การพลิกเกมธุรกิจสะเทือนวงการโทรคมนาคม ด้วยการผนึกกำลังของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) บริษัทแม่กลุ่มทรู และกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทางธุรกิจระหว่างกัน ในการจะควบรวมกิจการ และตั้งบริษัทใหม่

ทิศทางอนาคตอาจกุมฐานลูกค้ามากถึง 51.3 ล้านเลขหมาย และครอบครองสัมปทานคลื่นความถี่ 6 ย่านความถี่ กลายเป็นการผูกขาดหรือไม่ จนสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนในสังคม เพราะจะเหลือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดผู้ให้บริการเครือข่าย จาก 3 เหลือเพียง 2 รายเท่านั้น ระหว่างทรู-ดีแทค และเอไอเอส อาจส่งผลให้การแข่งขันลดลง ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก เป็นโจทย์ใหญ่ที่ กสทช.ต้องเข้ามาดูแล ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาด

ความกังวลที่เกิดขึ้น ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาเคลื่อนไหวในทันที ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค และเตรียมจะทำข้อเสนอไปยัง กสทช. ควรสั่งห้ามการควบรวมกิจการ ทำให้อำนาจเหนือตลาด และเสนอไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค รวมถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หากการควบรวมครั้งนี้มีผลต่อการแข่งขัน

...

“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) บอกอย่างชัดเจนการควบรวมกิจการ จะกระทบผู้บริโภคแน่นอน เพราะมีโอกาสเลือกน้อยลง โดยทรูเป็นผู้บริการลำดับที่ 2 มีผู้ใช้บริการ 32 ล้านเลขหมาย ส่วนดีแทค มีผู้ใช้งาน 19.3 ล้านเลขหมาย หากควบรวมจะทำให้มีผู้ใช้งาน 51.3 ล้านเลขหมาย จะกินส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าเอไอเอสในทันที ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ มีผู้ใช้บริการ 43.7 ล้านเลขหมาย

เพราะหากพิจารณาตามกฎหมายทางการค้า ระบุชัดเจนห้ามมีอำนาจเหนือตลาดเกิน 50% เป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามไปถึง กสทช. ว่าทำได้หรือไม่ เมื่อควบรวมกันแล้วจะมีสัดส่วน 52% ถือว่ามีอำนาจในตลาดหรือไม่ ต้องออกมาตอบคำถามกับประชาชน

สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง

นอกเหนือจากผู้บริโภคจะถูกตัดสิทธิ์ในทางเลือกลดลง ยังกังวลว่าจะส่งผลต่อราคาและคุณภาพบริการหรือไม่ อาจจะแบ่งตลาดกันเล่น สุดท้ายไม่มีการแข่งขันกัน เพราะไม่มีแรงจูงใจ และอาจมีบริการทำให้ต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะการใช้สมาร์ทโฟน เป็นเรื่องจำเป็นในการใช้ชีวิตไปแล้ว ทั้งการรับเงินสวัสดิการ การรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ในโครงการต่างๆ 

ขณะเดียวกัน กสทช. ควรจะทำให้เกิดเจ้าใหม่มากขึ้น ให้มีการแข่งขันในพื้นที่นี้ หรือเปิดโอกาสให้ใช้คลื่นตัวเองในราคาพิเศษ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น ให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพราะวันนี้ทุกคนเห็นชัดเจนว่าการแข่งขันมีความสำคัญต่อผู้บริโภค และการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน

"ทรูและดีแทค สามารถใช้เงื่อนไขประกาศของ กสทช. ในการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันได้ โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ยกตัวอย่างการให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน จะทำให้ลดต้นทุน แต่ไม่เคยเห็นการทำความร่วมมือในลักษณะนี้ เช่น การให้ใช้เสาของแต่ละเจ้าได้ จึงไม่สนับสนุนให้เกิดการควบรวม เพื่อตัดโอกาส ตัดทางเลือกของผู้บริโภค”

...

ประสานเสียง คัดค้านควบรวม กระทบผู้บริโภคแน่นอน

เช่นเดียวกับ “พวงทอง ว่องไว” อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เห็นว่า แม้ปัจจุบันการควบรวมจะอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น ยังไม่มีการควบรวมบริษัทในระดับเชิงพื้นที่ แต่หากเกิดการควบรวมจริง จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจน อาจทำให้การแข่งขันน้อยมาก ผู้บริโภคเองไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ และหาก 1 ใน 2 ของบริษัทที่มีอยู่ กำหนดค่าบริการที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“ผู้บริโภค มีสิทธิในการเลือกใช้สินค้าและบริการ เพราะฉะนั้นบริการต้องมีความหลากหลาย อยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกในเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภค และเร่งดำเนินการ อยากให้ผู้บริโภคทั้งประเทศรู้ถึงผลกระทบที่เกิด”

“ชลดา บุญเกษม” อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่าประเทศไทย มีค่ายมือถืออยู่ 3 ค่ายหลัก มีการแข่งขันกันอยู่ในประเทศ ทั้งด้านพัฒนาการบริการใหม่ๆ หรือการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงการแข่งขันด้านราคา จะเห็นว่าการแข่งขันต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่สมมติมีการควบรวมกัน แม้จะในระดับผู้ถือหุ้น อาจทำให้สัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปหรือลดลง จากที่มี 3 ค่าย ก็จะเหลือแค่ 2 ค่ายเท่านั้น กระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน จึงไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

อีกประเด็นที่สำคัญมากเป็นปัญหาข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกหลอกมากมาย จากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หากมีการควบรวมจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมากแน่นอน ในการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่ควรให้ควบรวมในครั้งนี้

...

“บุญยืน ศิริธรรม” ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุจุดยืนไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโต หรือการร่วมทุนของธุรกิจใดๆ เพราะแต่เดิมผู้บริโภคมี 3 ทางเลือก หากเกิดการควบรวมจะเหลือเพียง 2 ทางเลือก เป็นทางสองแพร่งหรือไม่ จะมีหลักประกันอะไรว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะไม่ลิดรอนทางเลือก ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มากกว่าปัจจุบัน.