• ทรูซื้อดีแทค หรือทรูรวมดีแทค กำลังสรุปจากทั้งฝ่าย และหากสำเร็จดีลนี้จะมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท 

  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานยืนยันว่า เทเลนอร์กำลังเจรจาการเป็นพันธมิตรกลยุทธ์ทางธุรกิจกับทรู แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

  • เอไอเอสต้องกลัวหรือไม่ หากทรูซื้อดีแทค หรือร่วมกันในรูปแบบอื่นสำเร็จ จนชิงแชมป์เบอร์ 1 ในตลาดไปได้

หลังเป็นข่าวลือมานานหลายปี ในที่สุดเทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ก็ออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ว่า กำลังเจรจากับทรู ในเครือซีพี ในการควบรวมกิจการ ยังไม่ได้ยืนยันรูปแบบว่า ทรูซื้อดีแทค หรือควบรวม ซึ่งงานนี้หากเจรจาสำเร็จ จะขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ที่มีจำนวนลูกค้าสูงสุดในไทยแทนที่เอไอเอสทันที

ก่อนหน้านี้ เทเลนอร์เคยปฏิเสธในการขายกิจการดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)ในไทย และกลุ่มทรู หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เองก็ปฏิเสธข่าวลือนี้มาโดยตลอด และล่าสุดทั้งทรูและดีแทค ต่างออกมากระบุว่า หากมีข้อมูลจะชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

การที่เทเลนอร์ออกมาระบุถึงการเจรจาครั้งนี้ จึงถือว่าชัดเจนขึ้นในการหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งให้ดีแทค โดยก่อนหน้านี้ก็เพิ่งขายธุรกิจในเมียนมา และเพิ่งประกาศแผนควบรวมกิจการกับบริษัทเอเซียต้า (Axiata Group Bhd) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของมาเลเซีย ด้วยมูลค่ามูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 5 แสนล้านบาท และหากดีลกับทรูสำเร็จ รอยเตอร์ระบุไว้ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2.5 แสนล้านบาท

ทางเลือกทรูและดีแทคเพื่อเป็นเบอร์ 1

เป็นที่รู้กันว่าการเจรจานี้เกิดขึ้น เพราะต่างมีเหตุผลของตัวเอง โดยทางเลือกของดีแทคในไทยมีไม่มากนัก เพราะตกอันดับจากผู้ให้บริการที่มียอดลูกค้าสูงสุดอันดับ 2 รองจากเอไอเอส กลายเป็นอันดับ 3 ต่อจากทรู ขณะที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น และต้องการเงินทุนมหาศาลในการขยายเครือข่าย 5G ขณะที่ลูกค้าและรายได้ลดลงเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องราวดีๆ สำหรับดีแทคและเทเลนอร์อีกต่อไป

...

ขณะที่ทรูแม้จะกวาดลูกค้าจนแซงหน้าดีแทคแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ การโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการขยายฐานลูกค้าให้มากที่สุด เป็นทางเลือกที่ดีในเวลานี้

งานนี้จึงต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่า หากทรูกับดีแทคเป็นหนึ่งเดียวกัน จะมีผลต่อใครบ้าง แน่นอนว่าจะกลายเป็นเบอร์ 1 ทันทีในแง่จำนวนลูกค้า และรายได้ แทนที่เอไอเอส หรือบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ครองตำแหน่งนี้มานานกว่า 30 ปี ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของไทย นับตั้งแต่ยุคที่ก่อตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงการขายหุ้นให้สิงเทล ของสิงคโปร์


ความเป็นที่ 1 ที่วัดจากจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ปรากฏชัดเจน ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 วันที่ 30 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ทั้ง 3 ค่ายมือถือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปยอดลูกค้าจากน้อยสุดไปหามากสุดได้ดังนี้

-ดีแทคมีลูกค้าอยู่ทั้งหมด 19.3 ล้านเลขหมาย
-ทรู ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช มีลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย
-เอไอเอสมีผู้ใช้บริการอยู่ 43.7 ล้านเลขหมาย

เท่ากับว่าหากรวมจำนวนลูกค้าดีแทคและทรูแล้วเท่ากับ 51.3 ล้านเลขหมาย มากกว่าเอไอเอสประมาณ 8 ล้านเลขหมาย

ความเป็นที่ 1 ยังวัดจากรายได้อีกด้วย โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ผ่านมา ดีแทคมีรายได้น้อยที่สุด แต่ยังมีผลกำไร แต่แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เพราะพึ่งพิงเฉพาะรายได้จากบริการโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ขณะที่ทั้งทรู และเอไอเอส ต่างมีธุรกิจอื่นมาเสริม โดยเฉพาะบริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้รายได้โดยรวมยังสูง

หากรวมรายได้ของดีแทค และทรูแล้ว ถือว่าชนะ เพราะเม็ดเงินมากทะลุไปถึง 52,198 ล้านบาท แยกเป็นดีแทคมีรายได้รวม 19,232 ล้านบาท กำไรสุทธิ 832 ล้านบาท และทรูมีรายได้รวม 32,966 ล้านบาท เฉพาะรายได้จากทรูมูฟ เอช มีจำนวน 19,800 ล้านบาท แต่ทั้งเครือยังขาดทุน 603 บาท

ส่วนเอไอเอส รายได้รวม 42,377 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,374 ล้านบาท ซึ่งเอไอเอสมีฐานเงินรายได้และกำไรที่แข็งแกร่งมากกว่า

เอไอเอสสุดแกร่งทั้งฐานะการเงิน และผู้ถือหุ้น

เกมธุรกิจจึงไม่จบแค่จำนวนลูกค้ามีไว้โปรโมตโฆษณาประชาสัมพันธ์ และรายได้ แต่เม็ดเงินกำไรที่ส่งคืนผู้ถือหุ้น คือสิ่งที่สำคัญกว่า

...

ดังนั้นความเป็นที่ 1 ในการวัดจาก มาร์เก็ตแคป หรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 18 พ.ย. 2564 เอไอเอสยังชนะเลิศเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าอยู่ที่ 587,350.34 ล้านบาท รองลงมาคือทรู 146,152.70 ล้านบาท ตามด้วยดีแทค อยู่ที่ 97,080.25 ล้านบาทเท่านั้น และแม้ดีแทค และทรูรวมกัน ก็ยังห่างไกลเอไอเอส

จึงเป็นเหตุผลที่สะท้อนออกมาให้เห็นที่ราคาหุ้นเอไอเอสสูงกว่าตลอดกาลหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับทรู และดีแทค โดยราคาวันที่ 19 พ.ย. หุ้นเอไอเอสเฉลี่ยอยู่ที่ 196 บาท และเมื่อมีข่าวทรูกับดีแทคอาจรวมกัน ราคาหุ้นเอไอเอสแทบไม่สะเทือน ตกลงไม่ถึง 1%

ส่วนดีแทค หากได้รวมกับทรูถือว่าเป็นผลบวก สะท้อนจากราคาหุ้นเฉลี่ยวันที่ 19 พ.ย.อยู่ที่ 41.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.61% และสูงกว่าปีที่แล้วเช่นกัน

ขณะที่ดูเหมือนว่า การเจรจาซื้อดีแทค หรือควบรวมกันครั้งนี้ นักลงทุนยังไม่ตอบรับเชิงผลบวกกับทรูเท่าไรนัก สะท้อนจากราคาหุ้นของทรูในวันที่ 19 พ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 4.43 บาท ลดลง 1.37%

สุดท้ายแล้วการเจรจาจะสรุปอย่างไร ยังคงต้องรอแถลงรายละเอียดจากทั้งทางฝั่งทรูและเทเลนอร์อีกครั้ง ว่าทรูซื้อดีแทค หรือเทกโอเวอร์ หรือแลกเปลี่ยนหุ้นเพื่อควบรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือจะมีรูปแบบอื่นใดตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ตามต้องการ แต่ที่แน่ๆ รวมกันแล้วเพื่อแข่งเอไอเอส ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเอไอเอสไม่เพียงผลประกอบการดี ฐานลูกค้าแข็งแกร่งและมีความภักดีต่อแบรนด์สูง

แต่ยังมีบริษัทแม่ที่แข็งแกร่งในทุกด้านอย่างบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ถึง 40% และสิงเทล จากสิงคโปร์ 23% โดยอินทัช มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ถึง 31.40% อีกด้วย