สายพันธุ์โควิด-19 ยิ่งนานยิ่งดุ จนกลายเป็นโควิดกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิม SARS-CoV-2 ที่ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค.2562 จนปัจจุบันมีสายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล และอีกหลายสายพันธุ์ระบาดหนักไปทั่วโลก 

ในปี 2564 แม้จะมีวัคซีนและถอดรหัสดีเอ็นเอเชื้อโรคได้แล้ว แต่ลำพังร่างกายมนุษย์ทั้งโลก ที่ไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน ยังต้องรอกระจายฉีดวัคซีน และยามารักษา คนจำนวนมากจึงยังป่วยหนักและเสียชีวิต ขณะเดียวกันเชื้อโรคเองก็มีความสามารถในการปรับตัว กลายพันธุ์เพื่อแผลงฤทธิ์แรงขึ้น และที่สำคัญการกลายพันธุ์ ยังสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากทั้งธรรมชาติ และวัคซีนที่คิดค้นมาต่อสู้ได้ด้วย

ผ่านไป 18 เดือน จนถึงเดือน พ.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อโควิดไปแล้วกว่า 145 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านศพ จากทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และที่กลายพันธุ์ โดยในไทยนั้นผู้ติดเชื้อเกินกว่า 1 แสนคน และเสียชีวิตกว่า 800 คนแล้ว และยังไม่รู้ว่าจะลดลงเมื่อไหร่

ย้อนไปในช่วงเริ่มของการระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) และกลายพันธุ์จนมีสายพันธุ์ G แบ่ง GR (Arginine) และ GH (Histidine) ซึ่งไทยเองก็มีระบาดทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 และมีสายพันธุ์ใหม่ GH ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา

ขณะนี้ศึกหนักคือโควิดกลายพันธุ์ ที่ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งดุ นอกจากหลบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังระบาดรวดเร็ว ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ประกอบด้วย สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้  (B.1.351), สายพันธุ์อเมริกาใต้ หรือบราซิล (P.1) และสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617)

...

โควิด 4 สายพันธุ์ดุนี้ ได้ระบาดไปแล้วหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ปรากฏชัดในแผนที่โลกที่ระบุว่ามีโควิดกลายพันธุ์ระบาด ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสายพันธ์ุอังกฤษ ที่เริ่มตรวจพบที่เมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ก่อนระบาดไปทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ

สายพันธุ์อังกฤษ (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)
สายพันธุ์อังกฤษ (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)

โควิดสายพันธุ์อังกฤษเริ่มตรวจเจอในไทย เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 จากคนในครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน ที่เดินทางมาจากเมืองเคนท์ แต่เข้าระบบตรวจคัดกรอง และกักกันตัว โดยรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน

แต่ต่อมาเกิดการระบาดระลอกใหญ่ จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ที่คาดว่ามาจากคนไทยที่เดินทางมาจากกัมพูชา ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2564 จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ระลอก 3 ในไทย โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 9 หมื่นราย

สายพันธุ์อินเดีย (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)
สายพันธุ์อินเดีย (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ถูกตรวจพบครั้งแรกในเดือน ต.ค.2563 ที่อินเดีย ส่วนในไทย ตรวจพบครั้งแรกจากหญิงที่เดินทางจากปากีสถาน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. เป็นสายพันธุ์ลูกของสายพันธุ์อินเดีย คือ B.1.617.1 และอยู่ในสถานกักกันโรค และในวันที่ 21 พ.ค. ตรวจพบผู้ติดเชื้อในแคมป์ก่อสร้างย่านหลักสี่ B.1.617.2 เบื้องต้น 15 คน

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)
สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)

...

โควิดสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ ที่เริ่มตรวจพบที่แอฟริกาใต้ เมื่อเดือน ต.ค.2563 และอาละวาดในมาเลเซียอย่างหนักในเดือน เม.ย. ท่ามกลางการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ตามแนวชายแดน แต่ก็มีผู้ลักลอบเข้าเมืองวันที่ 3 พ.ค. และถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ อยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเริ่มเข้าสู่ชุมชนภายใน 20 วัน ระบาดไป 83 คน

สายพันธุ์บราซิล (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)
สายพันธุ์บราซิล (ภาพจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด สหรัฐฯ CDC)

ส่วนโควิดสายพันธ์ุบราซิล โควิดกลายพันธุ์น้องใหม่ ที่ตรวจเจอเมื่อเดือน ม.ค.2564 เป็นผู้เดินทางจากบราซิลเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่วนในไทย ตรวจพบจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตามระบบ วันที่ 5 พ.ค. และพักรักษาตัวอยู่ในสถานกักกันตัว 

...

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค อธิบายว่า โดยธรรมชาติของเชื้อโรคจะมีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ดั้งเดิม คือการปรับตัวของเชื้อโรค เพื่ออยู่รอด และสามารถมีการระบาดเร็วขึ้น หรือไม่ก็รุนแรงขึ้น โดยเมื่อเชื้อโรคปรับตัว จะสามารถหลบภูมิคุ้มกันทั้งผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือหลบการต้านของวัคซีนได้ แต่จากการที่วัคซีนแต่ละชนิด แม้จะผลิตจากเทคโนโลยีต่างกัน โดยมีพื้นฐานการรับมือเชื้อโรคสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงยังสามารถใช้ได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนขณะนี้จึงจำเป็น เพราะยังสามารถต้านอาการหนักของโรคได้.