1. จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีปี 2022?

2. มันจะยังคงเติบโตจนตกอยู่ภายใต้แสงสปอตไลต์เฉกเช่นที่มันเป็นมาอยู่หรือไม่?

และแน่นอนคำถามสำคัญที่ทุกคนย่อมอยากรู้ ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับจากการลงทุน จะยังเต็มเม็ดเต็มหน่วยจนน่าหลงใหลอยู่หรือไม่?

ในวันนี้ “เรา” ลองไปฟังมุมวิเคราะห์ที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจในปี 2022 กันดู

** หมายเหตุการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน **

มุมมองด้านบวก

บิตคอยน์ = 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2022

“ผมคิดว่าบิตคอยน์ จะมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปีนี้ หรือบางทีอาจจะเป็นช่วงกลางปี 2022 ด้วยซ้ำไป”

แอนโทนี เทรนเชฟ (Antoni Trenchev) ผู้ก่อตั้ง Nexo แพลตฟอร์มให้กู้ยืมและออมสกุลเงินดิจิทัล

...

อะไรคือข้อสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว?

แอนโทนี เทรนเชฟ ให้เหตุผลว่า “บิตคอยน์” คือผู้ชนะในยุคแห่งการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างแท้จริง โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 60% ในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะยังห่างไกลจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 69,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี 2021 ก็ตาม

แต่เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวที่สูงกว่า S&P500 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 27% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือหากนำไปเทียบกับ ดาวโจนส์ หรือ แนสแด็ก ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะขยับขึ้นเพียง 18.73% และ 21.39% ตามลำดับเท่านั้น!

นอกจากนี้ยังมีอีก “2 ปัจจัยสำคัญ” ที่จะส่งให้ “บิตคอยน์” พุ่งทะยานในปีนี้คือ...

1. บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำหลายต่อหลายแห่งกำลังแห่ “เติมคลังสมบัติของตัวเอง” ด้วยสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องส่งผลต่อมูลค่าของบิตคอยน์ในอนาคตอย่างแน่นอน

** หมายเหตุ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ MicroStrategy บริษัทชั้นนำด้านการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ และ Square บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัล ของ “แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์” ที่สามารถทำกำไรจากบิตคอยน์ได้อย่างมหาศาล และปัจจุบันยังซื้อบิตคอยน์เก็บไว้จำนวนมาก **

2. “Cheap Money” (เงินกู้หรือสินเชื่อที่กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ) ต้นเหตุสำคัญของภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการที่หลายๆ ประเทศได้พิมพ์สกุลเงินกระดาษ (Fiat currency) ออกมาจำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงถึง 6.8% ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี จนกระทั่งทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ เพื่อดูดซับเงินออกจากระบบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างแน่นอน

และนั่น...น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเมียงมองไปที่ ตลาดคริปโตฯ เพิ่มมากขึ้น

(หมายเหตุ ณ วันที่ แอนโทนี เทรนเชฟ วิเคราะห์ (3 ม.ค.22) มูลค่าการซื้อขายบิตคอยน์อยู่ที่ 46,170.43 ดอลลาร์สหรัฐ หากอ้างอิงข้อมูลจาก Coin Metrics)

มุมมองด้านลบ

คริปโตเคอร์เรนซี = สัตว์ประหลาด

“คริปโตเตอร์เรนซี จะกลายเป็นฟองสบู่ทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วมันก็เป็นเพียงแค่ สัตว์ประหลาดตัวหนึ่งเท่านั้น”

...

ริชาร์ด เบิร์นสไตน์ (Richard Bernstein) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Richard Bernstein Advisors LLC บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก

อะไรคือข้อสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว?

แม้ว่าปี 2021 ที่ผ่านมา จะถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างดีสำหรับ คริปโตเตอร์เรนซี หลัง “บิตคอยน์” ดีดราคากลับมาเพิ่มขึ้นได้ถึง 70% ในช่วงเกือบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดคริปโตเตอร์เรนซีโดยรวม มีมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปี 2020 ท่ามกลางการยอมรับในวงกว้างที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ ริชาร์ด เบิร์นสไตน์ เชื่อว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ยั่งยืน นั่นเป็นเพราะความเร่งรีบเพื่อพยายามแห่เป็นเจ้าของ “บิตคอยน์” รวมถึง “เหรียญคริปโตฯ” อื่นๆ มากจนเกินเหตุ จะนำไปสู่ “แนวโน้มที่เป็นอันตราย”

“ฟองสบู่ แตกต่างจากการเก็งกำไรในฟองสบู่ที่แผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่นอกตลาดเงินทุน คุณจะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อผู้คนมากมายเอาแต่พูดถึงเรื่องการเข้าไปจับจอง (เหรียญคริปโตฯ) เพื่อหวังเก็งกำไรในงานปาร์ตี้ค็อกเทล”

โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ริชาร์ด เบิร์นสไตน์ คาดการณ์ว่า เมื่อฟองสบู่บิตคอยน์แตก มูลค่าอาจร่วงลงถึง 90% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีบางตัว ในวิกฤติฟองสบู่ดอตคอม (Dot Com Crisis) เมื่อปี 2000 ด้วย

...

อะไรคือปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลงทุนคริปโตเตอร์เรนซี ในปี 2022?

1. ภาวะความผันผวนอย่างรุนแรง

“บิตคอยน์” เคยทำสถิติสูงสุดถึงเกือบ 69,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ลดลงเกือบ 30% จากจุดสูงสุด นอกจากนี้ในปี 2018 บิตคอยน์ ยังเคยร่วงลงถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากไต่สูงขึ้นแตะระดับเกือบ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้า หรือเท่ากับลดลงเกือบ 85% มาแล้ว

2. ธนาคารกลางสหรัฐ

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ตัดสินใจเตรียมลดระดับวงเงินในโปรแกรม Quantitative Easing (QE) หรือ QE Tapering เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสสภาพคล่องลดลง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเภทสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเกินจริง และการเก็งกำไรในตลาด ซึ่งรวมถึง คริปโตเคอร์เรนซี ด้วย

3. การออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลตลาดคริปโตฯ

ในปี 2021 ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าหลายประเทศเริ่มจับตามอง การเติบโตของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ด้วยความใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้มีคำสั่งห้ามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดแล้ว ส่วนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงว่าจะเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิดมากขึ้นในบางกิจกรรมของตลาด

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจึงมองว่า หลายประเทศน่าจะมีการออกกฎระเบียบที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของตลาดคริปโตฯ ได้มากขึ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...