นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา หนี้ของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศได้ก่อหนี้เพื่อที่จะนำเงินมาชดเชยและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงไว้นำมากระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่ เลือกใช้กลไกการกู้ยืม นั่นก็คือ การออกพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา

ขณะเดียวกัน หลายประเทศมีแผนการนำเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมนี้ มาใช้พัฒนาประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชุดใหญ่ในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งนั่นทำให้หนี้ของแต่ละประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟ ในช่วงเดือนธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา หนี้ทั่วโลกในปี 2020 สูงมากถึง 256 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 8,493 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะที่ไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหนี้ทั้งหมด

บทความนี้ ผมตั้งใจผ่าให้ดูว่า แต่ละประเทศนั้นจะลดหนี้ หวังฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านวิธีใดกันบ้าง

หนี้เยอะเกินไปอาจเป็นผลเสียกับเศรษฐกิจ

ในรายงานของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณหนี้ของรัฐบาลที่สูงมากเกินไป ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงต่อผลกระทบในด้านมหภาค และยังทำให้นโยบายการคลังของประเทศนั้นเกิดข้อจำกัด

ขณะเดียวกันหนี้ที่สูงมากขึ้น ย่อมทำให้ประเทศดังกล่าวมีต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงมากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง หรือแม้แต่ระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้ที่ยาวกว่า ส่งผลต่อเนื่องคือทำให้มีแนวโน้มว่าประเทศดังกล่าวนั้น มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของสภาพคล่อง และการผิดนัดชำระหนี้

เมื่อประเทศนั้นๆ เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจที่เกิดความผันผวนย่อมมีเครื่องมือทางการเงิน เช่น การกู้ยืมที่ทำได้น้อยกว่า การใช้นโยบายต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศจะอ่อนแอลงไปได้อีก และยังส่งผลทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศนั้นย่ำแย่ลงไปอีกด้วย

...

เก็บภาษีเพิ่ม

หนึ่งในวิธีที่แก้ปัญหาการคลังของประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นก่อนช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 คงต้องยกตัวอย่างในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาตั้งแต่ช่วงปี 2013 เป็นต้นมา เพื่อที่จะไม่ให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบปัญหาสภาวะเงินฝืด และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ในปี 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 10 เปอร์เซ็นต์

แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศเริ่มมองหาลู่ทางในการเพิ่มภาษีขึ้นเช่นกัน อย่างเช่นในกรณีของสิงคโปร์ที่เตรียมขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จากเดิมที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็น 9 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2022-2025 โดยมองว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวนี้ จะช่วยให้สิงคโปร์เก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนด้านสาธารณสุข ไปจนถึงด้านอื่นๆ ในสังคม

หรือกรณีล่าสุด ที่นิวซีแลนด์ได้ไฟเขียวให้มีการนำไปใช้เป็นที่เรียบร้อย นั่นก็คือการขึ้นภาษีบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 180,000 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ โดยประชากรที่มีรายได้สูงอยู่ในประเทศนั้นมีสัดส่วนราวๆ 2 เปอร์เซ็นต์ จะโดนเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จากเดิมอัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็น 39 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้หลายประเทศเองก็กำลังวางแผนที่จะเก็บอัตราภาษีเพิ่มขึ้น หรืออาจเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม ถ้าหากเศรษฐกิจของประเทศนั้นกลับมาเป็นปกติ

ลดดอกเบี้ย และรีไฟแนนซ์หนี้

หลายคนอาจแปลกใจว่าวิธีดังกล่าวนั้น เป็นวิธีที่ประชาชนทั่วไปใช้กันมิใช่หรือ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกได้เลือกใช้วิธีดังกล่าวในการลดภาระหนี้ของประเทศลงมาถ้วนหน้า

กรณีที่เราเห็นได้ชัดสุด คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศได้ส่งผลต่อดอกเบี้ยที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องจ่ายนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด เวลาเดียวกัน กลไกดังกล่าวนี้ยังทำให้รัฐบาลเองสามารถกู้เงินมาได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าในช่วงเวลาปกติ

รายงาน Caribbean Renewal Tackling Fiscal and Debt Challenges ของไอเอ็มเอฟ ที่ตีพิมพ์ในปี 2014 ชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ พบว่าการลดลงของหนี้ส่วนใหญ่ในช่วงปี 1980-2010 ยังได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอีกด้วย

รัฐบาลแต่ละประเทศยังสามารถใช้กลไกในช่วงดอกเบี้ยต่ำที่จะสามารถรีไฟแนนซ์หนี้เก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงให้เป็นหนี้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ทำให้รัฐบาลสามารถลดรายจ่ายดอกเบี้ยลงได้อีกด้วย

นำรัฐวิสาหกิจออกมาแปรรูปเป็นเอกชน 

หัวข้อนี้อาจดู “เศร้า” สักหน่อย แต่หลายประเทศอาจต้องใช้วิธีนี้ร่วมกับวิธีก่อนหน้านี้ เพื่อลดหนี้ของประเทศตัวเองลงมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ประเทศเอธิโอเปีย มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียงแค่รายเดียวในประเทศ นั่นก็คือเอธิโอ เทเลคอม (Ethio Telecom) อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้รัฐบาลพยายามควานหาหาคนซื้อหุ้นส่วนใหญ่กิจการผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายนี้

ล่าสุดมีโวดาโฟน และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ประมูลหุ้นส่วนใหญ่ได้เงินมากถึง 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28,500 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวไปเป็นงบประมาณ รวมถึงลดหนี้ของประเทศลงมา

ไม่เพียงแค่การขายหุ้นในรัฐวิสาหกิจออกมาเท่านั้น แต่เอธิโอเปียเองก็ได้เตรียมที่จะเปิดประมูลให้กิจการโทรคมนาคมมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ซึ่งนั่นแปลว่า รัฐบาลจะได้เม็ดเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ หรือแม้แต่นำไปพัฒนาประเทศเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจพัฒนาได้มากขึ้นนั่นเอง

ตามด้วยประเทศอินเดีย ก็มีแผนที่จะนำรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตนำมาแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย

หลังจากนี้เราอาจได้เห็นหลายประเทศเปิดสัมปทานในหลายธุรกิจ หรือแม้แต่เราอาจเห็นการนำรัฐวิสาหกิจออกมาแปรรูปอีกมากมายครับ

ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจโต

สำหรับวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในบรรดาการลดหนี้ของแต่ละรัฐบาล เนื่องจากสามารถที่จะใช้นโยบายทั้งการเงินการคลังได้อย่างเต็มที่ โดยไม่โดนแทรกแซง ทั้งจากเจ้าหนี้อย่างไอเอ็มเอฟ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักชอบแทรกแซงนโยบายการเงินการคลังจนเป็นเรื่องปกติ และถ้าหาเศรษฐกิจที่โตมากขึ้น (GDP โตมากขึ้น) ย่อมทำให้สัดส่วนหนี้เมื่อเทียบกับ GDP ลดลง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้นคือ เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2003 จนถึงปี 2009 เวลานั้น GDP ของไทยเติบโตอย่างมาก มีอัตราหนี้สินต่อ GDP ลดลงต่ำกว่า 55 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ GDP ในช่วงดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับความน่าเชื่อถือของไทยนั้นดีขึ้น ต้นทุนทางการเงินของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้ถือว่าท้าทายกับรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนว่านโยบายเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ “อย่างแท้จริง” ไม่ใช่แค่การเติบโตระยะสั้น เพราะว่า การที่ตัวเลข GDP เติบโตเพียงระยะสั้นก็อาจทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP กลับมาหลอกหลอนได้อีกครั้ง

เราจะเห็นว่าหลายวิธีนั้นแต่ละประเทศก็อาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการลดหนี้ของประเทศ หรืออาจใช้หลากหลายวิธีควบคู่กันไป แต่ท้ายที่สุด การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้นโยบายลดหนี้ ต้องมองถึงผลกระทบให้ชัดเจนว่า ระยะสั้นหรือระยะยาว มีโอกาสกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่

ที่มา: ECB, IMF [1], [2], CNA, Reuters, Bloomberg

...