เกิดดราม่าอีกครั้ง เมื่อตูน บอดี้สแลม หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย เตรียมกลับมาวิ่งระยะทาง 109 กม. หาทุนการศึกษาให้กับเด็ก 109 คนที่จบ ม.3 แต่ไม่มีทุนเรียนต่อ ได้มีหลายคนไม่เห็นด้วยจนเกิดแฮชแท็ก #พี่ตูนวิ่งทำไม
ส่วนหนึ่งมองว่า ควรเป็นหน้าที่ของรัฐเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ควรขอบริจาคเงินจากการวิ่งของตูน จากปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ให้ระบบการศึกษาดีขึ้น และยังมีนักร้องนักดนตรีเป็นจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากโควิด ออกมาเรียกร้องเพื่อความอยู่รอด แต่ที่ผ่านมาตูน บอดี้สแลม กลับเงียบในเรื่องนี้
การวิ่งของตูนครั้งนี้ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ต่างจากการวิ่งครั้งที่แล้วในการระดมเงินบริจาคซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้มีดราม่าออกมาเช่นกันว่าตูน ไม่ใช่คนไทยคนแรกที่วิ่งจากใต้สุดมาเหนือสุดของประเทศ แม้ที่ผ่านมาทาง Thailand records หรือบันทึกไทย ได้มอบโล่เกียรติบัตรให้กับตูน และบันทึกสถิติ วิ่งผ่าน 20 จังหวัด ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร รวมเวลาวิ่ง 55 วัน รวมทั้ง Nike และ Garmin ได้บันทึกสถิติว่าตูน เป็นคนแรกที่วิ่งในระยะทางที่ไกลที่สุด
...
คนไทยคนแรก วิ่งจากใต้สุดมาเหนือสุด เมื่อ 35 ปี
ไม่ว่าจะเกิดดราม่าอย่างไร “อ.ไชยวัฒน์ วรเชฐวราวัตร” คนไทยคนแรก เคยวิ่งเป็นเวลา 2 เดือน จากใต้สุดอ.เบตง จ.ยะลา ไปเหนือสุด อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผ่านเส้นทาง 24 จังหวัด เมื่อ 35 ปีก่อน ในปี 2529 เพื่อหาเงินค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลน ได้เงิน 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งปัจจุบันอายุ 67 ปี เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
“อ.ไชยวัฒน์” เล่าย้อนไปในอดีตว่า ขณะนั้นเป็นบัณฑิตจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเพชรบุรี และโลกทัศน์สมัยก่อนอาจค่อนข้างแคบมองว่า การวิ่งการกุศลลักษณะนี้เป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ เพราะเป็นครั้งแรกในไทย และสังคมตอนนั้นยังไม่ชินกับเหตุการณ์เล่านี้ คงมีคนไม่เห็นด้วยมองเป็นเรื่องไร้สาระ เพิ่มภาระให้กับหน่วยราชการ
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ได้มีการวิ่งการกุศลจำนวนมาก ทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไป จากที่ตอนนั้นเป็นงานกิจกรรมที่ไม่ใช่นโยบายจากส่วนราชการ หากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ไม่สั่งการให้ความร่วมมือก็ลำบาก หากเอาด้วยก็ใส่เสื้อมาร่วมวิ่งด้วย
“ตอนนั้นเจอปัญหามากมาย วิ่งไปตามยถากรรม และวิธีการไม่เหมือนกับตูน มีทั้งทุนและทีมงาน หากผู้ว่าฯ ให้ความร่วมมือก็ดีไป แต่ดีใจที่ทำได้ เพราะสื่อขณะนั้นยังไม่กว้างพอ ได้เงินมากว่า 2 ล้าน และอาจมากกว่านี้จากการสนับสนุนของหน่วยราชการ คิดว่าทำได้ขนาดนี้ก็ภูมิใจ กับทีมงานเพียง 4-5 คนเท่านั้น และการสื่อสารตอนนั้นลำบาก ต้องหยอดเหรียญตู้โทรศัพท์ติดต่อหน่วยราชการ บอกว่าวิ่งมาถึงพื้นที่แล้ว หากประสานไม่ดีจะไม่ต่อเนื่องก็พลาด”
...
แม้เวลาผ่านไป 35 ปี ไม่ว่าคนจะมองอย่างไรในตอนนั้น ถือเป็นความภูมิใจที่ทำได้ เป็นครั้งหนึ่งของชีวิต ตายไปก็ไม่เสียชาติเกิด เพื่อให้ได้เงินบาทสองบาทไปช่วยเหลือเด็กนักเรียน หากคนสักครึ่งล้านคนในประเทศไทยทำได้จะดีมาก และต้องรู้จักประหยัด ยึดเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้ประเทศเจริญมาก เพราะทุกวันนี้คนไทยยังมองข้ามความสำคัญของข้าวและน้ำแต่ละหยด ไม่อยากให้กินทิ้งกินขว้าง สงสารคนที่ไม่มีจะกิน
...
มองอย่างเข้าใจ อยู่ที่จุดยืนที่ทำ แม้ปิดทองหลังพระ
จากประเด็นดราม่าที่ตูน บอดี้สแลม ไม่ใช่คนไทยคนแรกวิ่งจากใต้สุดมาเหนือสุด แต่เป็น อ.ไชยวัฒน์ หากมองอย่างเข้าใจในการจัดโครงการก้าวคนละก้าว หากมีข่าวออกไปอาจจะกระทบกิจกรรม แม้ใครจะวิ่งเป็นคนแรก หรือคนที่สอง หรือที่สาม แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จุดยืนที่ทำ หรือแม้ปิดทองหลังพระก็ตาม อย่างการวิ่งเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนรูปภาพหายไปเป็นจำนวนมาก เพิ่งมีคนมารู้
...
นอกจากนี้ขณะไปทำธุระที่ จ.สุราษฎร์ธานี เคยเข้าร่วมวิ่งกับตูน ในโครงการก้าวคนละก้าว ซึ่งอยู่นอกเหนือจากแผนของทีมงาน ทำให้ต้องวิ่งอยู่ท้ายๆ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในการเตรียมการหลายๆ อย่าง คิดว่าทีมงานอาจกลัวคนแสวงหาประโยชน์นำไปแอบอ้างได้ แต่ก็ภูมิใจในสิ่งที่ทำ กระทั่งตอนหลังมีคนที่เคยมีอคติ ก็มาขอถ่ายรูปด้วย
“เห็นด้วยกับตูน ในสิ่งที่ทำ เพราะมีชื่อเสียงเป็นดารานักร้อง ถือเป็นความโชคดีของประเทศ ขอให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ หวังว่าจะมีคนแบบนี้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ หรืออาจวิ่งเพื่อสันติภาพ ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้”
กรณีแฮชแท็กฮิตในทวิตเตอร์ #พี่ตูนวิ่งทำไม มองว่าคนที่วิ่งด้วยจะเห็นด้วย แม้อาจต่างความคิด แต่ควรยอมรับในความคิดของแต่ละคนในการทำประโยชน์ หากทำแล้วคุ้มค่าก็ทำไป เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมองในฐานะคนเป็นครู และยิ่งในยุคโควิด ควรช่วยเหลือกัน หากประโยชน์ตกอยู่ที่คนส่วนใหญ่ ก็จะดีกับประเทศของเราต่อไป.