อนาคตธุรกิจการเงินการธนาคารไทย หลังการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อก สู่ยุคดิจิทัล จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคสารสนเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ วิธีการทำธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค วิถีชีวิตและวัฒนธรรม

ภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทำให้บทบาทและธุรกิจของธนาคารแบบเดิมลดลงไป มีการประเมินว่าธนาคารขนาดใหญ่ของไทยอย่างน้อย 4 แห่งมีความพร้อมในการเดินหน้า

จากการคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรในอนาคต ส่งผลให้ราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในระยะสั้นนั้น การขยายตัวของสินเชื่อและปัญหาหนี้เสีย ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะสภาพคล่องของกิจการธุรกิจประกัน และสหกรณ์ออมทรัพย์

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงินการธนาคารไทย จะเป็นในรูปโฉมใดต่อไปในอนาคต เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองว่าการขยายพรมแดนทางธุรกิจออกไป จะส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน เพิ่มบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ

...

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเปิดพื้นที่ให้รายเล็กรายกลางสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สถาบันการเงินขนาดเล็ก ธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อขนาดเล็ก กิจการแพลตฟอร์มขนาดเล็กต้องมีการปรับตัวให้อยู่รอด หลังการปรับโครงสร้างใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ สู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน และมีธนาคารขนาดใหญ่ของไทย อย่างน้อย 4 แห่ง มีความพร้อมเดินหน้าสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่ธุรกิจการให้บริการการเงินของธนาคารแบบดั้งเดิม จะลดบทบาทลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารใดที่มีการลงทุนในส่วนนี้ไว้มากเกินไป จะมีภาระต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง ส่วนการให้บริการการเงินและปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัล และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นอนาคตของกลุ่มธุรกิจการเงิน จะทำให้ราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น จากการคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรในอนาคต

ส่วนในระยะสั้นนั้น การขยายตัวของสินเชื่อและปัญหาหนี้เสีย ยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ จากการระบาดของโควิด โดยเฉพาะสภาพคล่องของกิจการธุรกิจประกัน และสหกรณ์ออมทรัพย์

รายเล็กต้องปรับตัว ร่วมลงทุนพันธมิตรข้ามธุรกิจ

ผลจากการขยับตัวของธนาคารขนาดใหญ่ จะทำให้บรรดาธุรกิจบริการทางการการเงินขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ไม่มีฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชัดเจน ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว แม้การขยายตัวของการร่วมทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทำให้ภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพิ่มความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น แต่อาจทำให้โครงสร้างใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม มากขึ้น นำมาสู่ความเสี่ยงเป็นภาระต่อเงินสาธารณะในอนาคต หรืออาจเกิด “จริยวิบัติ”

การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “Too big to fail” หรือ ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม และ “Moral Hazard” หรือจริยวิบัติ ต้องอาศัยกฎระเบียบที่ทันสมัย และการกำกับดูแลกิจการที่เหมาะสมโดยทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพราะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการเงินและกลุ่มธุรกิจธนาคาร จะมีการควบรวมจำนวนมาก ต้องมีกฎระเบียบคอยกำกับไม่ให้มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่มาก จนมีอำนาจเหนือตลาดได้

เทคโนโลยีทำให้เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการมากมายได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง ภาคธุรกิจการเงินการธนาคารจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และธุรกิจอื่นๆ สามารถขยายมาให้บริการทางการเงินได้ ทำให้บทบาทและธุรกิจของธนาคารแบบเดิมลดลงไป รวมทั้งการขยายพรมแดนทางธุรกิจโดยอาศัยฐานลูกค้า ที่มีอยู่จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อการควบรวมของธนาคารขนาดเล็กอีกครั้งหนึ่ง

...

“เราจะเห็นการหลอมรวมของธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ ธุรกิจค้าปลีกและเครือข่ายมากขึ้น เพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้ จึงจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม หรือทำธุรกิจแบบครบวงจรมากขึ้น ด้วยการผนวกรวม ทั้งแนวตั้งและแนวนอน จากการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ร่วมกันของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่”

แม้การผนวกรวมธุรกิจ จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่อธุรกิจข้ามชาติระดับภูมิภาค หรือระดับโลกได้ดีขึ้น แต่อาจเกิดความไม่เป็นธรรม และการกระจายความมั่งคั่งและรายได้อ่อนแอลง นำไปสู่อำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทย อาจเพิ่มขึ้นได้.