รายได้จากการท่องเที่ยว มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อเกิดการระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 กระทั่งปะทุขึ้นมาอีกในระลอก 3 ยิ่งซ้ำเติมหนักเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จากเดิมในปี 2562 เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพี

การเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว น่าจะเป็นทางรอดของประเทศต้องเดินหน้าต่อไป แม้คนส่วนหนึ่งของประเทศออกมาคัดค้าน จากสถานการณ์โควิดในประเทศ ยังไม่ทุเลาเบาบางลง โดยจะนำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด เปิดรับนักท่องเที่ยว ประเดิมเกาะภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามา 3,500,000 คน สร้างรายได้รวม 298,192 ล้านบาท

แผนเปิดประเทศ รับชาวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน โดยไม่กักตัว จะเริ่มที่ภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” และอีก 9 จังหวัด จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค. ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่

กระทั่งการพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบให้เปิด จ.ภูเก็ต รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข จากเดิมท่องเที่ยวในภูเก็ตครบ 7 วัน มาเป็น 14 วัน จะสามารถเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ได้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข กังวลการแพร่ระบาดของโควิด

...

ส่วนการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว เขาหลัก จ.พังงา, เกาะพีพี จ.กระบี่, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และจ.เชียงใหม่ ทางที่ประชุม ศบศ. ยังไม่อนุมัติ ขอประเมินสถานการณ์ ออกไปอีก 1-2 เดือน ยกเว้นพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี, กรุงเทพฯ, ชะอำ จ.เพชรบุรี, หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ที่ประชุมได้เห็นชอบ โดยจะพิจารณาสถานการณ์เป็นระยะๆต่อไป

ขณะที่การเปิดประเทศ มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และไม่เห็นด้วย เกรงว่าโควิดจะระบาดหนักขึ้น เนื่องจากวัคซีนในประเทศมีอย่างจำกัด โดยหนึ่งในนั้นมี “รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาด กระจายไปทั่วยังควบคุมไม่ได้ และวัคซีนที่มีอยู่ จำกัดทั้งปริมาณ และชนิด มีการฉีดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ และศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคก็มีจำกัดเช่นกัน

“การเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดได้ เพราะจำนวนคนที่เข้ามามากขึ้น แม้จะได้เม็ดเงินเข้ามา แต่จะเพิ่มจำนวนการพบปะกันติดต่อกัน ระยะเวลาการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ให้บริการ ก็จะเดินทางไปที่ต่างๆ มากขึ้น และรูปแบบการดำเนินธุรกิจต่างๆ ทั้งเล็กกลางใหญ่ ยังมีจุดอ่อนที่เสี่ยงต่อการระบาด ทั้งเรื่องค้าขาย และบริการ มีไม่เพียงพอที่จะทำได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง”

จากความเสี่ยงในขณะนี้ คาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสสูงที่จะเจอระลอก 4 ตามมาในเวลาไม่นาน และระลอกสาม ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว ควรชะลอการเปิดประเทศไปก่อน อย่าเพิ่งเริ่มทำในเดือน ก.ค.นี้

นอกจากนี้ งบประมาณที่จะกู้มาเพิ่ม ควรสำรองไว้ให้ดี ไม่ควรทุ่มไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยามที่การระบาดยังควบคุมไม่ได้ จะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขอให้ประชาชน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ประหยัด รัดเข็มขัด ลดการใช้ของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต.