เศรษฐกิจไทยในปี 2022 ถือว่ามีความท้าทายไม่น้อยเลยครับ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเรากำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังจากที่ได้รับผลของโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยทุกด้าน
หลายท่านอาจอ่านหรือได้เห็นมุมมองเศรษฐกิจไทยจากหลายสถาบันการเงินในประเทศไทยไปบ้างแล้ว แต่ในบทความนี้ผมจะนำมุมมองจากสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งมาฝากครับ ว่าแต่ละแห่งมีมุมมองกับเศรษฐกิจไทยยังไงบ้าง น่าจะทำให้เห็นมุมมองรอบด้าน จากทั้งมุมมองภายในและมุมมองภายนอกได้มากขึ้น
Credit Suisse ชี้เศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง
เริ่มต้นด้วยบทวิเคราะห์จากเครดิตสวิส (Credit Suisse) ในบทวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2022 นั้นมีความไม่แน่นอนสูงมาก จากปัจจัยสำคัญนั่นก็คือนักท่องเที่ยว เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2019 คิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียแล้ว ถือว่าสูงที่สุด
Credit Suisse ย้ำว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะเป็นปัจจัยที่ตัดสินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2022
นอกจากนี้ เครดิตสวิส ได้คำนวณถึงส่วนต่างระหว่าง GDP ของไทย แล้วนำไปเปรียบเทียบกับ GDP ที่ควรจะเป็นในช่วงปกติของไทยนั้นถ่างออกมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์
...
ในบทวิเคราะห์ยังชี้ว่าการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมาเที่ยวประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญก็คือ
- นักท่องเที่ยว ใช้เวลาเตรียมตัวหลักเดือน ถ้าหากประเทศปลายทางเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางได้
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงกับการท่องเที่ยว เนื่องจากมุมมองของนักท่องเที่ยวมองว่าวัคซีนจะถือเป็นจุดสิ้นสุดของการแพร่ระบาด แต่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนนั้นทำให้นักท่องเที่ยวมีสิทธิ์ที่จะหมดความเชื่อมั่นในวัคซีน
- ประเทศพัฒนาแล้วอาจปิดพรมแดนนานตราบเท่าที่นานได้ ฉะนั้นนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ อาจไม่สามารถเข้ามาที่ไทยได้
อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ยังได้แรงส่งต่อเนื่องจากภาคการส่งออกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมุมมองของ Credit Suisse วิเคราะห์ว่า แม้การส่งออกของไทยจะพบกับความท้าทาย แต่ภาคการส่งออกของไทยยังเติบโตได้ในปี 2022 นี้
ANZ กังวลเรื่องหนี้ในครัวเรือน
ทางด้านสถาบันการเงินจากประเทศออสเตรเลียอย่าง ออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) ได้ให้มุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายนนั้นจะคิดเป็นแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
แต่ในบทวิเคราะห์ของ ออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ยังมองว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมาที่ไทยนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2022 ที่จะถึงนี้ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาที่ประเทศไทยราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเองก็ยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ปัจจัยดังกล่าวสัมพันธ์กับค่าเงินบาทของไทย ถ้าหากดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก ก็จะทำให้ค่าเงินบาทของไทยกลับมาแข็งค่า แต่ถ้าหากดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่านั่นเองครับ
ประเด็นต่อมาที่ ออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป กังวลนั่นก็คือ ประเด็นของการฟื้นตัวของการบริโภคภายในครัวเรือนของไทย เนื่องจากไทยกำลังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน (โดยตัวเลขล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2021 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 89.3 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งอัตราเร่งที่สูงขึ้นนั้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป มองว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไป ทำให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการเยียวยา หรือช่วยเหลือได้ถ้าจำเป็น
Deutsche Bank มองเม็ดเงินลงทุนไทยยังไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น
ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่จากประเทศเยอรมนี ออกมุมมองของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา โดยชี้ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทย เปรียบได้กับว่า ไทยมีแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ นั่นคือเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของเศรษฐกิจไทย รวมถึงประเด็นเรื่องภาคการบริโภคภายในประเทศ
...
แต่ประเด็นที่ ดอยซ์แบงก์ ยกมาและน่าสนใจมากๆ คือเรื่องเม็ดเงินลงทุนในไทยยังไหลออกไปต่างประเทศเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม
บทวิเคราะห์ของดอยซ์แบงก์ คำนวณปริมาณเม็ดเงินไหลออกรวมตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020-2021 มีเม็ดเงินไหลออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP และเป็นเม็ดเงินไหลออกมากที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย
เม็ดเงินที่ไหลออกนี้ ดอยซ์แบงก์ ประเมินว่า มาจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ออกมาตรการให้คนไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทของไทยแข็งค่า
แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าอย่างมาก แต่บทวิเคราะห์ยังชี้ว่าเม็ดเงินที่ไหลออกไปในการลงทุนต่างประเทศจะยังมีอย่างต่อเนื่อง
Nomura ชี้แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยยาวในปี 2022
โนมูระ (Nomura) สถาบันการเงินของประเทศญี่ปุ่น มองเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ว่าสามารถฟื้นตัวได้จากการบริโภคในประเทศ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากประชาชนได้รับวัคซีนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี การลงทุนของภาคเอกชนอาจเติบโตช้ากว่าที่คาด เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่สำหรับประเทศไทยนั้น โนมูระ มองว่าภาคการส่งออกของไทยยังเติบโตได้ดีในปี 2022 แต่กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยยังถือว่าต่ำมาก โดยตัวเลขภาคการผลิตของไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 64.4 เปอร์เซ็นต์
นี่คือส่วนหนึ่งของมุมมองเศรษฐกิจไทยจากบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินต่างประเทศครับ โดยบทวิเคราะห์หลายแห่งได้มองว่าปัจจัยสำคัญในปี 2022 ก็คือปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติครับ และจะทำให้ GDP ไทยสามารถแกว่งตัวได้สูงมาก
...
นอกจากนี้ สถาบันการเงินจากต่างประเทศหลายแห่งก็มองปัจจัยที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องของหนี้ครัวเรือนของไทยครับ เนื่องจากมีตัวเลขที่สูงมาก จะกระทบต่อการบริโภคของประชาชนในภายหลังจากนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจากต่างประเทศมองว่ารัฐบาลไทยอาจมีมาตรการบางอย่างออกมารับมือ
สำหรับตัวเลข GDP ไทย ในปี 2022 จากบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินจากต่างประเทศ
- Credit Suisse คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.5 เปอร์เซ็นต์
- UBS มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 6 เปอร์เซ็นต์
- ANZ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4.5 เปอร์เซ็นต์
- Deutsche Bank มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.5 เปอร์เซ็นต์
- Morgan Stanley มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตถึง 4.3 เปอร์เซ็นต์
- Nomura มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4.1 เปอร์เซ็นต์
- Bank of America มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.9 เปอร์เซ็นต์
...
ที่มา - บทวิเคราะห์จาก ANZ, Credit Suisse, Deutsche Bank, Nomura รวมถึงตัวเลข GDP จากสถาบันการเงินต่างประเทศอื่นๆ