การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ใกล้ความจริงมากขึ้น จากการผลักดันอย่างรวดเร็วของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ที่ประชุมรัฐสภา ได้ผ่านกฎหมายตั้งเมืองหลวงใหม่ ย้ายจากกรุงจาการ์ตา ไปผืนป่าในจังหวัดกาลีมันตัน บนเกาะบอร์เนียว

เมืองหลวงใหม่มีชื่อว่า “นูซันตารา” เป็นภาษาชวาแปลว่า “หมู่เกาะ” จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1 ล้านล้านบาท มีกรอบเวลาย้ายเมืองระหว่างปี 2565 ถึง 2567 แก้ปัญหาประชากร 10 ล้านคน เผชิญความแออัด รถติด น้ำท่วม มลพิษ ภัยธรรมชาติ และกรุงจาการ์ตา เสี่ยงจะจมทะเลในอีก 30 ปี เพราะดินทรุดตัวจากการสูบน้ำใต้ดิน

หลังการย้ายเมืองหลวง จะยังคงให้กรุงจาการ์ตา เป็นศูนย์กลางการค้าและการเงิน ส่วนหน่วยงานราชการ จะถูกย้ายไปทั้งหมด และเริ่มย้ายข้าราชการ 1.5 ล้านคน ไปเมืองหลวงแห่งใหม่ ตั้งแต่ปี 2567 โดยเกาะบอร์เนียว อยู่นอกวงแหวนแห่งไฟ ไม่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวอีกต่อไป

แนวคิดย้ายเมืองหลวง เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย เคยเสนอให้ย้ายไปเมืองปาลังการายา จังหวัดกาลีมันตันกลาง เมื่อปี 2500 และไม่ใช่ประเทศแรกในอาเซียน ยังมีเมียนมา ย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปเมืองเปียงมะนา ในปี 2548 และตั้งชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ว่า “กรุงเนปิดอว์” ส่วนมาเลเซีย ย้ายเมืองหลวงด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาอยู่ที่เมืองปุตราจายา โดยกรุงกัวลาลัมเปอร์ ยังคงเป็นเมืองหลวงด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเงิน เช่นเดิม

...

ประเทศไทย ก็เช่นเดียวกันเคยมีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไป จ.เพชรบูรณ์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เสนอย้ายไป อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และขณะนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เคยเสนอให้ย้ายไป จ.นครปฐม และยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการเสนอให้ย้ายไป อ.บ้านนา จ.นครนายก

จนมายุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปศึกษาการย้ายเมืองหลวง เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรรถติด โดยแผนการศึกษามีการเสนอ อ.บ้านนา จ.นครนายก และขยายเชื่อมกับ อ.หนองแค จ.สระบุรี

การที่ประเทศไทย จะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปพื้นที่อื่น อาจทำได้ยาก แต่ด้วยผู้คนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเผชิญกับหลายปัญหา และไทย เป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคเอเชีย เสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดภายในปี 2593 โดยเฉพาะกรุงเทพฯ อาจจมบาดาล เพราะแผ่นดินทรุดปีละประมาณ 1.5 มิลลิเมตร อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการย้ายเมืองหลวงก็ได้

กรุงเทพฯ มีชัยภูมิดี ไม่ควรย้ายเมืองหลวงใหม่

ในมุมมอง “รศ.เอนก ศิริพานิชกร” ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ไม่เห็นด้วยในการย้ายเมืองหลวง แต่กรุงเทพฯ จะต้องพัฒนาสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ เพื่อป้องกันภัยคุกคามทั้งหมด และระบบการขนส่งจะต้องมีระบบรางเพิ่มขึ้นให้ครบสมบรูณ์ แม้อาจเป็นรองบางประเทศในอาเซียนเท่านั้น

รศ.เอนก ศิริพานิชกร
รศ.เอนก ศิริพานิชกร

ในประเด็นที่กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจะจมบาดาล เพราะแผ่นดินทรุด คงไม่ใช่แล้วเพราะไม่มีการสูบน้ำบาดาลมานาน ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ทรุดมากเหมือนสมัยก่อน และจากที่ทำงานด้านวิศวกรรมโยธามานาน ไม่ค่อยเห็นปัญหาในเรื่องนี้ หากเทียบกับเมืองต่างๆ ในประเทศอื่น และอยากให้ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เสนอแนวคิดในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร หรือถ้าเราสามารถขุดคลอง เพื่อเพิ่มระบบขนส่งทางน้ำ เชื่อมกับระบบราง ก็น่าจะดี

“ปัจจุบันกรุงเทพฯ พัฒนาไปมาก ควรต้องเชื่อมโยงระบบขนส่งในการพาคนไปจุดหมายปลายทาง เมื่อเวลาเดินทางแล้วไม่ได้สิ้นสุดเพียงเส้นทางเดียว ควรเชื่อมไปจุดนั้นจุดนี้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมี ไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ”

...

ส่วนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากสันดอนสูงเป็นตะกอนสันทรายบริเวณปากอ่าว ทำให้ระดับน้ำช่วงนั้นต่ำ เมื่อปริมาณน้ำมามากเป็นสาเหตุน้ำท่วมไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา และปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในกรุงเทพฯ จนเอ่อล้นเข้าชุมชน และกระทบกับการผลิตน้ำดื่ม ซึ่งจะต้องวางแผนภาคเมืองใหม่ โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแม่น้ำ

อีกข้อเสนอส่วนตัวเห็นว่าควรสร้างเมืองบริวาร โดยใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมกับเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น พิษณุโลก นครราชสีมา ชุมพร หรือประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นเมืองบริวารเชื่อมกับกรุงเทพฯ อาจย้ายหน่วยงานบางส่วนไป รวมทั้งกิจกรรมธุรกิจ เพื่อยับยั้งการอพยพเคลื่อนย้ายของคนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

และสิ่งสำคัญราคารถไฟฟ้าความเร็วสูง จะต้องไม่แพง ซึ่งจะลดปัญหาการจราจรติดขัด นอกเหนือจากการแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วม เพราะกรุงเทพฯ มีชัยภูมิที่ดี ไม่ควรย้ายเมืองหลวงใหม่ แต่ควรสร้างเมืองบริวารเพื่อเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ

...

ย้ายเมืองหลวง ใช้เงินมหาศาล ยังไม่มีความจำเป็น

ขณะที่ “รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา” หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ระบุชัดความหมายของเมืองหลวงในแต่ละทวีปในโลก ไม่เหมือนกัน โดยบางประเทศ คือ ศูนย์กลางการบริหารการปกครองเพียงอย่างเดียว เหมือนกับสหรัฐฯ หรือเมืองหลวงของหลายๆ ประเทศ ก็เป็นแบบนี้

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา

อย่างประเทศบราซิล ย้ายเมืองหลวงจากนครริโอ เดอจาเนโร ไปกรุงบราซิเลีย แต่ศูนย์กลางยังอยู่ที่นครริโอ เดอจาเนโร ในขณะที่บ้านเราเคยมองว่า เมืองหลวงเป็นศูนย์กลางทุกๆ อย่าง แต่ขณะนี้เริ่มมองเหมือนประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ย้ายมาเมืองปุตราจายา หรือเมียนมา ย้ายมากรุงเนปิดอว์ เพราะมีเหตุผลหลายอย่าง

“มาเลเซีย เขาไม่ย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ย้ายบางฟังก์ชั่นไปเท่านั้น และก่อนจะย้ายไปได้วางระบบไอทีระบบออนไลน์ ใช้ในการติดต่อ และเมื่อมีช่องทางการติดต่อ จึงไม่เป็นปัญหา”

...

กรณีอินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง เพราะหนีภัยธรรมชาติ แต่ถ้าถามไทยจะย้ายด้วยเหตุผลใด จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล และในฐานะเป็นนักผังเมืองในภูมิภาคนี้ มีการคุยกับนักผังเมืองชาติอื่นทุกๆ 3 เดือน โดยปลายปีที่แล้ว ให้แต่ละประเทศเตรียมหัวข้อมาเล่า มีชาวอินโดนีเซีย เสนอประเด็นย้ายเมืองหลวง แต่ต่อมาเปลี่ยนหัวข้อบอกว่า ไม่มีการย้ายแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายไม่คุ้ม

การย้ายเมืองหลวงของไทย ในช่วงหลังๆ ไม่มีความจำเป็น จากที่เคยมีโรงงานเต็มไปหมด เช่น แถวเพชรเกษม ก็มีการย้ายออกไปอย่างต่อเนื่อง เพราะการย้ายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการเชื่อมต่อกัน ต้องมีสนามบินระดับอินเตอร์ หากสมมติย้ายเมืองหลวงไป จ.เพชรบูรณ์ หรือ นครราชสีมา ถามว่าสามารถย้ายสนามบินสุวรรณภูมิ ไปได้หรือไม่ ก็ไม่ได้

หากการย้ายเมืองหลวง เพราะเกรงว่ากรุงเทพฯ จะจมบาดาล แต่มีหลายประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่าทะเล ไม่มีแนวคิดย้ายเมืองหลวง เพราะต้นทุนการย้ายขณะนี้ไม่คุ้ม แต่อนาคตไม่รู้ ถามว่าวันนี้เราสู้หรือยัง เพราะต้นทุนการสู้ในการแก้ปัญหาถูกกว่า แม้แต่ต้นไม้ก็ตายเร็ว เมื่อย้ายไปปลูกที่ใหม่

“ทุกอย่างที่เคยคิดเพราะตอนนั้นมีโรงงาน แต่ปัจจุบันมีคอนเน็กชั่น ไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่บวกพื้นที่ปริมณฑล ทำเป็นที่รองรับน้ำ และยังมีเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพิ่งลงทุนของใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชน และรถไฟฟ้าอีกหลายสายยังไม่เสร็จ การจะย้ายต้องย้ายดีๆ ไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล”

หรืออาจย้ายพื้นที่ของรัฐไปก่อน แล้วย้ายหน่วยงานรัฐตามไป เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. อะไรที่ไม่จำเป็นให้เอาออกไป หรือจะเป็นอี-กอฟเวอร์เมนต์ ก็ควรให้หน่วยงานรัฐ ย้ายออกไปอันดับแรก ซึ่งการจะย้ายเมืองหลวงก็สามารถทำได้ แต่ถามว่าย้ายฟังก์ชั่นแบบใดเท่านั้น เหมือนมาเลเซีย แม้ย้ายไปเมืองปุตราจายา แต่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ยังเป็นเมืองหลวงด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเงินเช่นเดิม.