โควิดระบาดรุนแรง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ไม่มีงานทำกว่า 3 แสนคน และผู้เคยมีงานทำแสนกว่าคน อยู่ในสภาพรองานยาวนานมากกว่า 12 เดือน ซึ่งตัวเลขในความเป็นจริงอาจเลวร้ายกว่านี้ ต้องติดตามแนวโน้มการมีงานทำ จะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ หลังจากรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ ในพื้นที่ 29 จังหวัด เพื่อให้บางกิจการได้ขยับ

  • ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2564 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าสถานการณ์ตลาดแรงงาน แม้อัตราการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นเฉลี่ย 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติมากนัก โดยการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 2.4% และนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 1.8%

  • การจ้างงานสาขาอาชีพต่างๆ พบว่าบางสาขามีการจ้างงานขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นสูงกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากปีก่อนที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่น สาขาการขนส่ง เก็บสินค้า ขยายตัว 7.1% สาขาการก่อสร้าง ขยายตัว 5.1% สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขยายตัว 5.4% แต่บางสาขากลับหดตัวลง เช่น สาขาการผลิต หดตัว 2.2% และสาขาการขายส่ง ขายปลีก หดตัว 1.4%

  • ด้านภาพรวมอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.89% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แยกเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้จบการศึกษาใหม่ 2.9 แสนคน ว่างงานเพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวน 4.4 แสนคน ว่างงานลดลง 8.38%

  • ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น มากกว่า 12 เดือน จำนวน 1.47 แสนคน โดยผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ว่างงานสูงขึ้น 3.44% ส่วนผู้ว่างงานในระบบ รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 3.1 แสนคน

  • สาเหตุหลักจากการระบาดของโควิดรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปี 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ประชาชนไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ และแรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ส่งผลให้ผู้ว่างงานในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

...

"รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินภาพรวมสถานการณ์การว่างงานในไทย เทียบกับ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าด้านอุปสงค์ของตลาดแรงงานเริ่มขยับตัวมากขึ้น จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา คนมีงานทำในภาคเกษตรกรรมเท่านั้น และย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งต้องหารายได้ในระยะสั้น เพราะเงินออมมีไม่มาก จะต้องทำงานไปจนถึงไตรมาสต่อไป

จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้ภาคบริการเริ่มขยับโดยเฉพาะกิจการส่วนบุคคล เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด ส่งผลให้คนย้ายกลับมาทำงาน ตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพรวมจะดีขึ้นมาก โดยทรงตัวอยู่ที่ 9% จากปีก่อน หรือมีงานทำเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานในกลุ่มผู้จบใหม่รุ่นที่ 2 จะเข้าไปเติมกับผู้จบใหม่รุ่นที่ 1 ซึ่งจบไปก่อนหน้า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับอุดมศึกษานานาชาติ อาจทำให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น มาเป็น 9 แสนคน จากเดิม 7.7 แสนคนในปี 2563 คิดจากจำนวนผู้มีงานทำ 38 ล้านคน

ในส่วนการว่างงานเสมือนจริง จากผลกระทบโควิดตามโมเดลของแบงก์ชาติ ได้รวมคนทำงานไม่เกิน 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เท่ากับว่าจะเหลือคนทำงานอยู่ครึ่งหนึ่ง อาจมีคนว่างงานจริงๆ มากถึง 2.18 ล้านคน แต่ยังน้อยกว่าช่วงโควิดระบาดในรอบแรก ซึ่งวิกฤติจริงๆ มีคนว่างงาน 6 ล้านกว่าคน

สถานการณ์การว่างงานในปีนี้ ไม่ได้เลวร้ายมากนัก เนื่องจากการระบาดของโควิด ระลอก 3 พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการปรับตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสายป่านยาว ทำให้อัตราการว่างงานลดน้อยลง

งานยุคโควิด ทำรายชั่วโมงมากขึ้น ค่าตอบแทนต่ำ

ประเมินว่าหากสิ้นปีสามารถฉีดวัคซีนได้ 70% ของประชากร ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ บวกกับการคลายล็อกดาวน์ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น น่าจะมีผลในต้นปีหน้า ทำให้คนทำงานมากชั่วโมงมากขึ้น และเห็นได้จากในไตรมาส 2 ปีนี้ มีคนทำงานล่วงเวลามากขึ้น 2 แสนกว่าคน ซึ่งไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เท่ากับปี 2563 แต่ยังแย่กว่าปี 2562 อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าจะกลับมาในสภาพเดิม

...

“ลักษณะงาน จะเป็นแบบทำงานรายชั่วโมงมากขึ้น นั่นหมายความว่าค่าตอบแทนก็จะต่ำลง เฉลี่ยลดลง 2 เท่าในไตรมาส 2 อีกทั้งการจับจ่ายจะไม่กระเตื้องขึ้น เพราะสินค้ามีให้เลือกไม่มากและราคาแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ยิ่งทำงานรายชั่วโมง รายได้ยิ่งต่ำลงก็ต้องประหยัด”

ด้วยสถานการณ์โควิดยังอยู่อีกนาน ทำให้สภาพชีวิตของคนทั่วไป ยังเป็นแบบนิวนอร์มอล ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือสม่ำเสมอ รักษาระยะห่าง และระมัดระวังในการกินอยู่ เชื่อว่าจะไม่ปลดล็อกดาวน์ 100% ภายในปีนี้ ทำให้การบริโภคลดน้อยลง จากการลดค่าใช้จ่าย ต้องเก็บเงินเอาไว้ เพื่อบริหารความเสี่ยง และบางคนไม่มีเงินเดือน ก็ต้องพึ่งเงินนอกระบบมากขึ้น ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นตามมา จนกลายเป็นปัญหา.