“น้องๆ พี่ขอ PIN BB หน่อยสิ?”

วรรคทองของความเรืองรองแห่งตำนานการพบรักของหนุ่มสาวต้นยุคมิลเลนเนียล รวมถึง ความเจิดจรัสของหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่โด่งดังที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก...ที่กำลังจะเดินทางมาถึงบทอวสานในวันที่ 4 มกราคม 2022 นี้แล้ว

4 มกราคม 2022

บริษัทแบล็กเบอร์รี จะยุติการให้บริการสนับสนุนสมาร์ทโฟนรุ่นคลาสสิกที่ใช้ระบบปฏิบัติการ BlackBerry 10, OS 7.1 รวมถึงระบบปฏิบัติการก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งนั่นจะเท่ากับว่าสมาร์ทโฟนรุ่นคลาสสิกทั้งหมดของบริษัท ที่ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะไม่สามารถใช้ข้อมูล, ส่งข้อความ, หรือแม้กระทั่งโทรออกได้อีกต่อไป!

และนั่นเท่ากับถือเป็นการ “สิ้นสุด” ความหลงใหลจนถึงขนาดอาจเรียกได้ว่าเป็น “การเสพติด” จนถูกเรียกขานว่า “CrackBerries” ลงอย่างสมบูรณ์ชนิดหมดจรด

สถานภาพและการคงอยู่ ณ ปัจจุบัน ของ แบล็กเบอร์รี?

...

ก่อนจะอ่านในบรรทัดถัดไป รวมถึง พยายามหาทางไปเปิดลิ้นชักเพื่อหยิบเจ้าตัว BlackBerry Bold 9000 แล้วหมุน Trackball เพื่อร้องคร่ำครวญนึกถึงอดีตในช่วงวัยใส

“เรา” ควรไปรับรู้ถึงสถานะปัจจุบันของ “หนึ่งในอดีตราชาสมาร์ทโฟน” ที่ครั้งหนึ่งเคยมีจุดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น ยอดขายมากกว่า 50 ล้านเครื่อง, รายได้มากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นกำไรสุทธิมากถึง 631 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 50% และตลาดโลกอีก 20% รวมถึงเคยมีผู้ใช้งานมากกว่า 85 ล้านคน กันก่อนดีกว่า!

รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด บริษัท แบล็กเบอร์รี ลิมิเต็ด (BlackBerry Limited) มีรายรับรวม 184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแยกเป็นรายได้จาก ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Internet of Thing) หรือ IoT 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ รายได้จากสิทธิบัตรและอื่นๆ รวม 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่...ไม่มีรายได้จากการขายสมาร์ทโฟนอีกต่อไปแล้ว

นั่นเป็นเพราะ “แบล็กเบอร์รี” ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟนมาตั้งแต่ปี 2016 อย่างไรก็ดีจนถึงทุกวันนี้ “พวกเขา” ยังคงมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากเศษเสี้ยวของความยิ่งใหญ่ในอดีต จากการทยอยขายหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรต่างๆ แก่ แบรนด์สมาร์ทโฟนรวมถึงบริษัท Startup ต่างๆ

เหตุใดยักษ์ใหญ่แบรนด์นี้ จึงถึงคราวดิ่งลงเหวและสาบสูญไปจากธุรกิจสมาร์ทโฟนท่ามกลางข้อครหาที่ว่า “ยักษ์ใหญ่ที่ไม่สามารถปรับตัวตามกระแสธุรกิจได้” วันนี้ “เรา” มาค่อยๆ ย้อนความหลังครั้งวัยหวาน ของ “ใครๆ หลายคน” ที่ต้องเคยเอ่ยปากในบรรทัดบนสุดโน่นสักครั้งกันดู!

จุดตั้งต้นที่มาจากการพัฒนาเพจเจอร์ (Pager)

ปี 1984 ไมค์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) และ ดักกลาส เฟอร์จิน (Douglas Fregin) สองนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชาวแคนาดา ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า Research in Motion หรือ RIM ที่รับงานสุดจะหลากหลายจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง GM หรือ IBM

...

แต่แล้วในปี 1989 ก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ บริษัทโทรศัพท์ของแคนาดาแห่งหนึ่งได้ว่าจ้างให้ RIM เข้ามาพัฒนาระบบเครือข่าย Mobitex ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาสำหรับการส่งข้อความบนสมาร์ทโฟน ซึ่งการทำงานโปรเจกต์นี้เองได้ส่งให้ RIM กลายเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องการส่งข้อความบนโทรศัพท์มือถือไปในที่สุด กระทั่งในปี 1996 พวกเขาก็สามารถสร้างเครื่องเพจเจอร์ที่สามารถทั้งส่งและรับข้อความเครื่องแรกได้สำเร็จ

และเพจเจอร์แบบที่ทั้งรับและส่งข้อความได้นี้เอง คือ จุดตั้งต้นให้ RIM เกิดปิ๊งไอเดียและค่อยๆ พัฒนาฟูมฟักมันไปสู่การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในปี 2002 ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่จุดขายเรื่องแป้นพิมพ์แบบเต็มและอำนวยความสะดวกเรื่องระบบการส่งข้อความได้แบบไม่จำกัดทุกที่ทุกเวลาภายใต้ระบบเฉพาะตัว การตอบอีเมล ระบบการรักษาความเป็นส่วนตัวชั้นเลิศ และ สามารถท่องเว็บฯ ได้ จนสามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจยุคนั้นได้อย่างสมบูรณ์ จนเรียกเสียง Wow ดังๆ จากบรรดาเซเลบคนดัง นักธุรกิจชั้นนำ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง จนนำไปสู่วัฒนธรรมความคลั่งไคล้ “แชต Text พาเพลิน” ได้สำเร็จ

...

จุดพลิกผัน มรสุมลูกใหญ่ที่เรียกว่า iPhone?

“ลองพยายามกดพิมพ์บนหน้าจอทัชสกรีนของ iPhone ดูสิ นั่นคือความท้าทายอย่างแท้จริง เพราะคุณไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่คุณกำลังพิมพ์”

ไมค์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) ผู้ก่อตั้ง BlackBerry

นี่คือวรรคทองที่อุดมไว้ด้วยความเสียดสีและเย่อหยิ่งในความสำเร็จชนิดไม่แม้แต่จะมอง “มือถือน้องใหม่” ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2007 ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลด้วยหน้าจอสัมผัส ภายใต้ชื่อว่า iPhone ของ Apple และต่อมาวรรคทองนี้ ได้กลายเป็นอีกหนึ่ง “คำสอน” ให้นักธุรกิจทั่วโลกได้ท่องจำเอาไว้ในใจตัวเองอยู่เสมอว่า...

“ห้ามมั่นใจในตัวเองจนล้นเว่อร์ และจงหมุนให้ทันตามโลก ที่สำคัญอย่าได้คิดดูแคลนคู่แข่งจนเกินงาม”

ความมั่นใจในจุดขายของตัวเองที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน (ในยุคนั้น) ทั้งเรื่องแป้นพิมพ์แบบเต็มและระบบการแชตเฉพาะตัว ทำให้ ผู้บริหารแบล็กเบอร์รี ไม่ได้มองว่า หน้าจอสัมผัสและแป้นพิมพ์เสมือนจริงของ iPhone คือคู่ต่อกร พวกเขามองข้ามมันไปและดื้อรั้นไปกับการผลิตซ้ำสูตรความสำเร็จเดิมๆ ของตัวเองต่อไปและต่อๆ ไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และด้วยเพราะความมุ่งมั่นในจุดขายเดิมๆ ในขณะที่ตลาดมือถือกำลังรุดหน้าไปกับนวัตกรรมร่วมอื่นๆ อย่างรวดเร็วราวกับพายุ เรือเดินสมุทรอันหรูหราและเชื่อว่า...ตัวเองไม่มีวันจมแม้แต่พระเจ้าก็ทำให้จมลงไม่ได้ ซึ่งมีชื่อว่า แบล็กเบอร์รี ก็ค่อยๆ เกิดรูรั่วจนน้ำค่อยๆ ไหลเข้าเรือเพื่อรอวันจมในอีกไม่นานนัก

...

หน้าจอทัชสกรีน ที่แบล็กเบอร์รีเคยหยามหยัน กลายเป็นความแปลกล้ำและได้รับการตอบรับจากผู้ใช้มือถือทั่วทุก 10 ทิศ ผ่านสารพัดแอปพลิเคชันแชตต่างๆ ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดให้กับ iPhone ทำให้ “แบล็กเบอร์รี” ไม่ใช่มือถือเพียงหนึ่งเดียวที่ผูกขาดโลกแห่งการแชตได้อีกต่อไปแล้ว!

หนำซ้ำ เมื่อเพิ่งเริ่มรู้สึกตัวว่า “โอ้ว...แล้วทำไมเราถึงไม่ทำมือถือหน้าจอทัชสกรีนบ้างล่ะ?” ทุกอย่างมันก็สายเกินจะเยียวยาไปแล้ว

เพราะความสำเร็จแบบชนิดถล่มทลายของ iPhone ได้ทำให้บริษัทมือถืออื่นๆ ต่างแห่ผลิตมือถือหน้าจอทัชสกรีนออกมาตามๆ กันจำนวนมากโดยเฉพาะ Samgsung ที่ในเวลาต่อมาสามารถก้าวขึ้นมาท้าชนกับ Apple ได้อย่างคู่คี่สูสี

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “แบล็กเบอร์รี” ทำหน้าจอทัชสกรีนบ้างในปี 2013 มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรหนำซ้ำมันทำให้ สาวกที่ยังชื่นชอบ “การกดแป้นพิมพ์” เบือนหน้าหนีเข้าเสียอีก!

การขาดไร้ซึ่งนวัตกรรม จุดบ่งชี้ถึงการปรับตัวได้สุดแสนจะเชื่องช้าในตลาดสมาร์ทโฟนที่อุดมไปด้วยการแข่งขันราวกับรถแข่ง F1?

การมาถึงของ iPhone ไม่ได้มาเพียงหน้าจอทัชสกรีน แต่มันพาพร้อมกับการเปิดตลาดให้กับนักพัฒนาเพื่อปรับแต่งให้ iPhone กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ดีขึ้นกว่าเดิมผ่าน App Store ด้วยเหตุนี้ สารพัดแอปพลิเคชันที่มาจากไอเดียสุดบรรเจิดจากนักพัฒนาทั่วโลกจึงได้ไหลเข้าสู่ iPhone จนกระทั่งทิ้งไดโนเสาร์อย่างแบล็กเบอร์รี ที่ยังมะงุมมะงาหราอยู่กับการพัฒนา OS ของตัวเองไปไกลลิบลับ (เช่นเดียวกับ Nokia)

นอกจากนี้ เมื่อบวกเข้ากับ การพัฒนากล้องหน้าและกล้องหลัง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดสำคัญสำหรับสาวกสมาร์ทโฟนในยุคนี้ แบล็กเบอร์รีก็ยังทำให้เป็นไปอย่างสุดแสนจะเชื่องช้าและแทบไม่มีอะไรก้าวล้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสารพัดคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้ บรรดาสาวกของแบล็กเบอร์รีจึงค่อยๆ ถูก Apple, Samsung, และผู้มาใหม่จากสารพัดแบรนด์จากประเทศจีน ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ กลืนกินไปอย่างรวดเร็ว

การถูกกลืนกินอย่างรวดเร็วที่ว่านี้ มันเร็วแค่ไหนน่ะหรือ?

ในช่วงระหว่างปี 2009-2010 แบล็กเบอร์รี มีผู้ใช้งานรวมกันทั่วโลกมากกว่า 85 ล้านเครื่อง และสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกาได้มากกว่า 50% แต่อีกเพียง 2 ปีให้หลัง แบล็กเบอร์รี เหลือส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ เพียงไม่ถึง 5% เท่านั้น!

และนี่คือ...“ราคาความหายนะ” ที่ต้องจ่ายให้กับ ความเชื่องช้าสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อสู้ในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงลิบลิ่ว

และในท่ามกลางความโกลาหลที่กำลังเดินทางไปสู่จุดใกล้อับปาง ที่ไร้ซึ่งเงินทุนสำหรับนำไปใช้ทำวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อกลับมาต่อกรกับคู่แข่งได้อีกต่อไป “อดีตผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุทธจักรมือถือ” จึงจำใจ ยุติการผลิตสมาร์ทโฟนอย่างเป็นทางการ รวมถึง ขายสิทธิ์ในชื่อแบรนด์สำหรับการผลิตสมาร์ทโฟนอันสุดแสนภาคภูมิอย่าง BlackBerry ไปให้กับ บริษัท TLC (Telephone Communication Limited) ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ในปี 2016 ไปอย่างสุดขมขื่น

....ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกกลบลบลงอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 4 มกราคม 2022 ดั่งที่ “เรา” ได้จั่วหัวชวน “คุณ” มาอ่านตั้งแต่ในบรรทัดบนสุดโน่นนั่นเอง!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ