ปฏิเสธไม่ได้ว่า "วิกฤติโควิด-19" เป็นวิกฤติที่ทำคนไทยบอบช้ำและเจ็บหนักที่สุด โดนกันทุกหย่อมหญ้า ระยะเวลาเพียงแค่ปีเศษ แต่ "สูญเสีย" อาจจะมากกว่าช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

ณ เวลานี้ คนไทยเดินทางกันมาจนถึงโค้งท้ายปี 2564 กันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากจะก้าวไปสู่ "แสงสว่าง" ที่ปลายอุโมงค์ มากกว่าจมอยู่กับความมืดมน หากสังเกตภาพที่ปรากฏทั่วทุกมุมโลก เห็นได้ว่า ประเทศต่างๆ เตรียมกลับมาสู่ "ความปกติ" เหมือนที่เคยเป็น ปลดล็อก "เปิดประเทศ" อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

แน่นอนว่า ไทยก็ไม่พลาดที่จะปลดล็อก "เปิดประเทศ" เหมือนเช่นคนอื่นเขาเหมือนกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศดีเดย์ 1 พฤศจิกายน 2564 เตรียมพร้อมอ้าแขนรับ 10 ประเทศความเสี่ยงต่ำ บินลัดฟ้ามาพักผ่อนหย่อนใจ แบบ "ไม่ต้องกักตัว" ให้เสียเวลาท่องเที่ยวอีกต่อไป

และนั่นย่อมหนีไม่พ้น "ข้อคำถาม" ที่ส่งเสียงกันเซ็งแซ่ทั่วทุกสารทิศ ไทยพร้อมแล้วจริงๆ หรือกับการเปิดประเทศ?

...

"ทำไมประเทศอื่นรีบเปิดประเทศกัน เพราะอะไร? ทำไมเขาไม่ห่วงสาธารณสุข? เขาห่วง แต่เขาก็ดูแลกันอย่างตระหนัก แต่ไม่ตระหนก เมื่อคลายล็อก เศรษฐกิจก็เห็นชัดๆ ว่ามีการเติบโต ตัวเลขดีดขึ้น"

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า "ทุกฝ่ายต้องตระหนัก แต่อย่าตระหนก" โดยสิ่งสำคัญ คือ "การสร้างสมดุล" เพื่อให้อยู่รอดกันต่อไปได้

ในแง่ของ "ภาครัฐ" ก็ต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างภาคสาธารณสุขกับภาคเศรษฐกิจ ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการระบาดมากเกินไป และไม่ให้เศรษฐกิจพัง เพราะถ้าเรามัวแต่ตระหนกกับสาธารณสุขอย่างเดียว สุดท้าย... เศรษฐกิจจะพังแบบกู้ยาก

เมื่อเอ่ยถึงภาครัฐ คนก็จะนึกถึง "รัฐบาล" และ "คำถาม" ที่ตามมา คือ การขยายเพดานหนี้เป็น 70% ในครั้งนี้สมควรแล้วหรือไม่?

"เพดานเก่าตั้งไว้ตอนที่ไม่มีวิกฤติหนักหนาอะไรขนาดนี้ ง่ายๆ ว่า 60% ตั้งตอนเพิ่งเกิดวิกฤติเบาๆ แต่พอวันนี้อยู่ๆ มันเกิดดังโครม เอาเงินที่ไหนมาใช้ ถ้าตอบแบบชาวบ้านก็ต้องหาเงินมาใช้ ส่วนจะกู้มากหรือน้อยค่อยคุยทีหลัง เวลานี้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แผลมันแตก หนองมันออก ต้องรักษาอย่างไร ก็ดันเพดานเงินกู้เป็น 70% ให้ผ่านไปก่อน"

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเห็น ดร.พจน์ แล้ว เมื่อช่วงต้นปีก็มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาพูดถึงการขยายเพดานหนี้หลายคน โดยบางส่วนเห็นควรว่า การขยายเพดานหนี้ไม่ได้กระทบมากเท่าใด ยังอยู่ในจุดที่รับได้ เพราะหลายๆ ประเทศก็ขยายเพดานเป็นหลักร้อยก็มี อย่าง "อเมริกา" หนี้สาธารณะ 100% ไปแล้ว, "สหภาพยุโรป" ก็ 100% หรือ "ญี่ปุ่น" ก็ 300% ในส่วนเพดานหนี้ 70% ถือว่าอยู่ในวิสัยที่ไม่เกินเลยไป เพียงแต่!!... ต้องคำนึงถึง "ภาระหนี้" ด้วยว่า การก่อหนี้จะสามารถเอามาคืนได้ในอนาคต

อีกแง่ของการสร้างสมดุล ในมุมมองของ ดร.พจน์ คือ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน และภาครัฐกับประชาชน ซึ่งหากภาคเอกชนไหนไปรอดก็ให้ดูแลกันต่อ เช่น ต้องเพิ่มเติมอะไร? หรือสนับสนุนให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะ "ภาคส่งออก" ที่ตัวเลขโตขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจต้องเข้าไปดูว่า ต้องการให้ช่วยอะไร? ส่งเสริมอะไร? อะไรคืออุปสรรค? กฎหมายข้อไหนมีปัญหา? เพื่อดึงตัวเลขให้ขึ้นมา เราต้องช่วยกัน เพราะหากอีกคนไม่รอด คนรอดก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

...

"อย่าไปคิดเป็นวิกฤติ ไม่มีอะไรวิกฤติ มีแต่โอกาส!"

ดร.พจน์ ขยายความว่า คงไม่มีอะไรจะวิกฤติมากกว่าที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่มีใครเคยเจอมาก่อน จากนี้ไปเป็นเรื่องของ "โอกาส" ก็ต้องมาถึงโจทย์ที่ต้องคิดว่า เราจะคว้าโอกาสกันอย่างไร? หรือจะสร้างโอกาสขึ้นมาได้อย่างไร? หรือจะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร?

นอกจากนี้ ดร.พจน์ ยังมองในแง่ดีว่า ผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไทยไม่ได้กระทบเพียงคนเดียว แต่กระทบเหมือนกันทั่วโลกทั้งหมดเลย หากย้อนความไปตั้งแต่ปี 2563 ยามนั้น... จีนปิดท่าเรือถึงเดือนมีนาคม นั่นส่งผลให้เรือขนสินค้าคาอยู่ที่ท่าคอนเทนเนอร์ กว่าจะเคลียร์จบหมดเดือนมิถุนายน ซึ่งจีนก็เริ่มคุมโควิด-19 ได้ แล้วก็เริ่มส่งออก

จากนั้นปลายปี 2563 สหรัฐอเมริกากับแถบยุโรปก็เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ระเบิดเถิดเทิง ทำให้เรือขนสินค้าติดอยู่ที่ท่าเรือสหรัฐฯ มีการประกาศชัตดาวน์ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยหายไป ที่ยังพอขายดีอยู่ก็เฉพาะสินค้าอาหาร สุขภาพ และเกี่ยวกับ Work from Home (WFH) แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น... ทำให้การท่องเที่ยวหายไปหมด หายเหมือนกันเกือบทุกประเทศ

...

ดังนั้น เลยไม่อยากให้มองว่า วิกฤติโควิด-19 ปี 2563 เป็นวิกฤติของเราคนเดียว แต่เป็นวิกฤติองค์รวมเทียบเท่ากัน พอมาปีนี้ (2564) คนอื่นดีกว่าเรานิดหนึ่ง เพราะพวกเขาเจอผลกระทบใหญ่มาแล้วในปีที่แล้ว ส่วนไทยเพิ่งเจอ อาจจะช้ากว่าเขา แต่ก็ถือว่าเบา ด้วยได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลกนี้มาแล้ว มีวิธีการรับมือ วัคซีนต้านโควิด-19 และยาก็ทยอยมา

"หากไทยติดเชื้อจำนวนมากในปีที่แล้ว (2563) ผมว่า... เสียหายยับเยินกว่านี้เยอะ ไม่ว่าจะทั้งสาธารณสุขหรือเศรษฐกิจ"

ส่งออกไทย...หันหน้าแลหลัง!

หากว่ากันตามตรง "การส่งออกไทย" เมื่อปีที่แล้ว (2563) ไม่ได้เยอะมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ติดลบ 20-30% นั่นก็เพราะไทยยังมีการส่งออกหมวดเกษตรอาหาร, เกษตรแปรรูป และสินค้าสาธารณสุขทั้งหลายที่มีความจำเป็น รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับ WFH

ดร.พจน์ อธิบายให้เห็นภาพทีละส่วน ตั้งแต่การหดหาย จนถึงสาเหตุที่ทำให้การส่งออกไทยกลับมาดีในปี 2564 นี้ว่า ปีที่แล้ว (2563) พวกอุตสาหกรรมหนักติดลบ เช่น "รถยนต์" ที่ติดลบเป็นร้อย รวมถึงฮาร์ดแวร์และสินค้าฟุ่มเฟือยก็ติดลบหนัก แต่หากดูดีๆ สินค้าบางตัวกลับเป็นบวก หากจะติดลบก็เป็นเพราะการขนส่ง จากการที่เรือขนสินค้าและคอนเทนเนอร์หาย

...

"อย่าลืมว่า 1 ปีเศษที่ผ่านมา ประเทศที่นำเข้าเขาก็ได้อุปโภคบริโภคสินค้าคงคลังที่อยู่ในประเทศจนเกลี้ยงแล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าที่หายไป นี่คือ สาเหตุที่ทำให้การส่งออกไทยกลับมาดี!"

ถ้าไม่มีกรณีคอนเทนเนอร์หรือเรือขนสินค้าขาด ดร.พจน์ เชื่อว่า อัตราการส่งออกของไทยยังขึ้นได้อีก 20-25% เว้นแต่มีสินค้า แต่หาเรือไม่ได้ สู้ค่าระวางสินค้าไม่ไหว

"ผมมั่นใจว่า เศรษฐกิจของเรายังไปได้อยู่ หมวดที่มีสินค้าคงคลังมากๆ คือ อาหารและการเกษตร ทั้งหมดเป็นเงินรายได้ที่ตกไปถึงภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ รวมถึงแรงงานคนไทยที่อยู่ในโรงงานแปรรูปด้วย ประจวบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การขายยิ่งง่ายขึ้น เม็ดเงินก็ตกไปมากขึ้นอีก"

"คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" คิดว่า "สินค้าส่งออกของไทย" มาแรงในปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.64) คือสินค้าใด?

อันดับ 1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 5.9 แสนล้านบาท (+47.01%)
อันดับ 2 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 4.3 แสนล้านบาท (+16.44%)
อันดับ 3 ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 3.1 แสนล้านบาท (+29.89%)
อันดับ 4 เม็ดพลาสติก มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท (+42.87%)
อันดับ 5 อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 1.99 แสนล้านบาท (+58.15%)
อันดับ 6 เคมีภัณฑ์ มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท (+40.63%)
อันดับ 7 แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท (+17.30%)
อันดับ 8 น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่า 1.67 แสนล้านบาท (+46.57%)
อันดับ 9 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท (+24.02%)
อันดับ 10 ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท (+59.70%)

จาก "ตัวเลข" การส่งออกสินค้าไทยทั้งหมดข้างต้น ก็สอดคล้องกับความเห็น ดร.พจน์ ที่กล่าวย้ำว่า "หันหน้า ต้องแลหลัง!"

"พูดมาตั้งแต่สมัย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าร่วมรัฐบาล คสช. ผมเห็นด้วยทั้งหมด ตั้งแต่อีอีซี (EEC) เอไอ (AI) หรือเทคโนโลยีต่างๆ ก็ล้วนเห็นด้วยหมดเลย แต่... ตัวเลขส่งออกที่เติบโตมาได้ ไม่มีสัก 1 บาทที่ออกมาจากแผน 12 ทั้งหมดมาจากแผน 11 ที่เป็น 4.0 น้อยมาก ยกเว้นที่เป็นโรงงานใหญ่ๆ ที่มาลงทุน ทั้งหมดที่ออกมามาจาก 3.0, 2.5, 2.0 จนถึง 1.5 ดังนั้น หันหน้าได้ แต่แลหลังด้วย"

คำว่า "แลหลัง" หมายถึงอะไร?

ดร.พจน์ อธิบายความว่า "แลหลัง" คือ งบประมาณและนโยบาย ที่จะเข้าไปสนับสนุนอัปเกรด "อดีต" ที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง แปรรูปสินค้าอาหารเกษตรทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่า ในอาเซียนเราใหญ่ที่สุด ในเอเชียเรารองอย่างมากแค่จีน ในโลกก็อยู่อันดับต้นๆ เลย

"ผมพูดแล้วไม่มีใครเชื่อ ไทยมี Freezing Capacity ทั่วประเทศหลายล้านตันต่อวัน แปรรูปมหาศาล เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ส่งออกปีหนึ่งแสนกว่าล้าน ผลไม้เต็มไปหมด เรามีหมด แต่วันนี้พรุ่งนี้ มันต้องการไปอนาคต เราไม่สามารถใช้ Labor Intensive (แรงงานจำนวนมากในการผลิต) ได้หมด จำเป็นต้องแลหลัง"

สำหรับการส่งออกปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 5.4 ล้านล้านบาท (+13.78%) โดยส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากที่สุด มูลค่า 8.3 แสนล้านบาท (+18.94%) รองลงมาเป็นจีน มูลค่า 7.8 แสนล้านบาท (+26.08%), ญี่ปุ่น มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท (+11.90%), เวียดนาม มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท (+18.78%) และฮ่องกง มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท (+2.17%) เป็นต้น

ดร.พจน์ เสริมว่า รัฐจะต้องเข้ามาผลัก ยกระดับ เพื่อมาเชื่อมต่อ 4.0 หรือสิ่งใหม่ๆ ให้เดินไปได้ ทุกวันนี้... การจ้างงานอยู่ที่การแลหลัง ไม่ได้อยู่ที่การไปหน้า ไปหน้าใช้แรงงานน้อยกว่าตอนเริ่มต้น สร้างสนามบิน สร้างโรงงาน เสร็จแล้วคือจบ เพราะเป็นโรงงานทันสมัย มีเอไอเป็นหลัก ไม่มีแรงงาน มีก็น้อย ตัวแรงงานจริงๆ อยู่กับของเก่า โจทย์สำคัญ คือ จะอัปสกิลเขาให้ขึ้นมาได้อย่างไร?

"โจทย์" ที่ว่านี้ จะว่าไปก็มี "คำถาม" และเสนอกันมาตลอด ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดขึ้นในวิกฤติโควิด-19 นี้เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หากวิกฤติโควิด-19 นี้จบลง เราจะรับมือกับโลกที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยที่ "ของเก่า" ไม่ถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่สร้างเม็ดเงินให้กับเรามหาศาล.

ข่าวน่าสนใจ: