เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือโลกเสมือนจริง จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โครงสร้าง Metaverse เกี่ยวข้องกับกิจการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม 5G-6G กลุ่มสินค้าไอทีและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจฟินเทคและธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจบันเทิงและการทำงานเสมือนจริง จะได้ประโยชน์เต็มที่และมีการขยายตัวสูง
ทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการหลายอย่างหายไปจากตลาด และถูกแทนที่โดยสินค้าและบริการใหม่ๆ จากผลของ Metaverse และคอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computing) ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้น หากการเข้าถึงต่างกันมาก
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ มองว่า เมตาเวิร์ส อีโคโนมี (Metaverse Economy) จะเป็นภาคต่อยอดของดิจิทัล อีโคโนมี (Digital Economy) ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วและแรงกว่า Digital Economy แบบเดิม หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ และหลายธุรกิจอุตสาหกรรมของหลายประเทศ รวมทั้งไทย
...
ขณะที่ไทยมีความพร้อมรับมือในระดับต่ำถึงปานกลาง ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการและโครงสร้างพื้นฐาน จะอยู่ในฐานะผู้ซื้อและผู้ใช้เทคโนโลยีต่อไป ไม่ใช่ในฐานะผู้ผลิตหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่สามารถใช้ประโยชน์จาก Metaverse Economy ในทางเศรษฐกิจได้
"Metaverse Economy" เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากโลกใหม่ที่เป็นการหลอมรวมโลกจริง กับโลกเสมือนจริง เป็นโอกาสของธุรกิจโฮมสเตย์ กิจการอสังหาริมทรัพย์บางประเภทและภาคท่องเที่ยวไทย มีการซื้อขายทางออนไลน์จากเดิมที่เห็นเพียงข้อมูล รูปภาพหรือเสียง เป็นการสัมผัสสินค้าหรือบริการได้ และจะมีการพัฒนาสินค้าในรูปของดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ทำให้ภาคผลิตลดต้นทุนอย่างมหาศาลจากการลองผิดลองถูก เกิดความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงขึ้น
“Metaverse จะเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีแนวโน้มจะมาแรง เร็วและยาวนาน เมื่อบวกเข้ากับ Quantum Computing จะไปไกลกว่าอินเทอร์เน็ต ทำให้รอยต่อระหว่างโลกกายภาพกับโลกดิจิทัล เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อและไม่ก่อให้เกิดความสะดุดหยุดชะงัก”
โครงสร้างของ Metaverse เกี่ยวข้องกับกิจการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะเกิดการจ้างงานจำนวนหนึ่งจากการผลิตสินค้าและการให้บริการใหม่ โดยกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม กลุ่มสินค้าไอทีและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจฟินเทคและธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจบันเทิงและการทำงานเสมือนจริง จะได้ประโยชน์เต็มที่และมีการขยายตัวสูง
ส่วนกิจการค้าปลีก ธุรกิจธนาคารและการลงทุนแบบเดิม ธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน หรือคนกลางในภาคท่องเที่ยว ภาคการศึกษา ภาคบริการการเงินและการลงทุน ธุรกิจให้เช่าสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบ ส่วนกิจการพลังงานแบบเดิม ในระยะยาวอุปสงค์จะค่อยๆ ลดลง ส่งผลให้ตำแหน่งงานจำนวนมาก จะหายไปเช่นเดียวกับหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ และเกิดงานใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำงานจากที่ใดในโลกใบนี้ได้ โดยไม่ต้องเข้าสถานที่ทำงาน
...
“รูปโฉมใหม่นี้ จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่และเป็นความคุ้นชินใหม่ โดยเฉพาะในสังคมหรือในประเทศที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากการเข้าถึงต่างกันมาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ไขให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสถาบันและกฎระเบียบ ให้การเข้าถึงอย่างเสมอภาคทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง”
นอกจากนี้การลงทุนวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์นาโน จะพลิกโฉมวงการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต และเกิดการหลวมรวมของภาคเศรษฐกิจ มีการทำงานแบบเครือข่ายเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี เกิดการเชื่อมโยงทุกอย่างเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงาน รูปแบบกระบวนการทำงานและกลยุทธ์รวมทั้งโครงสร้างองค์กรแตกต่างออกไปจากเดิม.