ประเทศไทยต้องต่อสู้ต่อไปกับการระบาดของโควิดที่ขณะนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การกินอยู่ของประชาชน ตราบใดที่การจัดหาวัคซีนยังล่าช้า ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ของประชากรตามเป้าหมาย ยิ่งน่าเป็นห่วงหนัก

ตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาด และในอนาคตอาจต้องรับมือไปอีก 1-2 ปี จะทำให้ประชาชนยากจนลงต่อเนื่อง เกิดความขัดสนทางการเงิน จากเศรษฐกิจในประเทศซบเซา อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง ประเมินกันว่า ภาระหนี้ของประชาชนรายได้เดือนละ 5,000-10,000 บาท จะสูงถึง 40% หรือรายได้ 100 บาท มีภาระหนี้ 40 บาท

แม้ที่ประชุม ครม.ล่าสุด ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ พื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ในกลุ่ม 9 สาขาอาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และผู้ประกอบอาชีพที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ต้องลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อรับความช่วยเหลือเงินเยียวยา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

...

ส่วนจะครอบคลุมทั่วถึงกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือดร้อนจริงหรือไม่นั้น "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า ข้อเสียของมาตรการดังกล่าวเข้าถึงยากในกรณีของแรงงานทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ได้ตกงาน แต่ถูกลดชั่วโมงทำงานลง มีประมาณ 1 แสนคน โดยกลุ่มนี้จะเล็ดลอดไม่ได้รับการช่วยเหลือ

อีกทั้งการระบาดของโควิดระลอกนี้ เริ่มจากเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก กระทั่งปัจจุบัน อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเยียวยา เปิดกว้างให้มากกว่านี้ และให้คนเข้าถึงระบบของรัฐได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพื่อการเคลื่อนไหวกิจการให้เดินต่อไป และท้ายสุดทุกคนได้ประโยชน์ ได้รับเงินเยียวยา 2,500-5,000 บาท โดยในระยะยาวภาครัฐควรทำระบบให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย จนกว่าสถานการณ์โควิดจะสามารถควบคุมได้

“โควิดจะจบเมื่อไหร่ ก็เมื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เกิดการระบาด แต่การตายจะลดน้อยลง เหมือนอิสราเอล สมมติในช่วง 6 เดือน ไทยได้วัคซีน ทั้งจากการซื้อและบริจาคไม่น่าเกินเดือน ก.พ.ปีหน้า น่าจะหายใจหายคอดีขึ้น หวังว่าจะได้ข่าวดีในไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีวัคซีนทยอยเข้ามามากขึ้น ยังมองในทางบวก ประเมินแบบไกลสุด คาดว่าโควิดจะจบไม่น่าเกิน ธ.ค.ปีหน้า จบด้วยการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”

อย่างไรก็ตามการเยียวยาประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้ม มีข้อดีที่ภาครัฐพยายามช่วยเหลือให้ตรงเป้ามากขึ้น จากการกำหนดกิจการ 9 สาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ โดยเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม และในกรณีไม่อยู่ในระบบ สามารถลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งจะมีสวัสดิการต่างๆ ตามมา เป็นข้อดีในระยะยาว

แต่ข้อเสีย โดยบางคนอาจมองว่า เมื่อเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จะเป็นต้นทุน ต้องส่งเงินสมทบไปต่อเนื่อง และอาจมีคนที่เข้าไม่ถึง เพราะความยุ่งยาก ลำบาก จากการระบาดของโควิด และความล่าช้าของรัฐในการลงทะเบียน กว่าจะอนุมัติให้การช่วยเหลือ

...

นอกจากนี้กลุ่มคนเปราะบางอีกจำนวนมากที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าถึงระบบของภาครัฐ ควรมีมาตรการช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาวิกฤติในช่วงโควิดผ่านฐานข้อมูลภาครัฐที่มีอยู่ เช่น เด็กนักเรียนในครัวเรือนยากจน ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือคนมีหนี้สิน จากฐานข้อมูลบัตรคนจน รวมถึงคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ นักศึกษาจบใหม่ และคนพิการ ซึ่งควรเอาฐานข้อมูลภาครัฐมาใช้ในการอัดเงินเข้าไปช่วยเหลือ

แม้เงินภาครัฐเป็นเงินที่กู้ยืมมา แต่ควรเพิ่มเงินอุดหนุนกลุ่มเปราะบาง โดยการให้เงินครึ่งหนึ่งของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้อยู่รอดได้ หากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 คูณจำนวนวันที่ทำงาน 26 วัน เกือบ 8 พันบาท อาจพิจารณาให้เงินช่วยเหลือ 4 พันบาทต่อคน เฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรง ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้จากฐานข้อมูลที่มีอยู่

กรณีดราม่ามีผู้อยู่ในระบบประกันสังคมบางส่วน ไม่เห็นด้วยในการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่เคยเป็นผู้ประกันตนมาก่อน ต้องลงทะเบียนมาตรา 40 อยากให้เข้าใจว่า เงินประกันสังคม ไม่ต่างจากประกันทั่วไป ต้องนำมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในบางพื้นที่ที่ระบาดหนัก ถือเป็นสิ่งดีแล้ว

...

ส่วนตัวมองว่า กองทุนประกันสังคม ต้องไปปรับปรุงแก้ปัญหาไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพกองทุน จากการบริหารการลงทุนไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยขณะนี้กองทุนประกันสังคม ยังมีเงินสามารถอยู่ได้อีก 17-20 ปี ขอทุกคนอย่าเป็นกังวล.