ความโกลาหลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 บริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี เกิดน้ำทะเลหนุนเอ่อขึ้นสูง ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและถนนหลายสายมีน้ำท่วมขังสูง การจราจรติดขัดอย่างหนัก สร้างความเสียหายเดือดร้อนไปทั่ว

เกิดคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี จะเกิดน้ำทะเลหนุน ทำไมไม่มีการเตือนใดๆ อย่างจริงจัง ให้ประชาชนเตรียมรับมือป้องกันและขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง

ก่อนการประชุมโลกร้อน COP26 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) ออกรายงานฉบับที่ 6 ส่งสัญญาณสีแดงไปยังนานาประเทศ ให้รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปลายปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความล่อแหลมมากขึ้นที่ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก

ไม่เท่านั้น กรีนพีซ เอเชียตะวันออก เคยระบุพื้นที่มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงน้ำท่วม หากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น และในอีก 10 ปี พื้นที่ย่านธุรกิจหลัก เช่น สีลม สาทร และเพลินจิต อาจได้รับผลกระทบ พร้อมเตือนว่า รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยอาจถูกน้ำท่วมเช่นกัน

...

ด้านกายภาพของกรุงเทพฯ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1.5 เมตร มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในช่วงมรสุม และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นดินทรุดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นจากระดับน้ำทะเลหนุนเพิ่มขึ้น ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และอาจจะจมบาดาลภายในปี ค.ศ.2030 จากการรายงานของธนาคารโลก

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ย้ำอีกครั้งถึงสถานะความเปราะบางของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้หลายฝ่ายเกิดความตื่นตัวและตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ รุนแรงกว่าปี 2554 และจะรุนแรงมากขึ้นอีก เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) มีความก้าวหน้าและแม่นยำมากขึ้น ว่ากรุงเทพฯ จะจมหรือไม่ โดยเฉพาะข้อมูลระดับความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเล

นอกจากนี้เว็บไซต์วารสารเนเจอร์ ได้ตีพิมพ์ข้อมูลออกมาชี้ให้เห็นว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความเสี่ยงสูงมากจะจมใต้น้ำ หากไม่ทำอะไร โดยทุก 30 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรนิ่งเฉยในการออกมาตรการป้องกันในการเร่งทำแนวคันกั้นป้องกันน้ำทะเลหนุน โดยทำถนนเลียบชายฝั่งยกขึ้นมาให้สูง มีการปลูกป่าชายเลนคั่นอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นกันชนซึบซับความรุนแรงของคลื่นทะเล อาจทำยาวมาตั้งแต่พื้นที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับชุมชน กว่าจะดำเนินการให้เสร็จต้องใช้เวลานาน

“อาจต้องมีการเจรจา และแน่นอนจะมีการฟ้องร้องระหว่างคนที่อยู่นอกคันกั้น กับคนที่อยู่ในคันกั้น แต่หากไม่ทำเลย จะแย่เพราะน้ำทะเลจะหนุนรุนแรงมากขึ้น จนสร้างความเสียหาย ประเมินกันว่าอีก 10 ปี จะเกิดความเสียหาย 4 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี และอีก 30 ปี จะเสียหายมากขึ้น 4 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เป็นเงินมหาศาล จึงต้องคิดถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ลงทุนเพียงอย่างเดียวในการจัดระเบียบการใช้ที่ดิน ด้วยการทำถนนริมชายฝั่ง เป็นทางเลือกที่ต้องทำคันกั้นน้ำ หรืออาจทำจากพัทยามาชะอำก็ได้ ควบคู่กับการพัฒนาโครงการอื่นๆ”

...

แม้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก และใช้ระยะเวลานาน แต่ต้องดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วพื้นที่สมุทรปราการจะจมน้ำ ตามมาด้วยกรุงเทพฯ และจะขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ชั้นในที่เปราะบาง ส่วนพื้นที่แม่น้ำต้องทำประตูน้ำเปิด-ปิด เหมือนแม่น้ำเทมส์ ในประเทศอังกฤษ ป้องกันน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนเข้าพื้นที่ เพราะขณะนี้พื้นที่สวนทุเรียนในนนทบุรี และสวนส้มโอในนครปฐม ได้รับความเสียหายหนักเป็นวงกว้าง

...

น้ำทะเลหนุนรุนแรง ดินทรุดทุกปี กทม.เสี่ยงจมบาดาล

กรณีน้ำทะเลหนุนสูงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ไม่ได้เกินคาด แต่จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ในปีต่อไปทุกๆ ปี โดยจะเกิดน้ำขึ้นและลงตามปกติ แต่น้ำทะเลจะหนุนเพิ่มระดับขึ้น จากผลพวงโลกร้อน ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะโดนไปด้วย เพราะมีระดับความสูงเพียง 1.5 เมตรเหนือน้ำทะเล ซึ่งที่ผ่านมาระดับน้ำบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ในสมุทรปราการ สูงขึ้นประมาณ 2.1-2.2 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากอีก 10 ปี จะสูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร และ 30 ปี จะสูงเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตรเป็นการถาวร หากน้ำลงก็จะลงเล็กน้อย ทำให้น้ำท่วมขังนานขึ้น

จากสภาพทางกายภาพพื้นที่กรุงเทพฯ มีดินทรุดลงเกือบ 2 เซนติเมตรต่อปี ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะจมน้ำ หากไม่มีการเตือนภัยบอกประชาชน จะทำให้เกิดความเสียหายหนัก สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และในอีก 10 ปี จะเห็นผลชัดขึ้นที่กรุงเทพฯ จะจมบาดาล ซึ่งจากนี้ไปประมาณวันที่ 21-24 พ.ย. น้ำทะเลจะหนุนอีก และระดับน้ำจะสูงสุดในวันที่ 5-9 ธ.ค.จะต้องเฝ้าระวังอีกครั้ง.

...