ประชากรไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนแรงงานลดลง และในอนาคตจำนวนผู้รับบำนาญจะเพิ่มขึ้น ทำให้สำนักงานประกันสังคม มีแนวคิดจะขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หรือการปรับเพิ่มอายุเกษียณ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี และจะเพิ่มอัตราที่สูงขึ้นเป็น 1.5% ต่อปี โดยจะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุ จะยังได้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีตามเดิม
ยกตัวอย่างหากส่งเงิน ตั้งแต่อายุ 35 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 20 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา 27.50% ของ 15,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 4,125 บาท และหากขยายเวลาจนถึงอายุ 60 เท่ากับทำงาน 25 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 7.5% ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น 35 % ของค่าจ้าง 15,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1,125 บาท
เมื่อแนวคิดดังกล่าวออกมา ทำให้ "สุชาติ ชมกลิ่น" ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการไปยังสำนักงานประกันสังคม ให้พิจารณายกเลิกแนวคิดที่จะขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ไปเป็น 60 ปี ออกไปก่อน เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
...
"รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีดผู้นำนักศึกษา แกนนำรณรงค์ให้เกิดระบบประกันสังคมในประเทศไทย มองว่า การปรับเพิ่มอายุเกษียณนี้ต้องอธิบายด้วยแนวคิดแบบทางสายกลางบวกแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ไม่ควรอธิบายด้วยทฤษฎีและแนวคิดสัญญาประชาคม คือ ต้องพิจารณาตามสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ หรือสภาวการณ์ของสังคมนั้นๆ ประการแรก สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมชราภาพในอัตราเร่ง และจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤติสังคมสูงวัยได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ประการสอง ไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจโควิด และมีการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไปหลายรอบแล้ว ประการที่สาม ลำพังเองไม่มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแล้วลดจ่ายสมทบ และปัญหาวิกฤติสังคมชราภาพ ฐานะทางการเงินในอนาคตของกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมนั้นอ่อนแอกว่ากองทุนอื่นในกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว จะมีเงินไหลออกจากสิทธิประโยชน์บำนาญอย่างมาก เพราะโครงสร้างสังคมไทยได้เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่แล้ว และเงินน่าจะหมดกองทุนภายในปี พ.ศ. 2594 ประมาณ 30 ปีนับจากวันนี้
ข้อเท็จจริงตามกฎหมายเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไข กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมกำหนดให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในรูปแบบบำนาญชราภาพ การขยายฐานอายุออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และกฎหมายอื่นที่มีการปรับขยายฐานอายุในการจ้างงาน เช่น ในระบบราชการ เป็นต้น
ข้อเสนอเพิ่มอายุเกษียณ ให้กองทุนชราภาพ มั่นคง
การเพิ่มอายุเกษียณ จาก 55 ปี เป็น 60 ปีนั้น ต้องทยอยทำโดยอาจเพิ่มทีละ 1-2 ปี โดยใช้เวลา 5 ปี จะยืดอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีแล้ว จึงจะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์บำนาญได้ จำนวนประชากรในวัย 55 ปี เข้าสู่การเกษียณตามระบบประกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมได้
“จำเป็นที่ต้องยืดอายุการเกษียณ หากจะได้สิทธิประโยชน์เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม การยืดอายุเกษียณ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี อาจทำให้เสียสิทธิการได้รับเงินบำนาญช้าลง แต่สามารถชดเชยโดยให้ผู้ที่ต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานในวัย 55 ปี ให้รับบำเหน็จได้ หรือเลือกรับบำเหน็จบางส่วน แล้วที่เหลือรับเป็นบำนาญเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี”
เพราะขณะนี้มีประชาชนน้อยมากที่เกษียณตัวเองในวัย 55 ปี จึงได้มีแนวทางไปศึกษาว่า หากผู้สูงอายุในวัยเกิน 60 ปี ต้องการกลับมาทำงาน ต้องสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมได้ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้คงเฉพาะสิทธิบำนาญชราภาพ โดยแนวทางที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม คือ เมื่อลูกจ้างที่มีอายุเกิน 60 ปี กลับมาเป็นลูกจ้าง หรือยังคงเป็นลูกจ้างของนายจ้างอยู่ก็ยังคงสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมต่อไป ส่วนกรณีบำนาญชราภาพ จะได้รับต่อเมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
...
หากรัฐบาลไม่ต้องการยืดการเกษียณอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มในกองทุนชราภาพมากกว่าที่ต้องจ่ายสมทบตามปกติ และรัฐบาลต้องเลิกใช้มาตรการลดการจ่ายสมทบเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะเกิดผลกระทบต่อฐานะความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมอย่างมากโดยเฉพาะกองทุนชราภาพที่มีความเสี่ยงสูงสุด
“หากรัฐบาลไม่ทำตามที่เสนอไว้ข้างต้น รัฐบาลก็ต้องมาถามผู้ประกันตนว่า ยินดีจะยืดอายุเกษียณในการรับเงินบำนาญช้าลงหรือไม่ หากประชาชนผู้ประกันตนยอมและเข้าใจสถานการณ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ยืดอายุเกษียณในการรับสิทธิบำนาญได้ ก็ถือว่าผู้ประกันตนเสียสละ และเสียสิทธิไปบ้าง เพื่อให้กองทุนชราภาพมีความมั่นคงทางการเงินในการดูแลลูกหลานของเรา และคนในวัยทำงานรุ่นปัจจุบัน”
หากสังคมไทยไม่เลือกวิธีนี้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบเพิ่มจ่ายเงินสมทบเพิ่ม จากปัจจุบันรัฐบาลจ่ายอยู่ 2.75% ให้เพิ่มเป็น 5% ให้กองทุนประกันสังคม แต่ต้องกลับไปพิจารณาฐานะการคลังของรัฐทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าทำได้รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญในการตัดงบซื้ออาวุธ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือหยุดการรั่วไหลและการคอร์รัปชันในระบบงบประมาณของรัฐให้ได้ ซึ่งแต่ละปีๆ ก็เป็นระดับเป็นแสนล้านแล้ว
...
อย่าเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาประชาคม อันยาวนาน
ขณะที่ “ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง ไม่เห็นด้วยในการยืดเวลาการรับบำนาญ ในระบบประกันสังคม มองว่า รัฐบาลกำลังเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาประชาคมที่มีมายาวนาน เนื่องจากเอาเงินประกันสังคมไปใช้ในทางอื่น ซึ่งอาจผิดประเภท และอาจไม่ถูกกฎหมาย ในการเอาเงินงบประมาณไปใช้ในทางอื่น โดยไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ตามกฎหมาย
“ตอนนี้ยังค้างส่งเงินสมทบ เป็นจำนวนมากกว่า 73,000 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม มีเงิน 2.36 ล้านล้านบาท และการจ้างพนักงานบริษัท ไม่เหมือนข้าราชการ เพราะนายจ้างจำนวนมาก มักให้พนักงานและคนงานเกษียณอายุเพียง 55 ปี เพราะต้องการคนใหม่ที่เด็กกว่า ทำงานได้เร็วกว่า และค่าจ้างถูกกว่า”
...
ปัญหาที่จะตามมาสำหรับพนักงานบริษัทเอกชนที่เกษียณอายุ 55 ปี จะมีความยากลำบาก จะไม่ได้บำนาญจากกองทุนประกันสังคม แม้ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีแล้ว และไม่เคยขาดส่ง เพราะอายุยังไม่ถึง 60 ปี และอาจจะเริ่มขาดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เพราะออกจากงานตอนอายุ 55 ปี แล้วหางานใหม่ไม่ได้ อาจต้องไปขายหมูปิ้ง ลูกชิ้นยืนกิน เพื่อนำเงินมาส่งประกันสังคมกว่า 5 ปี จนอายุถึง 60 ปี จึงจะได้บำนาญ
พร้อมกับตั้งคำถามว่า รัฐบาลเป็นลูกจ้างประชาชน เพื่อจัดการกิจกรรมส่วนรวมของสังคม มีหน้าที่ดูแลประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น การจะเปลี่ยนแปลงสัญญาประชาคม แล้วทำให้ชีวิตประชาชนแย่ลง รัฐบาลคิดแบบนี้ได้อย่างไร.