ก้าวสำคัญของสปป.ลาว ในการทำพิธีเปิดรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว หรือเส้นทางรถไฟ "ล้านช้าง" ในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ตรงกับวันชาติลาว ปีที่ 46 เชื่อมต่อเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มาสิ้นสุดที่นครเวียงจันทน์ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง รวมระยะทาง 922.5 กิโลเมตร ก่อนจะเปิดเดินขบวนรถอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เฉพาะขนส่งสินค้าเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังระบาดรุนแรง
รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว งบลงทุนประมาณ 1.9 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งการลงทุนเกือบทั้งหมดเป็นของฝั่งจีน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ของจีน หรือโครงการเส้นทางสายไหม ในการเชื่อมโครงข่ายขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ เอเชียกลาง ไปถึงยุโรป แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นในอนาคตต้องเชื่อมผ่านไทย ไปถึงสิงคโปร์
ส่วนความพร้อมของไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น กำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ก่อนเชื่อมต่อเส้นทางข้ามแดนช่วงจ.หนองคาย ในการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง รองรับการขนส่งเส้นทางประวัติศาสตร์ และเพิ่มโอกาสให้กับไทยในการส่งออกสินค้าไปจีนจากต้นทุนที่ถูกลง รวมถึงอานิสงส์จากการท่องเที่ยว หากการก่อสร้างประสบความสำเร็จ หลังล่าช้ามานาน
...
หากสมมติเส้นทางรถไฟสายนี้ เชื่อมต่อไปถึงไทย แม้ในความเป็นจริงอาจใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ในแง่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับมีอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับจีนและลาว "รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม" ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า จีนจะได้ประโยชน์จากการมีเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้า และลดความเสี่ยงหากเกิดปัญหาในทะเลจีนใต้ เพราะขณะนี้มีเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงจะเกิดการปะทะระหว่างจีนกับไต้หวัน จากการยั่วยุของสหรัฐฯ
นอกจากนี้จะเป็นเส้นทางไปสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทั้งคน และทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงได้ใช้ศักยภาพในการระบายกำลังผลิตส่วนเกิน
ขณะเดียวกันจีน ยังได้ใจจากประเทศกำลังพัฒนา ทั้งไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา ในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะลาว รอคอยรถไฟมานาน 100 ปี ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสยึดครอง มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงปี 1984-1986 เปลี่ยนจากลาวแลนด์ลอร์ด มาเป็นลาวแลนดิ้ง จึงฝากความหวังจากการมีรถไฟ และรถไฟสายนี้แพงมาก เพราะด้วยศักยภาพที่จะไปกู้เงินสถาบันการเงินระหว่างประเทศก็ยาก
“เมื่อลาวมีรถไฟ จึงเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การค้าขาย แต่เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ เกิดการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันมากขึ้น จากเดิมต้องนั่งรถตู้ ใช้เวลานาน 10-15 ชั่วโมง และค่าโดยสารรถไฟก็ไม่แพงเท่าไร ทำให้คนเมืองและรอบนอกเชื่อมต่อกันมากขึ้น”
สำหรับระบบรถไฟรูปแบบนี้ ไม่หวังที่จะมีกำไร เหมือนกับจีน มีเพียงเส้นทางปักกิ่งเชื่อมกับเซี่ยงไฮ้ เท่านั้นที่มีกำไร ส่วนเส้นทางอื่นขาดทุน แต่ก่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งกรณีของลาว มีวิธีคิดแบบเดียวกับจีน ไม่มีความคาดหวังเรื่องกำไร แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และแม้ค่าโดยสารรถไฟจะแพงกว่าระบบขนส่งอื่น 10% แต่ประหยัดเวลามากกว่า
ในส่วนไทยหากเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะหากเจอเหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ จะได้รับผลกระทบมากสุด ดังนั้นจะต้องมีเส้นทางขนส่งที่กระจายความเสี่ยง และจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญว่าไทยถึงเวลาแล้วต้องลงมือทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟกับประเทศอื่น เพราะการระบาดของโควิดทำให้ค่าระวางขนส่งแพงมากขึ้น และด้านการเดินเรือก็มีการยกเลิกหรือเลื่อน
...
“หากไทยเชื่อมทางรถไฟได้ ก็น่าทำให้ไทยมีทางเลือกในการขนส่ง และทำให้รัฐบาลต้องปรับตัว เร่งรัดมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาระบบราง สร้างรถไฟทางคู่ไปภาคใต้ ไปภาคอีสาน เป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งรัดให้รวดเร็วมากขึ้น ให้ถูกที่ถูกเวลา ลดผลประโยชน์ส่วนตัวและเห็นประโยชน์แก่ประเทศชาติให้มากขึ้น อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟ และอาจเป็นเครื่องมือในการก้าวกระโดด หรือแม้รางรถไฟเป็นทางคู่ แต่สามารถทำได้ให้เชื่อมโยงกันระหว่างระบบรางกับรถและถนน ขึ้นอยู่กับว่าจะพยายามเร่งรัดหรือไม่ ทั้งแรงผลักแรงถีบในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน”
การเชื่อมต่อทางรถไฟในภูมิภาคของไทย อาจทำในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยต้องผ่อนปรนกฎระเบียบ และคนนั่งหัวโต๊ะต้องมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค และใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในการเป็นเส้นทางขนส่งผ่านไปมา จนกลายเป็นฮับระบบขนส่งระบบรางในพื้นที่ทวีปนี้ด้วย
...
เมื่อเส้นทางรถไฟสายนี้เกิดขึ้น จะมีการพัฒนาในสองฝั่งข้างทางรถไฟและพื้นที่รอบข้างให้เกิดประโยชน์ จากการพัฒนาพื้นที่ค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงความเจริญต่างๆ ตามมา จึงอยู่ที่วิธีคิดของคน อย่ามองว่าไทยจะตกเป็นเมืองขึ้นของจีน ซึ่งเป็นมายด์เซต (Mindset) ไม่แสวงโอกาส แม้ที่ผ่านมายอมรับว่าไทยก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงล่าช้ามานาน ทั้งๆ ที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย.