สัญญาณเศรษฐกิจไทย ถดถอยหนักสุดในประวัติศาสตร์ โอกาสอยู่ดีกินดีของคนไทย ไกลออกไป
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกครั้ง จากเมื่อปี 2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และทั้งปี ติดลบ 6.1% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540

เมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ยังไม่มีทีท่าจะจบ ต้องมาลุ้นจีดีพี ปี 2564 จะติดลบต่อเนื่อง 2 ปีซ้อนหรือไม่? กลายเป็นความกังวลมึนตึ้บ หากเกิดขึ้นจริงๆ สถานการณ์ที่ว่าแย่ในวันนี้ อาจจะแย่หนักไปอีกในวันข้างหน้า

ต้องมาลุ้น เศรษฐกิจปี 2564 จะถดถอยทางเทคนิค หรือจีดีพี ติดลบ 2 ไตรมาส รวดติดต่อกัน ภายหลังไตรมาสแรก ติดลบ 2.6% ไปแล้ว แต่ยังโชคดีที่ไตรมาสสอง กลับมาบวก 7.5% ได้อีก แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว เพราะไตรมาสสามปีนี้ มีโอกาสมากที่จะติดลบ และไตรมาสสี่ ก็มีความเสี่ยง

จากสัญญาณติดลบ 2 ปัจจัย 1. การล็อกดาวน์ อาจกลับมาล็อกดาวน์ซ้ำ ตราบใดที่ฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ไม่ได้ 2. การติดเชื้อลามไปกระทบภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ หากเกิดขึ้นไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จีดีพีติดลบ 2 ปีติดต่อกัน จะกระทบต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาว การฟื้นตัวจะกินเวลานาน และมีต้นทุนที่สูง

...

ห่วงโควิด ลามอุตสาหกรรมการผลิต กระทบส่งออก

“ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปีนี้ไทยน่าจะรอดจากภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ เพราะจีดีพีรายไตรมาส ยังไม่ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ต้องไปดูไตรมาสสามอีกที ส่วนไตรมาสสี่ น่าจะไม่ติดลบ จากเศรษฐกิจโลกดี ช่วยหนุนการส่งออก

แต่ที่น่าห่วง จากการไม่มีสินค้าไปส่งออก หากมีการระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง จากการที่เราเปิดเร็วไป อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก จะกลายเป็นว่าเปิดแล้วกลับมาปิดเหมือนเดิม ยิ่งจะกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น และหากต้องกลับมาปิดอีก จีดีพีไตรมาสสี่ปีนี้ ก็มีโอกาสติดลบได้

“จีดีพีไตรมาสสามนี้ คาดว่าจะติดลบแน่ และไตรมาสสี่ยังมีลุ้น แต่โอกาสที่เศรษฐกิจไทยเราจะขยายตัวติดลบ 2 ปีต่อเนื่อง เอาจริงๆ มีโอกาสน้อย ถ้าวัคซีนมาตามนัด ถ้าฉีดได้ไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านโดส ทำให้ปีหน้าเราจะเริ่มฟื้นได้ แต่ถ้าเราเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก คนรายได้น้อย คงลำบากอีก ยิ่งกว่าช่วงวิกฤติปี 2540 คนส่วนใหญ่ของประเทศคงอยู่แบบจำกัดจำเขี่ยมากขึ้น แต่คงไม่ถึงขั้นที่ไทยต้องกลับไปเป็นประเทศยากจน”

สิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้ไปสู่ภาวะถดถอย ทางภาครัฐและเอกชน ต้องใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ ควรเพิ่มเม็ดเงินการเยียวยาผลกระทบให้มากขึ้นวงเงินราว 1 ล้านล้านบาทอย่างที่ผู้ว่าการธปท.ได้ให้ความเห็นไปแล้ว ส่วนโครงการคนละครึ่งถือว่ามาถูกทาง ช่วยให้เงินหมุนไป และรักษาการจ้างงานได้ ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะปิดตัวอีกมาก และคนจะตกงานมากกว่านี้

อีกสิ่งที่สำคัญ ภาครัฐต้องพยุงการจ้างงานให้ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรให้ผลประโยชน์ด้านการจ้างงาน (Employment Benefit) เพิ่ม แต่ต้องไปดูว่าจะทำแบบไหน มีหลายประเทศทำได้แล้ว ถ้าพยุงการจ้างงานงานได้ คนมีงานทำ ก็จะมีเงินมาใช้จ่ายและบริโภค เศรษฐกิจจะยังเดินได้ และภาวะนี้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ต้องร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น

เศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณตกต่ำ หวั่นจ้างงานชะงัก

สอดคล้องกับ “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคไม่น่าห่วงมากนัก เพราะกลับมาบวกได้ แต่เศรษฐกิจไม่ดีนานๆ น่าห่วงมากกว่า หากโตต่ำกว่าศักยภาพในภาวะปกติ เทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ถ้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแปลว่าเศรษฐกิจดี ซึ่งเศรษฐกิจไทย มีค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง โตอยู่ที่ 3-4%

จากข้อมูลนี้จะพบว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีมา 5 ไตรมาสแล้ว และไตรมาส 3 ปีนี้ ยังมีแนวโน้มแย่กว่าไตรมาสสอง ทำให้เศรษฐกิจไทย มีสัญญาณตกต่ำ ส่งผลกระทบระยะสั้น ทำให้บริษัทห้างร้านลดการผลิต ลดการจ้างงาน คนลดการบริโภค ขายสินค้าได้น้อยลง เกิดวงจรหมุนลงทำให้เงินหายไปจากระบบเป็นทอดๆ

แต่ระยะยาวน่าห่วงมากกว่า หากเศรษฐกิจแย่นานเกินไป มีการหยุดการจ้างงาน จะกลายเป็นหยุดธุรกิจ เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) มีปัญหาสะสม ทำให้ทางข้างหน้าจะแย่ลงจากผลกระทบโควิด มูลค่าในระบบเศรษฐกิจโดยรวม จะหายไปมหาศาลราว 0.5% ของจีดีพี

...

จากการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ส่งผลต่อรายได้และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธุรกิจเป็นอย่างมาก ครอบคลุมธุรกิจ 7.5 แสนราย จากทั้งหมด 8 แสนรายทั่วประเทศ หรือ 94% มีการจ้างงานกว่า 24 ล้านคน ประเมินว่าในจำนวนนี้มีธุรกิจราว 2.21 แสนราย จะเจอปัญหาสภาพคล่อง นำไปสู่ความเสี่ยงเลิกกิจการ กระทบแรงงาน 1 ใน 4 ของแรงงานทั้งหมด หรือ 9.3 ล้านคน

หากภาครัฐไม่มีการเยียวยาแก่ธุรกิจ เพื่อรักษาการจ้างงาน สามารถทำได้ใน 3 แนวทาง คือ ให้เงินช่วยเหลือโดยตรง มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน และมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้ภาคธุรกิจ เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ การค้ำประกันสินเชื่อ ให้ระยะเวลานานเพื่อให้ธุรกิจยืนได้ ซึ่งในต่างประเทศมีค่าเฉลี่ยที่ 12-18 เดือน และการจ่ายชดเชยแรงงาน 50-70% ของเงินเดือน เป็นต้น วิธีเหล่านี้มีการทำได้ผลแล้ว อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น

ยิ่งถ้าช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจได้ จะลดความเสี่ยงของธุรกิจใน 6 เดือนข้างหน้าได้ราว 1.69 แสนราย ช่วยรักษาการจ้างงานได้ราว 7.4 ล้านตำแหน่ง ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจดีกว่าให้คนออกจากงานแล้วมาจ่ายเงินประกันสังคม โดยโมเดลที่เราศึกษาจะใช้เงินประมาณ 7 แสนล้านบาท แต่ใน 5 ปี (2564-2568) จะสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้กลับมาราว 8.6 แสนล้านบาท ช่วยเศรษฐกิจให้มีโอกาสฟื้นได้ใน 2 ปีจากนี้

“ประเด็น คือ ถ้าไม่มีมาตรการเยียวยาแก่ธุรกิจ เพื่อรักษาการจ้างงาน ครัวเรือนไทยประมาณ 4 ล้านครัวเรือนจะมีเงินไม่พอใช้จ่าย ต้องออกจากงาน ภาพที่พ่อแม่ออกจากงานแล้วลูกต้องออกจากโรงเรียนจะมากขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพเศรษฐกิจประเทศในอนาคต โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ย 6,407-11,512 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นประชาการส่วนใหญ่จะลำบากขึ้น”

...

หลังคลายล็อกดาวน์ หวังเศรษฐกิจ ค่อยๆ ฟื้นตัว 

ด้าน “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 2 ปีต่อเนื่องหรือไม่ ยังต้องติดตาม แต่ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าปี 2564 จีดีพี จะโตที่ -0.5% ถึง 1.0% ดีขึ้นจากเดิมที่ -1.5% ถึง 0% หลังมีการคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. สถานการณ์ระบาดของโควิดดีขึ้น มีวัคซีน และส่งออกยังดี จึงคิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้

บวกกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลางยังแข็งแรง ดังนั้นภาวะนี้ไม่ใช่ว่าธุรกิจจะหยุดการลงทุน เพราะยังมีโอกาสจากเทรดวอร์ที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีนเพิ่ม หรืออาจมีการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย แต่ทั้งหมดต้องดูให้รอบคอบ

ในอดีตไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2534-2564) เริ่มจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จีดีพีติดลบ 12.5% แต่ด้วยการส่งออกดีตามเศรษฐกิจโลก และค่าเงินหนุนจึงผ่านมาได้ จากนั้นเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์) ปี 2551 จนเกิดวิกฤติการเงินโลกแต่การใช้จ่ายในประเทศดี สถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง จึงประคองตัวได้ดี ทั้ง 2 วิกฤตินี้ ใช้เวลาฟื้นราว 1 ปี

...

ส่วนวิกฤติโควิดรอบนี้ ดูเหมือนจะรุนแรงสุด จากโรคระบาดที่กระทบทั้งในและนอกประเทศ โดยทุกครั้งที่มีวิกฤติหนักๆ ศักยภาพการโตของเศรษฐกิจไทยจะลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2540 โตเฉลี่ยจาก 8% เหลือ 5% ส่วนช่วงวิกฤติซับไพรม์ โตจาก 5% เหลือ 3%

แต่ขณะนี้ไม่สามารถอยู่ในเทรนด์เดิมได้ หากผ่านวิกฤติโควิดไปได้ โอกาสที่จะกลับไปโตเท่าเดิมที่ 2% จะยาก ทำให้การข้ามของไทยจากประเทศกำลังพัฒนา ไปเป็นประเทศพัฒนาเป็นเรื่องลำบาก ขณะที่ปีนี้สภาพัฒน์ฯ คาดจีดีพี จะโต 0.7-1.2% แต่ภาคเอกชนอย่างกกร.คาดติดลบ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก และโอกาสจะเห็นธปท.ลดดอกเบี้ย มีมากขึ้น เห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด (4 ส.ค.) เริ่มเสียงแตก 4:2 และเมื่อเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ การทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี จะยากยิ่งขึ้นๆ