สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่องมานาน ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ จากพิษการระบาดของไวรัสโควิด แถมยังมีสถานการณ์น้ำท่วมเข้ามาซ้ำเติมอีก ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ยังออกแนวสาละวันเตี้ยลง
แม้ล่าสุดเริ่มจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังโควิด เริ่มคลี่คลาย มีลุ้นว่ารัฐบาลอาจสามารถเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอยในโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ได้
แต่ปัญหา คือ ขณะนี้คนไทยที่เป็นมนุษย์เดินดินกินข้าวแกง ส่วนใหญ่ยังจะรอให้ถึงเวลาก้าวพ้นไปหาสิ่งที่อาจจะดีกว่า ในปี 2565 ถามว่าไหวหรือไม่ ยังเหลือสตุ้งสตางค์พอประทังชีวิตให้รอดช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี หรือในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ไหม เพราะอย่าลืมว่า คนเหล่านี้สู้เผชิญกับความยากลำบากมาอย่างยาวนานร่วม 2 ปีแล้ว
ถ้าลองนึกสภาพคนทั่วไปหรือชนชั้นกลางระดับล่างที่มีรายได้ราว 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป แม้ยังมีงานทำความเป็นอยู่ก็อาจไม่สู้ดีนัก เพราะช่วงเวลาแบบนี้รายได้น่าจะหดหาย โอทีก็น้อยลง และถึงจะขยันเอาเวลาว่างไปค้าขายหารายได้เสริม แต่ดูแล้วกำรี้กำไรก็คงไม่มาก เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่คนลำบาก ต้องใช้จ่ายอย่างจำกัดจำเขี่ยกันทั้งนั้น
ส่วนคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดระบาดยิ่งน่าจะลำบากแสนสาหัสกว่าคนที่มีงานทำอีก ยิ่งรายที่แบกภาระหนี้ที่จำเป็นต้องกู้มาประทังชีวิต เพื่อรอเวลาได้งานใหม่ด้วยแล้ว คงหืดขึ้นคอเลยทีเดียว
เพราะเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างที่นายจ้างจะจ่ายให้ตามอายุงานตั้งแต่ 1-13 เดือน และเงินทดแทนระหว่างว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมอีกไม่เกิน 6 เดือน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท หรือ ไม่เกิน 7,500 บาท พอจะบอกได้คร่าวๆ ว่าแรงงานที่ไร้เงินเก็บน่าจะอยู่รอดได้นานสุดราวหนึ่งปีครึ่ง จึงอาจรอด หรือไม่รอดไปถึงปีหน้า
...
คนมีเงิน ไม่ยอมใช้ คนอยากใช้ กลับหาเงินไม่ได้
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า สภาพคล่องในตลาดการเงินในปัจจุบัน คนที่มีเงินกลับไม่ยอมใช้ คนที่อยากจะใช้แต่กลับไม่ค่อยมี นี่คือภาพสะท้อนแนวโน้มเงินในกระเป๋าของคนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว และรอการคลายล็อกดาวน์
คนที่มีเงินและพร้อมจับจ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ เขากลับมองว่าการฟื้นตัวช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอน การฉีดวัคซีนเพิ่งจะเริ่มต้นเร่งขึ้น เพื่อเตรียมเปิดเมืองก็จริง แต่ดูเหมือนคนยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ ยังไม่กลับไปเหมือนเดิมในช่วงก่อนโควิด เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังสูง แผนการเปิดเมืองยังล่าช้า มีความไม่แน่นอน ทำให้คนยังกังวล
เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังฟื้นได้ไม่เต็มที่ คนที่มีเงินรายได้ระดับกลางและระดับบน เลยมักเก็บเงินเอาไว้ก่อน หรือเลือกนำไปลงทุนมากกว่าจะนำมาใช้จ่าย การนำเงินไปลงทุนยังเป็นทางเลือกของคนที่พยายามจะเก็บออม เพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่มากกว่าเงินฝาก ดังนั้น เราจึงเห็นสภาพคล่องในตลาดการเงิน โดยเงินฝากในระบบธนาคารอยู่ในระดับสูงราว 16 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มมาต่อเนื่อง
ส่วนคนระดับกลางล่างถึงระดับล่าง วันนี้มีปัญหาจริงๆ อยากจะใช้เงิน เพราะมีปัญหา มีภาระค่าใช้จ่ายรายวันที่สูงขึ้นมาก มาตรการสนับสนุนภาครัฐก็เริ่มจะหมดลง ภาระต่างๆ เริ่มกลับขึ้นมา มาตรการลดค่าครองชีพยังไม่แน่นอนว่า จะต่อไปได้อีกนานแค่ไหน จึงเห็นค่าครองชีพเริ่มขยับขึ้น เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นอีกโจทย์หนึ่งของเศรษฐกิจในอนาคต
“จุดนี้เราจึงเห็นคนรายได้น้อยที่อยากใช้เงิน แต่ยังหาเงินไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจเองก็ยังฟื้นไม่ชัด โดยเฉพาะคนระดับกลางล่างลงมา กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ยังไม่สามารถกลับมามียอดขายเหมือนเดิมได้ แม้ภาครัฐจะให้เปิดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือกิจกรรมอื่นๆ แล้ว ความเชื่อมั่นจึงยังไม่เร่งขึ้นสูง คนยังไม่มีรายได้กลับมาเท่าเดิม แต่รายจ่ายกลับพุ่งขึ้นเร็วแซงรายได้ไปแล้ว ยังต้องดูว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป”
...
น้ำท่วมซ้ำเติมคนจน ทางเลือกใช้ชีวิต มีจำกัด
ภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เข้าตาจนจะเลือกไปก่อหนี้นอกระบบ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ช่วยให้กลับเข้ามากู้ในระบบมากขึ้น ภาระดอกเบี้ยจึงไม่สูงนัก เหตุนี้ทำให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนในวันนี้พุ่งขึ้นไปทะลุ 90% ต่อจีดีพี แต่ถ้ามาดูครัวเรือนระดับล่างหรือคนรายได้น้อยมากๆ ที่เขากู้ได้ หนี้เขาน่าจะทะลุ 100% ของรายได้ไปแล้ว เป็นภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยที่เติบโตด้วยความเหลื่อมล้ำจริงๆ
“สภาพคล่องที่ล้นระบบในวันนี้มันเป็นภาพลวงตาจริงๆ มันสะท้อนกำลังซื้อระดับบนและระดับกลางโดยแท้ เพราะเขามีกำลังใช้จ่าย แต่เขาเลือกที่จะออมหรือนำไปลงทุนมากกว่า ในขณะที่มุมที่จะให้เศรษฐกิจหมุนได้เร็วขึ้นคนต้องช่วยกันบริโภคช่วยกันใช้จ่าย แต่วันนี้คนที่อยากจะบริโภคจริงๆ กลับเป็นคนที่ไม่มีตังค์ เป็นคนระดับกลางล่างลงมา ซึ่งเขาต้องดูว่าเขาจะหาแหล่งรายได้จากไหนมาใช้จ่ายได้มากขึ้น”
ทางออกปัญหาเศรษฐกิจในจุดนี้ยังคงมีอยู่ คือ การสร้างความเชื่อมั่น สร้างแรงจูงใจจากภาครัฐ ไม่ว่ามาตรการให้กระตุ้นการบริโภค เติมเงินในกระเป๋า หรือพยายามหาแหล่งรายได้ให้คนให้มากขึ้น คลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ยาวขึ้น ให้สะดวกขึ้น ให้คนกล้าเดินทางไปต่างจังหวัด กล้าใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หลังมีการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น หากทำได้เชื่อว่าการใช้จ่ายของคนจะกลับมาได้ เงินจะหมุนให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น ช่วยเหลือกำลังซื้อระดับกลางล่างและระดับล่างได้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีคนจะหางานทำได้มีเงินมาใช้จ่าย
...
ขณะนี้ภาพการฟื้นตัวอาจไม่ชัด การบริโภคในไตรมาส 4 ปีนี้อาจไม่ดีขึ้นนัก มองว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปีนี้ จะติดลบเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว หรือเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เพราะถึงจะมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่
ปัจจัยความเสี่ยงในไตรมาส 4 ปี 2564 ในเรื่องกำลังซื้อ สภาพคล่อง ภาวะหนี้ ขึ้นอยู่ที่ภาวะน้ำท่วม เพราะถ้าน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น มองว่าปัญหาน้ำท่วมจะกระทบคนจนมากกว่าคนรวย เพราะทางเลือกในการใช้ชีวิตจะมีได้จำกัดกว่า ฉะนั้น วันนี้ต้องมาดูกันจริงๆ ว่าคนที่โดนผลกระทบในภาคเกษตร ในกลุ่มน้ำท่วม จะมีการซื้อสินค้าใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายไปกับน้ำหรือไม่ หรือมีมากแค่ไหน อาจนำไปสู่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอีก กำลังซื้อในอนาคตหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปแล้วจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องติดตาม
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดฮวบ รอบ 22 ปี 11 เดือน
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ล่าสุดในเดือน ส.ค. 2564 ลดลงมาที่ 39.6 จาก 40.9 ในเดือนก่อนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 11 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
...
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
"ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลก กระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ มาตรการล็อกดาวน์มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในปัจจุบันที่แย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเริ่มล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจบางประเภทต้องหยุดชะงัก มีผลต่อการจ้างงาน แต่หลัง 1 ก.ย. ปีนี้ที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ก็มีความหวังจะฟื้นกลับมาได้ ทำให้จีดีพีปีนี้ที่คาดไว้ 0 ถึง -2% อาจเพิ่มเป็น 0 ถึง 2%”
สุดท้ายนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นและช่วยให้ฉุดให้คนส่วนใหญ่ของไทยอยู่รอดไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือเขาทั้งหลายจะสิ้นใจก่อน ดูเหมือนเวลาและวัคซีนเท่านั้นจะเป็นตัวพิสูจน์
ผู้เขียน : มิสประมวล พันธุ์ดี