ติดตามผลหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจในบางกิจการ ตั้งแต่ 1 ก.ย.ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จะเป็นอย่างไร ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน รวมสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย.-1 ก.ย. 1,190,668 คน เสียชีวิต 11,747 ศพ

ในมุมมองของหลายฝ่าย เห็นตรงกันว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายปีนี้ และต้องขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนโควิดให้มากที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แต่สถานการณ์การว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ อาจยังไม่ดีขึ้น และทำให้นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก ออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะสร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว

"รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองว่าแม้การคลายล็อกดาวน์ จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ดีขึ้น คาดว่างงานอยู่ที่ 3-3.5 แสนคนเป็นอย่างน้อย จึงควรลดหนี้กยศ.ลง 10-30% สำหรับปี 2563-2565

ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสสอง เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปีที่แล้ว มีผู้ว่างงานและว่างงานแฝง ไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน แต่จำนวนผู้ว่างงานบวกกับว่างงานแฝง และมีคนจำนวนมากทำงานไม่ถึง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

...

“คำนิยามของการว่างงาน คือ ทำงานน้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง และมีคนจำนวนมากทำงานไม่ถึง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากพิจารณาตามคำนิยาม ไม่ถือเป็นคนว่างงาน แต่เป็นผู้ว่างงานแฝงเท่านั้น แต่สภาวะความเป็นจริง คนเหล่านี้เป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและดูแลครอบครัว จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหนี้ครัวเรือนขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อจีดีพี และยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ”

สถานการณ์การว่างงาน ยังทำให้กองทุนประกันสังคมมีเงินไหลออกมากกว่าปกติ จากกองทุนประกันการว่างงาน มีการใช้ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมากกว่าสถานการณ์ปกติมาก มีผลต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่

นักเรียน นักศึกษา ออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมาก สร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว จากความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจะถดถอยลงอย่างชัดเจนในระยะต่อไป และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จะเพิ่มสูงขึ้น

ผลจากการล็อกดาวน์ ทางรัฐบาลต้องจัดทุนการศึกษาช่วยเหลือให้ได้ 100% เพื่อไม่ให้นักเรียน นักศึกษาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยช่วยเหลือผ่านกองทุนเงินให้เปล่า ไม่ต้องกู้ยืม ต้องครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการครองชีพระหว่างเรียน

แนวโน้มนักเรียนและนักศึกษา ออกจากระบบการศึกษา ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ควรเปลี่ยนวิธีจัดการงบประมาณระบบการศึกษา โดยเฉพาะงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการจัดสรรเงินทุนโดยตรงไปยังครอบครัวรายได้น้อย หรือครอบครัวยากจน เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีเงินทุนในการศึกษาต่อไป ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือจัดสรรผ่านกลไกอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยราชการแบบเดิม ที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังมีความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ

ในส่วนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ สามารถเรียกเก็บค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าบริการหรือค่าอำนวยสะดวกเพิ่มเติม จากผู้เรียนและผู้ปกครองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจได้มีส่วนร่วมระดมทุน และทำให้รัฐสามารถนำเงินไปอุดหนุนการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาระดับมัธยม หลักสูตรอาชีวศึกษาและวิชาชีพได้เพิ่มเติม

รวมถึงรัฐควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม นำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษาออนไลน์ สำหรับนักเรียนและโรงเรียนต่างๆ ให้เพียงพอทั่วถึงและมีคุณภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะกำลังคนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และการแพร่ระบาดของโควิด อาจจะอยู่อีก 1-2 ปี ซึ่งการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้น สำหรับพลเมืองทุกคน

...

คลายล็อกช่วงแรก ไม่คึกคัก ต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้น

"สนั่น อังอุบลกุล" ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์เป็นเรื่องดี จะทำให้เศรษฐกิจทยอยกลับมาเดินได้ แม้ว่ามีการระบาดของโควิด คงต้องเข้มข้นในมาตรการการป้องกัน แต่คาดว่าประชาชนยังไม่กล้าออกมาดำเนินกิจกรรมเท่าที่ควร ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะลดเหลือวันละ 7,000-10,000 ล้านบาท โดยเดือน ก.ย.จะเกิดความเสียหาย อยู่ที่ 200,000-300,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการล็อกดาวน์เดือน ส.ค. เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจวันละ 10,000-13,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 300,000-400,000 ล้านบาท 

...

ดังนั้นอาจต้องพิจารณามาตรการที่ภาครัฐจะออกมาเพิ่มเติม จะบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง และรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเยียวยา ในการกระตุ้นและฟื้นฟู ไม่ให้เศรษฐกิจเสียหายไปมากกว่านี้ โดยต้องใช้งบประมาณให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ.