางศึกษา) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายว่า ถือเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้น “มิตรภาพใหม่” ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ทรงร่วมในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประะเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2562 (ภาพ Getty Images)
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ทรงร่วมในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประะเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2562 (ภาพ Getty Images)

จากการวิเคราะห์คือ ที่ซาอุดีอาระเบียมีการส่งทอดอำนาจบริหารประเทศ จากคนรุ่นเก่าส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ ในเวลาที่ประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการสานความสัมพันธ์กับนานาประเทศ จากช่วงที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ซาอุดีอาระเบียมีภาพของความก้าวร้าว ขณะเดียวกันต้องการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ โดยไม่ใช่การพึ่งพาเฉพาะน้ำมันอย่างเดียว จึงเปิดประเทศมากขึ้น ทั้งการเปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุน และไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยว ด้วยวิสัยทัศน์ 2030

ภูมิภาคที่ซาอุดีอาระเบียสนใจ จึงไม่ใช่เพียงแค่ในตะวันออกกลาง เพราะหลายประเทศมีปัญหาความขัดแย้ง และเกิดการสู้รบ สงคราม หรือพันธมิตรเดิมอย่างอเมริกา และยุโรป ก็มองว่าซาอุดีอาระเบียมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเวลาของการมองหามิตรภาพใหม่ในภูมิภาคต่างๆ 

สิ่งที่ต้องรอคอยความตกลงระหว่างผู้นำของประเทศทั้งสองครั้งนี้คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับปกติเพื่อเปิดทางไปสู่ความร่วมมือทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ และการค้า ซึ่งความสัมพันธ์ในระดับปกติคือ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยตั้งสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในไทย และแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตกันจากปัจจุบันเป็นระดับอุปทูตเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาการเจรจาความร่วมมือต่างๆ อยู่วงจำกัด ไม่ได้ขยายการเติบโตตามเวลาที่ผ่านไป

อย่างเช่นปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งสำนักงาน ที่มาจากบริษัทต่างๆ แล้วกว่า 40 ประเทศ แต่ไทยยังไม่มีโอกาส หรือเรื่องแรงงาน ที่ไทยไม่มีโอกาสส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบียมานาน จากเดิมมีแรงงานไทยหลายแสนคนที่ได้ไปทำงาน แต่ปัจจุบันมีแรงงานจาก 19 ประเทศ ครอบครองสาขาอาชีพที่ซาอุดีอาระเบียไปแล้วกว่า 90 อาชีพ เมื่อมีความสัมพันธ์ในระดับปกติแล้ว ไทยจึงต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก เรื่องแรงงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่มีโอกาสคืออุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดใหญ่มาก

...

ซาอุดีอาระเบียยังเป็นประเทศที่มีอิทธิพลและมีอำนาจในระดับโลก มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา และทรงอำนาจในประเทศมุสลิมที่เรียกว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation หรือ OIC) ถือเป็นพี่ใหญ่ในสมาชิก 57 ประเทศ ที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน และยังเป็นพี่ใหญ่ในโอเปกในกำหนดราคาน้ำมันของโลก

บรรยากาศค่ำคืนในกรุงริยาด เมื่อปี 2563
บรรยากาศค่ำคืนในกรุงริยาด เมื่อปี 2563

ขณะที่มีสิ่งที่ไทยต้องสร้างสมดุล คือปมขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย กับอิหร่าน ที่อาจเกิดเหตุการณ์สงครามตัวแทนเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วนการส่งเชิญนายกรัฐมนตรีของไทย สะท้อนให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียต้องการให้ไทยมาพบ และยังแสดงให้เห็นว่า เรื่องปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องอดีต และมีเรื่องที่ซาอุดีอาระเบียต้องการบรรลุเป้าหมายคือ วิสัยทัศน์ 2030 เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งนับจากนี้. 

...