- ราคาน้ำมันมีแนวโน้มแพงต่อเนื่องโดยเฉพาะดีเซล ทำให้ผู้ประกอบการขนส่ง มีภาระต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมวิกฤติโควิด เพราะก่อนหน้านั้นการบริการขนส่งได้หยุดชะงักไปกว่า 40% จากการล็อกดาวน์
- นำไปสู่การเคลื่อนไหวของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล เหลือ 25 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี เพราะไม่ต้องการปรับราคาค่าขนส่ง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
- เมื่อไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทำให้ผู้ประกอบการทั่วภูมิภาค นำรถบรรทุกกว่า 1 พันคัน วิ่งบนถนนสายหลัก เรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาทต่อลิตร และยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน เป็นเวลา 1 ปี หากรัฐบาลไม่ทำตาม อาจหยุดให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าทั่วประเทศ
ข้อเสนอหลักของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ต้องการให้รัฐบาลนำปาล์มออกจากระบบโครงสร้างน้ำมันดีเซล เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงถึง 25 บาทต่อลิตร แต่มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ได้ปรับสูตรน้ำมันไปใช้สูตรเดิม B7 B10 และ B20 และยกเลิก B6 เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล
...
จากมติดังกล่าวของกบง. ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานะเงินกองทุนเหลืออยู่ประมาณ 9,207 ล้านบาท หากไม่พอจะกู้เพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
ในส่วนท่าทีของผู้ประกอบการขนส่ง “ยู เจียรยืนยงพงศ์" ประธานผู้ก่อตั้งสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน ซึ่งอยู่ในแวดวงรถบรรทุกขนส่งสินค้ามายาวนาน บอกว่า เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะติดลบหรือบวกก็ได้ เป็นไปตามกลไกอย่างที่เคยทำมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมีการติดลบมานาน หรือหากจะกู้เงินก็เรียกกลับคืนมาได้ แต่ที่ผ่านมาหลังจากเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนมีเงินเหลือ ได้นำเงินไปช่วยเกษตรกรปาล์มน้ำมันในลักษณะยัดกระเป๋าซ้าย ออกกระเป๋าขวา
“ถามว่าควรจะพอหรือยัง ในการนำเงินไปช่วยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน แล้วให้ไปใช้น้ำมันดีเซล B7 มาโดยตลอดอย่างที่รู้กัน เป็นวิธีละเลงเงิน ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้นมา แต่หลักการไม่ใช่เลย”
อีกทั้งการที่จะกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสำรองเงิน โดยใช้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาพยุงราคาดีเซล แต่สรุปแล้วก็ต้องเก็บเงินคืนกองทุน และโอกาสที่ราคาน้ำมันจะลดลงคงอีกนาน เพราะปรับขึ้นตามสภาวะตลาดโลก และมองว่าขณะนี้ราคาน้ำมันปรับขึ้นไม่จริง เป็นการปรับราคาแบบเทียม หรือปรับขึ้นแบบการเมือง เพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่เท่ากับช่วงปี 2561-2562
ขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวมากมาย หลังเจอวิกฤติโควิด แต่แค่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างปัจจุบันที่ขึ้นราคาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ถือเป็นเกมปั่นของบริษัทน้ำมัน และเมื่อน้ำมันราคาขึ้นจนมีกำไร ก็จะทยอยผลิตน้ำมันออกมาขายเพิ่ม
“เป็นการตั้งข้อสังเกต มองว่าเป็นการเก็งกำไร เพราะดูจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เท่าปี 62 หรือยังขยับไม่เท่าไร ให้คอยดูปลายๆ เดือนต.ค. ถึงต้นเดือนพ.ย.จะมีการประชุมโลกร้อน จัดที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ จะเป็นตัวแปรสำคัญหากจีนตกลงจะลดการปล่อยมลพิษ จะทำให้น้ำมันแพงขึ้นต่อไป”
...
ส่วนข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล เหลือ 25 บาทต่อลิตร ไม่น่าจะทำได้ และไม่มีทางที่รัฐบาลจะลดภาษีสรรพสามิต เพราะรัฐต้องหารายได้ หากราคาน้ำมันดีเซล เกิน 30 บาท จะกระเทือนไปทั่วทำให้สินค้าขึ้นราคา เพราะราคาค่าขนส่งต้องปรับขึ้น สุดท้ายภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค
การทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ไม่ขยับขึ้นเกิน 30 บาท อยู่ที่การบริหารจัดการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะอ่านเกมได้หรือไม่ หากปล่อยให้ราคาเกิน 30 บาท จะแย่หนักทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับเร็วขึ้น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยเจอทั้งเงินเฟ้อและเงินฝืด หากอ่านเกมไม่ออก จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเร็วเท่าตัว
ในช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบกิจการขนส่งได้รับผลกระทบมากๆ ประสบภาวะขาดทุน บางคนอยู่ได้ก็อยู่ต่อไปหากไม่มีภาระผ่อนไฟแนนซ์ แต่ทั้งรถบัสและรถบรรทุก น้ำตาท่วมกันทั้งหมดยอมกัดฟันสู้มา 2 ปี ไม่เคยเรียกร้องรัฐบาล เพราะไม่อยากซ้ำเติม กระทั่งครั้งนี้เมื่อน้ำมันขึ้นราคาเดือนหนึ่ง 5-6 ครั้ง ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ก่อนจะกระทบหนักเป็นโดมิโนต่อเศรษฐกิจส่วนล่าง
...
หากย้อนไปในยุครุ่งเรืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว รถบรรทุกขนส่งที่จดทะเบียนเคยมีเป็นจำนวน 2.5 แสนคัน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้หายไปลดลงเหลือเพียง 40% เฉพาะรถบรรทุกขนส่ง แต่รถบัสหายไป 100% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ต้องจอดแช่ไว้ และยอมกัดฟันเลี้ยงดูพนักงานลูกจ้าง และลดเงินเดือนเพื่อให้อยู่รอด
“คิดว่าเงินกู้ 2 หมื่นบาท นำมาตรึงราคาดีเซลทำได้ไม่นาน เพราะวันหนึ่งคนใช้ดีเซลวันละ 60-65 ล้านลิตร ก็เท่ากับว่าในหนึ่งวันต้องใช้เงิน 60 กว่าล้านบาท จึงคิดว่าอุ้มได้ไม่นาน เพราะจริงๆ แล้วต้นทุนน้ำมันขึ้นอยู่ที่ราคาหน้าโรงกลั่น ไม่มีใครรู้เลยว่าจริงๆ แล้วเท่าไร และยังอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ หากลดราคาค่ากลั่นลงลิตรละ 1 บาท ก็จะลดราคาขายปลีกได้ หลังลดค่าการตลาดไปแล้ว น่าจะช่วยได้”.
ผู้เขียน : ปูรณิมา