ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงเดือนกันยายน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เก็บข้อมูลคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย รวม 85,845 ราย โดยชาติที่มาเมืองไทยมากที่สุดคือ สหราชอาณาจักร 8,170 คน รองลงมาก็คือ ชาวเยอรมัน 6,694 คน

กระทั่งวันที่ 1 พ.ย. วันเปิดประเทศ แค่เพียงวันเดียวก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยราว 6,600 คน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูการท่องเที่ยว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เผยว่า ตั้งแต่ปลดล็อกการเดินทางตั้งแต่เดือนตุลาคมก็ทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น พัทยา หัวหิน เขาใหญ่ หรือเชียงใหม่ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางกันมากขึ้น

“สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวหลัก คงต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวฯ เคยประเมินไว้ว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณเดือนละ 3 แสนคน ในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาปกติ คือ เดือนละ 3 ล้าน แต่ตรงนี้ก็ถือว่าดีแล้ว ซึ่งก็มีโรงแรมรับได้อยู่แล้ว”

...

จากข้อมูลที่ได้รับคือ ในวันแรก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาที่กรุงเทพฯ ประมาณ 2 พันกว่าคน เมื่อคุยกับเอเจนต์ที่พานักท่องเที่ยวเข้ามา เขาดีใจกันมาก บอกว่าตอนนี้ยอดจองดีมาก ยอดจองเข้ามาจนถึงสิ้นปี แต่ดีขึ้นในที่นี้ คือ การดีขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก ซึ่งทาง ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็ประเมินไว้ว่าปีหน้าน่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทยสัก 10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25% ซึ่งเชื่อว่าปีหน้าจะอยู่ใน “ภาวะฟื้นตัว”

3 กลุ่มหลักเดินทางเข้าไทย ท่องเที่ยว ทำธุรกิจ และ Medical tourism

นายกสมาคมโรงแรมไทย เผยต่อว่า เวลานี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ส่วนใหญ่จะลงใต้ โดยเฉพาะชาวต่างชาติกลุ่มสแกนดิเนเวีย เพราะถือเป็นช่วงหนีหนาวของเขา และที่สำคัญ การเที่ยวจะเป็นลักษณะไม่เดินทางไปไหนมากไหนเยอะ

ส่วนชาวต่างชาติที่มาลงเครื่องบินที่กรุงเทพฯ จะเป็นคนไทยบางส่วนที่เดินทางกลับประเทศ ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามากรุงเทพฯ มากในเวลานี้คือ คือ ชาวญี่ปุ่น เพราะเขาเดินทางมาทำธุรกิจในประเทศ

กลุ่มที่ 2 เป็นนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายไปที่ พัทยา จ.ชลบุรี เพราะมีข้อกำหนดว่าเมื่อลงจากเครื่องบินแล้ว ต้องเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเขาก็มุ่งหน้าไปพัทยาเลย

กลุ่มที่ 3 คือ Medical tourism คือ กลุ่มที่เข้ามารักษาตัว ในเมืองไทย

“ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้อาจจะเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่านี้ก่อน เพราะเป็นเหมือนการอุ่นเครื่องเปิดประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่เปิดประเทศแล้วมีคนสนใจเข้ามาท่องเที่ยว แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นในเดือนธันวาคม เพราะถือเป็นช่วงไฮซีซั่น”

5 ข้อ เรียกความมั่นใจ ชาวต่างชาติเข้าไทย

เมื่อถามนายกสมาคมโรงแรมไทย ว่า อะไรที่เรียกความมั่นใจให้เขาเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย นางมาริสา นิ่งคิดครู่หนึ่ง ก่อนจะไล่เรียงเป็นข้อๆ ว่า...
1.มาตรฐานความปลอดภัยเรื่อง SHA และ SHA+ ซึ่งได้รับการรับรองจาก world travel and tourism council
2.อัตราการเสียชีวิตของคนไทยน้อยลง
3.อัตราฉีดวัคซีนของคนไทย และผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งเวลานี้ในส่วนพนักงานโรงแรมต่างๆ ถือว่าได้วัคซีนกันเกือบหมดแล้ว เพราะผู้ประกอบการจะได้มาตรฐาน SHA และ SHA+ พนักงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนแล้ว
4. การที่เราปฏิบัติการตามหลักสุขอนามัย ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถือเป็นการสร้างความมั่นใจ
5.มีระเบียบการเข้ารับบริการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน เช่น นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม และการตรวจตอนเข้าประเทศหลายรอบ ทั้งก่อนมา และหลังเดินทางมาถึง ทำให้สร้างความมั่นใจให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

...

“ต้องยอมรับว่ามีการตรวจพบชาวต่างชาติเป็นโควิดอยู่บ้าง หากเปรียบเทียบในช่วงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่พบเพียง 0.3% ซึ่งหากเปิดประเทศจริงๆ หากมาเดือนละ 3 แสนคน ตามการประมาณการ ก็เชื่อว่าจะมีคนติดโควิดเข้ามามากกว่านั้น แต่จากมาตรการที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยไม่เคยแพร่เชื้อโควิดให้คนไทยเลยสักคนเดียว”นางมาริสา กล่าว

หากพบว่าติดเชื้อ เขาจะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลคู่สัญญากับโรงแรม ซึ่งนี่คือเงื่อนไขที่นักท่องเที่ยวต้องยอมรับก่อนเดินทางเข้ามา คนที่ติดโควิดมาแล้ว คนที่นั่งข้างๆ ซ้ายขวาก็ถือว่าสัมผัสเสี่ยงสูง ก็จำเป็นต้องรอดูอาการด้วย แน่นอนว่า อาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนแต่ก่อน เรื่องนี้จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้อง รัฐบาล โรงแรม เอเจนต์ เร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจก่อน

...

โรงแรมที่เป็น SHA และ SHA+ และความเหลื่อมล้ำ

นายกสมาคมโรงแรมไทย ยอมรับว่า เวลานี้ผู้ประกอบการโรงแรมขอเข้าโครงการ SHA และ SHA+ มากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็ประมาณ 290 กว่าแห่ง

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการโรงแรมใหญ่ ได้เปรียบ ผู้ประกอบการรายเล็กหรือไม่ นางมาริสา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า โรงแรมที่ใหญ่ เขาอาจจะมีความพร้อมมากกว่า เพราะเขาจะมีคู่สัญญากับทางโรงพยาบาล เข้าโครงการ SHA+ ได้ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวพักคืนแรกแล้ว จากนั้นคืนที่ 2 ก็อาจจะย้ายโรงแรมได้

“ยอมรับว่าเวลานี้โรงแรมเล็กๆ ยังได้รับผลกระทบมาก หากเราไปดูที่ ถนนข้าวสาร ก็จะเห็นว่าปิดไปเยอะ เรียกว่าร้างเลย แต่ตอนนี้ โรงแรมเล็กๆ ก็เริ่มสมัครเข้ามาตรฐาน SHA+ กันแล้ว เช่น ซอยนานา แต่แน่นอน การมาในเวลานี้ค่าใช้จ่ายย่อมเพิ่มขึ้นกว่าปกติ โดยมีค่าตรวจโควิด ประมาณ 2 พัน และค่าประกันภัยต่างๆ”

ความแตกต่างในตอนนี้คือ นักท่องเที่ยว อาจจะไม่จำเป็นต้องกักตัวนาน เลยไม่จำเป็นต้องอยู่นาน อาจจะอยู่ 3-4 คืน แล้วบินกลับก็ได้

คืนแรกต้องเข้มกฎระเบียบ ฝากทุกโรงแรมอย่าละเลย

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดประเทศ เพื่อให้ธุรกิจมันเดินต่อไปได้ และมาตรการที่มีการกำหนด ถือว่าเพียงพอในการคัดกรองคนได้ดี

ส่วนข้อกังวล คืออยากให้ทุกโรงแรม โดยเฉพาะในคืนแรกให้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างจริงจัง ขอให้ภาครัฐทำระบบการสื่อสารให้เชื่อมกัน เพื่อให้เรามีและรับทราบข้อมูลที่ประโยชน์ เช่น เราอยากรู้ว่ามีคนติดโควิด เข้ามาในประเทศกี่เคสแล้ว อยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องสร้างความมั่นใจ ซึ่งทุกวันนี้แค่ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากประเทศอะไรบ้าง กี่คน บางครั้งกว่าจะได้ข้อมูลก็เป็นสัปดาห์

...

“เราอยากได้ข้อมูลเหล่านี้เป็นลักษณะเรียลไทม์ หรือรายวัน เพื่อที่เราจะได้วางแผนการตลาดที่ถูกต้องได้ ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐ และเอกชน ควรต้องร่วมกันลงมือทำ เพื่อทำข้อมูลที่ใช้ได้จริง”

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย

วอนภาครัฐช่วยพยุงกลุ่มโรงแรมที่ล้มเจ็บ

ในช่วงท้ายทีมข่าวฯ ถามนางมาริสา ได้ฝากถึงรัฐบาลช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวด้วยว่า ตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างโรงแรมที่มีทุน หรือ มีสายป่าน กับ โรงแรมขนาดกลางและเล็ก รวมไปถึงโรงแรมที่ไม่จดทะเบียนยังมีเยอะ การเปิดโรงแรมอีกครั้งเพื่อรับนักท่องเที่ยวย่อมมีค่าใช้จ่าย ก็อยากให้ทางภาครัฐและธนาคาร ช่วยเหลือพิจารณาเงินกู้ Soft Loan หรือแหล่งเงินอื่นๆ มาช่วย เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้เขาขาดทุนมา 2 ปีแล้ว จำเป็นต้องใช้ทุนในการเริ่มต้นอีกครั้ง เพราะธุรกิจเหล่านี้กลายเป็น NPL ไปแล้ว

อีกส่วนคือการช่วยเหลือแรงงาน ซึ่งล่าสุด ทราบว่าทาง ก.แรงงาน ได้มีโครงการช่วยเหลือกลุ่มพนักงานบริษัท ที่มีไม่เกิน 200 คน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดีมาก

ส่วนที่ 3 คือ เรื่องค่าไฟ เพราะภาคท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนด้านนี้เยอะ ก็อยากพิจารณาให้ช่วยลดราคา

ส่วนที่ 4 ภาษีและสิ่งปลูกสร้างก็อยากให้ช่วยลดลงหน่อย สัก 1-2 ปี

และเรื่องสุดท้ายคือ อยากให้คงโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไว้ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ใช้เงินแล้วช่วยลดหย่อนภาษีได้ ก็ช่วยภาคท่องเที่ยวได้มากเช่นกัน

ผู้เขียน : อาสาม 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ