• ปรากฏการณ์ปัง สุดร้อนแรงบนโลกโซเชียล ไม่กล่าวถึงไม่ได้แล้ว เมื่อ “2 พส” พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศน์ระดับเซเลบ แห่งวัดสร้อยทอง ไลฟ์สดเผยแผ่ธรรมะแนวใหม่ สอดแทรกแง่คิดอย่างเป็นกันเอง มีผู้ติดตาม 2-3 แสนคน จนกลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียล เพียงชั่วข้ามคืน

  • ในเวลาเดียวกันได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสม และไม่สำรวม อาจผิดพระธรรมวินัย ระหว่างการสนทนาธรรม ตอบคำถามผู้ติดตามชม ด้วยความสนุกสนาน มีเสียงหัวเราะ ตลกขำขัน และใช้คำศัพท์วัยรุ่นยุคใหม่

  • ความแรงฉุดไม่อยู่ ทำให้เหล่าคนดังหลายแวดวง กระโดดร่วมแจม และเหตุไฉน ร้านค้า สินค้าแบรนด์ต่างๆ จะไม่พลาดโอกาสทอง ต่างเข้าไปตีเนียน หวังโฆษณา อาจได้ผลในแง่ของการทำตลาด เจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมาย และเป็นกรณีศึกษาในแวดวงการตลาด จากปรากฏการณ์ “2 พส” สะท้อนให้เห็นการชูจุดขายที่แตกต่าง กลายเป็นไวรัลในสังคม

กูรูด้านการตลาด “ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล” อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า เป็นปรากฏการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ในด้านบวก ถ้าเทียบกับกระแส "ลุงพล แห่งบ้านกกกอก" เป็นการอภิปรายระหว่างคน 2 เจน จนไม่ต้องสงสัยทำไมถึงดัง ทำไมวันที่ 3 ก.ย. มีทุกแบรนด์สินค้าเข้ามาในวันนั้น และต้องตอบว่าทั้งพระมหาสมปอง และพระมหาไพรวัลย์ ต่างมีแฟนคลับของตนเอง มีการนำแฟนคลับมาไขว้รวมกัน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการตลาด ทำให้ต่างคนต่างวิน มีความเกี่ยวข้องระหว่าง 2 แบรนด์ โดยใช้ฐานแฟนคลับของแต่ละคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ "2 พส"

...

ในช่วงแรกมีความชัดเจนว่าพระมหาไพรวัลย์ มีแฟนคลับอยู่ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ส่วนพระมหาสมปอง มีกลุ่มแฟนคลับเป็นเด็กรุ่นใหม่ วัยทำงาน อายุไม่เกิน 30 ปี และจากฐานกลุ่มแฟนคลับที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมาไขว้ผนึกกัน จนกลายมาเป็น "อินฟลูเอนเซอร์" (Influencer) มีการสื่อสารอย่างชัดเจน

ธรรมะแฝงแง่คิด ใช้ภาษาง่ายๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ในมุมนักการตลาด ต้องเข้าใจว่ากำลังเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นใคร ไม่ใช่ใครก็ได้ โดยทั้ง “2 พส” มีกลุ่มเป้าหมายด้วยการใช้ภาษา เช่น “พส” หมายถึงเพื่อนสาว พี่สาว หรือแปลว่าอะไรอีก มีการใช้คำวลี สภาพ และคำว่าสู่ขิต คือ สู่สุคติ ใช้ภาษาวัยรุ่น หรือคำง่ายๆ “ทำมะ” มาจากคำว่าธรรมะ

“เมื่อเป้าหมายชัด ต้องปรับโพสิชั่นนิ่ง ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย พูดในสิ่งที่เค้าอยากฟัง ทำให้ทุกคนอยากจะฟังในเรื่องเล่านี้ หากพูดในสิ่งที่เค้าไม่อยากรู้ พูดให้ตายอาจไม่มีคนฟัง และการที่พระมหาไพรวัลย์ พูดว่าโยมคิดว่าจะถูกหวย โยมเอาความมั่นใจมาจากไหน เป็นการสะท้อนได้ชัดเจน ทำให้คนฉุกคิด เพราะหวยมาพร้อมกับความงมงายบางส่วน ศรัทธาในบางเรื่อง เช่น ไปขูดต้นไม้หาเลข หากพูดว่าอย่างมงายเล่นหวย วัยรุ่นจะไม่ฟัง”

กรณีพระมหาสมปอง และพระมหาไพรวัลย์ ไลฟ์สดเผยแผ่ธรรมะสอดแทรกแง่คิด เป็นการใช้ภาษาที่โยงกับกลุ่มเป้าหมาย มีการปรับมุมมองต่างๆ เพื่อสื่อสาร และโดยส่วนตัว ไม่รู้สึกว่าเลวร้าย แต่ทำให้คนใกล้ตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างการหยิบยกการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องพิเศษ แต่สามารถใช้ชีวิตธรรมดาได้ เป็นการปล่อยวาง แสดงว่าการหาความสุขเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องแสวงหา เป็นความพยายามที่จะแฝงเรื่องต่างๆ ให้คนเข้าไปฟัง โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่ใช่ถูกสอนถูกสั่ง ให้เข้าใจเรื่องศาสนา

“วันนี้คนไทยเครียดมาก ทั้งโควิดระบาดมากว่า 2 ปี ปัญหาเศรษฐกิจ หาทางออกไม่ได้ และการเมือง มีความขัดแย้ง อยู่กันแบบเครียดๆ ทุกคนอยากฟังเสียงหัวเราะ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกว่ามีความสุขในการฟัง มากกว่าไปฟังเรื่องเครียด เรื่องคนติดเชื้อ และหันไปฟังเรื่องตลกขบขัน แม้อาจดูไม่สำรวมทำให้คนตะขิดตะขวงใจไปบ้าง แต่วัยรุ่นไม่ได้คิดอะไร ไปวัดบ้างไม่ไปวัดบ้าง มองเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ”

...

ทุกวงการร่วมขยายฐาน ตีฟอง เรียกแขก ให้น่าติดตาม

ปรากฏการณ์ร้อนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ได้ทำให้จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ร่วมสนทนาธรรมแบบสดๆ ยิ่งทำให้น่าติดตาม ซึ่งเทคนิคของมาร์เก็ตติ้ง เป็นการเรียกแขกที่ทำได้ดี ฟังแล้วสนุก ทำให้คนอยากติดตามมากขึ้น เหมือนการตีฟอง จนทำให้คนมีชื่อเสียงเข้าไปร่วม เป็นการสะสมฐานที่ใหญ่ขึ้น และฝั่งธุรกิจคอร์ปอเรตได้เข้าไป ทั้งบันเทิง และหลายธุรกิจ เข้ามาในทุกมุมมอง ทุกมิติสังคม เศรษฐกิจ

เพราะโลกปัจจุบันเร็วมาก ต้องทำตลาดด้วยความรวดเร็ว หรือ Economy of Speed เพื่อการแข่งขัน ใครเร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ และมีอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคน พยายามเข้ามา อีกทั้ง “2 พส” เป็นพระระดับมีความรู้มหาศาล เป็นนักปราชญ์มีความฉลาด ในการทำเรื่องยากที่ไกลตัวให้มาใกล้ตัว ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

ที่ผ่านมามีเพจจำนวนมาก นำรูปของพระทั้ง 2 ไปโปรโมตขายสินค้า หากเป็นคนดังในวงการบันเทิง ไม่สามารถทำได้ จะต้องถูกเรียกเก็บเงิน แต่หากเป็นสินค้าอุปถัมภ์ มีเงินบริจาคเข้ามาต้องนำไปทำนุบำรุงศาสนา โดยต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจมีบางคนพยายามเข้าไปร่วม เพื่อให้เอ่ยชื่อสินค้า แต่สุดท้ายก็ถูกตีกลับ

...

ปรากฏการณ์ "2 พส" กลยุทธ์ตลาด สร้างความต่าง

ท้ายสุดระยะเวลาและกาลเวลา จะเป็นเครื่องพิสูจน์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ายั่งยืน หรือฉาบฉวย หากไม่เป็นเช่นนั้น จะยิ่งดีในการเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คน ดีต่อสังคม ทำให้วัยรุ่นเห็นด้านบวกของพระสงฆ์ มากกว่าเห็นพระไปกินหมูกระทะ หรือไปทำอะไรที่ออกนอกลู่ เพราะฉะนั้นจะต้องระวัง หากมีการฉายแสงแล้ว อย่านำไปใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกไม่ควร

หรือแม้จะมีคนไปต่อว่าพฤติกรรมของพระทั้ง 2 แต่สิ่งที่พระมหาสมปอง ได้พูดไป "ธรรมชาติของตาอยู่ต่ำกว่าสมอง จงอย่าตัดสินแค่การมอง โดยลืมไตร่ตรองด้วยการใช้สมองที่สูงส่ง อยากให้ดูให้จบก่อนแล้วค่อยตัดสิน" ถือเป็นการสอนให้มองโลกในแง่ดี เพราะการจะทำให้ถูกใจทุกคนคงยาก เป็นเรื่องปกติของคนเรา หากคนจะหาเรื่องก็จะหาเรื่องอยู่ดี

ถือว่าปรากฏการณ์ของ "2 พส" ในการเผยแผ่ธรรมะแนวใหม่ จนเกิดทอล์กออฟเดอะทาวน์ มีความแตกต่างจากเคส ลุงพล หรือบุคคลโนเนมอื่นๆ เพราะเป็นเคสของคนมีความรู้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่น่าติดตาม อย่างในอดีตพระพยอม พระนักเทศน์เคยได้รับการยอมรับในวงกว้างมาก่อน และเป็นสิ่งที่ตอกย้ำนักการตลาด ต้องสร้างความแตกต่าง ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร.

...

ผู้เขียน : ปูรณิมา